ถึงเวลาปฏิวัติของ Revolution สื่อสิ่งพิมพ์สิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จระดับโลก - Forbes Thailand

ถึงเวลาปฏิวัติของ Revolution สื่อสิ่งพิมพ์สิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จระดับโลก

FORBES THAILAND / ADMIN
19 Oct 2019 | 09:30 AM
READ 2699

แบรนด์สื่อสิ่งพิมพ์ของสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จในระดับโลกมากที่สุด กำลังปรับโฉมโมเดลธุรกิจใหม่

เมื่อ Wei Koh และ Bruce Lee เริ่มทำนิตยสาร Revolution ในสิงคโปร์เมื่อปี 2005 มันเป็นโปรเจกต์ที่พวกเขาทำด้วยความชอบส่วนตัว เพื่อสนองความหลงใหลนาฬิกาข้อมือราคาแพง และทั้งคู่ก็ได้ชื่นชมความสำเร็จอยู่หลายปี นิตยสารเล่มนี้กลายเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ของสิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในระดับโลกและมีวางขายใน 10 กว่าประเทศ ทว่า ในปีหลังๆ พวกเขาต้องเผชิญปัญหาเดียวกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมสื่อ นั่นคือ รายได้จากโฆษณาที่ลดลง

ชื่อของนิตยสารฉบับนี้แปลว่า การปฏิวัติและตอนนี้พวกเขาก็ต้องปฏิวัติโมเดลธุรกิจจากการทำฉบับพิมพ์และฉบับออนไลน์มาเป็นการทำผสมผสานระหว่างออนไลน์ ฉบับพิมพ์ และอี-คอมเมิร์ซ

แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านไม่ได้ง่ายเสมอไป เมื่อปีที่แล้วพวกเขาใช้แผนรุกตลาดอี-คอมเมิร์ซ โดยการจับมือกับ WatchBox แพลตฟอร์มซื้อขายนาฬิกาหรูมือสองที่มีฐานอยู่ในรัฐ Pennsylvania แต่แผนนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และเมื่อไม่ได้ผลดังที่คาดไว้ Koh กับ Lee จึงเปลี่ยนกลยุทธ์มาขายสินค้าโดยตรงผ่านเว็บไซต์ของ Revolution โดยเสนอขายเฉพาะนาฬิกาข้อมือวินเทจที่คัดมาในจำนวนจำกัดและนาฬิการุ่นพิเศษที่เป็นการทำแบรนด์ร่วมกัน

สิ่งที่ดึงดูดให้ผู้ผลิตนาฬิกาข้อมือระดับสูงเข้ามาร่วมมือคือ โอกาสเข้าถึงกลุ่มคนรักนาฬิกาของนิตยสารรายนี้ และการใช้ประโยชน์จากแบรนด์ Revolution เพื่อผลิตนาฬิการุ่นที่ช่วยเรียกเสียงฮือฮาและสร้างกำไรเพิ่มให้แบรนด์ของตนได้ นาฬิกาชุดที่ออกมาในปีที่แล้วเกิดจากการร่วมมือกับแบรนด์อย่าง Chopard, Hublot, Rado และ Tag Heuer ซึ่งนาฬิกาบางรุ่นก็ขายเกลี้ยงในไม่กี่นาที

ตลาดนาฬิกาข้อมือยังโตต่อไป Lee หนุ่มอเมริกันวัย 48 ปีกล่าว เขาดูแลด้านการพัฒนาธุรกิจของ Revolution Media ซึ่งเป็นบริษัทส่วนตัวที่ตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ส่วน Koh เป็นคนสิงคโปร์วัย 49 ปี ดูแลงานบรรณาธิการและแนวทางด้านครีเอทีฟ และถือหุ้นในบริษัท 50% ขณะที่ Patricia Ng Li Ping ชาวสิงคโปร์ถือหุ้นอีกครึ่งหนึ่งผู้ชายต้องมีวิธีแสดงออกถึงตัวตน” Lee กล่าวและนาฬิกาข้อมือก็เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ

นิตยสาร Revolution และแบบฉบับบนออนไลน์ (ภาพจาก The New York Times)

สิ่งที่ควรรู้คือ Lee และ Koh แต่ละคนมีนาฬิกาข้อมือราวๆ 150 เรือน ทั้งสองพบกันครั้งแรกในปี 2004 เพื่อคุยเรื่องการทำธุรกิจร่วมกันระหว่างที่นั่งดื่มในโรงแรม Four Season’s ที่สิงคโปร์

ในปี 2005 ทั้งคู่เปิดตัวนิตยสารนี้ฉบับแรกและทำกำไรทันที (ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากในวงการสื่อสิ่งพิมพ์) รวมทั้งได้รับเสียงชื่นชมจากเหล่าแบรนด์หรูซึ่งมองว่านิตยสารเล่มนี้คือหนทางช่วยให้นาฬิกาข้อมือกลายเป็นที่นิยมในกลุ่มคนประเภทเดียวกับหุ้นส่วนทั้งสองคนนี้ เมื่อผู้ผลิตนาฬิกาทุ่มงบโฆษณา ยอดขายโฆษณาของนิตยสารนี้ก็พุ่งขึ้นตามไปจนทำให้นิตยสารเล่มนี้กลายเป็นนิตยสารสิงคโปร์เล่มแรกที่ก้าวไปถึงระดับโลก

ในปี 2006 นิตยสารเล่มนี้ขยายตลาดออกไปต่างประเทศ ปัจจุบันถูกตีพิมพ์เป็น 6 ภาษาและ 12 เวอร์ชั่น โดยฉบับหลักวางขายในสิงคโปร์และมาเลเซีย ส่วนเวอร์ชั่นอื่นๆ มีขายในออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อิตาลี ลาตินอเมริกา เม็กซิโก ตะวันออกกลาง รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ

นาฬิกาข้อมืออาจคงทนต่อกาลเวลา แต่ยุครุ่งโรจน์ของการโฆษณาผ่านสิ่งพิมพ์ผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อแบรนด์ต่างๆ พากันตัดงบ ทำให้ยอดขายโฆษณาใน Revolution ฉบับพิมพ์ลดลง ปี 2017 นิตยสารฉบับที่ขายในสิงคโปร์และมาเลเซียมีกำไรลดลง 453,000 เหรียญสิงคโปร์ จากยอดขาย 8.4 ล้านเหรียญ ซึ่งลดลงจากกำไร 744,000 เหรียญในปีก่อนหน้า อีกทั้งในปี 2016 Revolution ฉบับที่ได้ลิขสิทธิ์ในการตีพิมพ์ในยูเครน คาซัคสถาน ตุรกี และไต้หวันปิดตัวลง ทำให้ยอดพิมพ์ทั่วโลกลดลงเหลือ 350,000 เล่ม จากเดิม 500,000 เล่ม นิตยสารยังต้องลดจำนวนหน้าลงประมาณ 30% จากเดิม 300 หน้า และลดพนักงานจาก 70 คนเหลือ 50 คน

หุ้นส่วนทั้งสองพยายามจีบผู้อ่านและลูกค้าลงโฆษณาให้กลับมา ด้วยการนำเสนอเนื้อหาทั้งในรูปแบบฉบับพิมพ์และฉบับออนไลน์ Revolution Media พยายามชดเชยรายได้จากโฆษณาที่ลดลงโดยการเปิดตัวธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเมื่อเดือนมีนาคม 2018 ร่วมกับหุ้นส่วนคือ WatchBox เป็นการลงทุนธุรกิจออนไลน์ แต่การจับมือกันครั้งนี้สิ้นสุดลงภายใน 6 เดือน เมื่อรายได้สิ้นปีต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 60 ล้านเหรียญ

Lee โทษว่าความล้มเหลวในครั้งนั้นเกิดจากการจับคู่กันอย่างไม่เหมาะสมระหว่างรายการสินค้าจำนวนมากของ WatchBox กับรสนิยมของผู้อ่าน Revolution ที่เน้นสินค้าวงแคบและเน้นความเป็นศิลปะ

Lee ยังคิดในแง่ดีเราเจอทั้งสิ่งที่ใช่และไม่ใช่ และธุรกิจประสบความสำเร็จได้ก็ขึ้นอยู่กับการแก้ไขความผิดพลาดที่เจอ เขากล่าว แม้ยอดขายโฆษณาในฉบับพิมพ์จะกระเตื้องขึ้นมา 10% ในปีที่แล้ว แต่ Lee กล่าวว่า Revolution จะไม่ขยายธุรกิจสิ่งพิมพ์ และจะหันไปให้ความสำคัญกับการขยายเว็บไซต์ สื่อโซเชียล และอี-คอมเมิร์ซแทน นอกจากนี้ Lee กับ Koh ยังสร้างกลุ่มชุมชนนักสะสมนาฬิกาจากทั่วโลกและจัดงานแสดงนาฬิกาข้อมือระดับโลกด้วย

และเมื่อบริษัทโตขึ้นจนมีขนาดพอสมควรแล้ว หุ้นส่วนทั้งสองก็หวังว่าจะมีผู้สนใจซื้อกิจการ Koh ไม่ตอบว่ามูลค่ากิจการของพวกเขาน่าจะมีมูลค่าเท่าไร แต่ก็แย้มว่ามีหลายฝ่ายแสดงความสนใจมาแล้ว

  อ่านเพิ่มเติม   ภาพจากปก: Wei Koh (ซ้าย) และ Bruce Lee เรื่อง: Jane A. Peterson, เรียบเรียง: ธรรดร โสตถิอำรุง
คลิกอ่านบทความ “เมื่อถึงเวลาปฏิวัติ” ฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับกันยายน 2562 ในรูปแบบ e-Magazine