สุทธิพงษ์ สุริยะ ออกแบบแนวคิดด้วยปรัชญา “นำ Local สู่ เลอค่า” - Forbes Thailand

สุทธิพงษ์ สุริยะ ออกแบบแนวคิดด้วยปรัชญา “นำ Local สู่ เลอค่า”

บ้านไม้สองชั้นในหมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ อ. โซ่พิสัย จ. บึงกาฬ ของครอบครัวสุริยะที่ตบแต่งด้วยศิลปะร่วมสมัย มีภาพวาดพญานาคอยู่บนผนังด้านนอก ปัจจุบันคือพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่เจ้าของรังสรรค์ขึ้นมา

หากไม่ติดปัญหาโควิด-19 เดือนมิถุนายนปีนี้ สุทธิพงษ์ สุริยะ หรือ “อาจารย์ขาบ” ฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาบสไตล์ จำกัด คอนเซ็ปต์ดีไซเนอร์แถวหน้าในวงการอาหารของประเทศไทยจะเดินทางไปรับรางวัล Gourmand World Cookbook Awards กรุง Paris ประเทศฝรั่งเศส สาขาสถานที่สาธารณะและอาหารพื้นถิ่น (หมวด Special Awards - Institutions จาก Hello So Phisai และ Countries - Regions จาก Local Food Buengkan) ซึ่งเขาได้รับรางวัลจากเวทีนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 14 รางวัล Gourmand World Cookbook Awards ก่อตั้งขึ้นโดย Edouard Cointreau เมื่อปี 2538 ที่เมือง Frankfurt ประเทศเยอรมนี เพื่อเฟ้นหาบุคคลสุดยอดของโลก เพื่อสดุดีและเชิดชูเกียรติ โดยเปิดรับผลงานจากกลุ่มประเภทหนังสืออาหาร, สื่อดิจิทัล, รายการอาหารทางโทรทัศน์ ซึ่งมีผู้ส่งเข้าประกวดจาก 215 ประเทศทั่วโลกจำนวนกว่า 10,000 ผลงาน เพื่อเข้าชิงรางวัล Best in the World จำนวน 130 ประเภท
สุทธิพงษ์ สุริยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาบสไตล์ จำกัด
 
  • มุ่งสู่ความฝัน
สุทธิพงษ์เกิดและเติบโตในจังหวัดบึงกาฬเขาเป็นน้องคนเล็กของพี่ๆ อีก 5 คน บิดามารดาเป็นเกษตรกร เนื่องจากแถวบ้านเป็นชุมชนอินโดจีนจึงได้รับอิทธิพลอาหารจากลาว เวียดนาม และไทย ตอนเด็กๆ ก่อนไปโรงเรียนจะเป็นลูกมือช่วยแม่เตรียมอาหารและนำไปถวายพระที่วัด เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาตั้งแต่เด็ก วิชาที่ทำคะแนนได้ดีคือ ศิลปะและอาหาร หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาที่จังหวัดในบ้านเกิด เขาเรียนต่อระดับปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง งานแรกที่ทำคือ เป็นพนักงานฝ่ายขาย บมจ. เอสซีจี 1 ปี และเปลี่ยนมาทำงานในบริษัทโฆษณาขนาดเล็กอีก 2 ปี ที่นี่เองทำให้ได้เรียนรู้การทำโฆษณาทุกขั้นตอน ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านนิตยสารต่างประเทศและสังเกตว่าภาพอาหารสวยๆ จะมีชื่อช่างภาพและผู้ออกแบบ หรือ "ฟู้ดสไตลิสต์" อยู่ด้านล่าง สุทธิพงษ์คิดว่านี่คือสิ่งที่เขาอยากเป็น จึงฝากตัวเป็นลูกศิษย์ “ครูโต” ม.ล. จิราธร จิรประวัติ อยู่ 2 ปี กระทั่งครูบอกว่า ออกไปทำงานเองได้แล้ว เขาจึงลาออกจากงานประจำหันมายึดอาชีพนี้เต็มตัว บอกบิดามารดาว่า ขอเวลาโบยบิน 5 ปี หากอายุ 30 ปียังตั้งหลักไม่ได้จะกลับไปเข้าระบบงานประจำ ทว่านับจากวันนั้นเขาก็เติบโตในเส้นทางที่เลือกเดิน ทั้งยังสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในเวทีระดับโลก กว่าชีวิตจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่ความบังเอิญ หากแต่เจ้าตัวเป็นคนที่พร้อมจะเรียนรู้และกระโจนเข้าหาโอกาส ต้องไม่ลืมว่า 30 ปีก่อนการเข้าถึงความรู้ต่างๆ ไม่ได้หาง่ายๆ เพียงแค่ใช้ปลายนิ้วคลิกในสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ดังเช่นปัจจุบัน “ช่วงที่เป็นฟรีแลนซ์ 5 ปีทำงานให้นิตยสารตกแต่งบ้านหลายแห่ง เป็นฟู้ดสไตลิสต์ นักเขียน วิ่งหา props ทำตบแต่งบ้านด้วย ทุกอย่างที่ทำทำให้เราได้เรียนรู้ ได้โอกาสทำเกี่ยวกับอาหาร บ้าน ท่องเที่ยว ชุมชน พอมาทำงานโฆษณาก็คล้ายๆ กัน” ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยรู้จักเวที “Gourmand World Cookbook Awards” แต่ได้รับการติดต่อจากชาวต่างชาติที่เห็นหนังสือ Food and Travel: Laos หนังสือท่องเที่ยวเกี่ยวกับอาหารราชสำนักหลวงพระบางและวิถีประวัติศาสตร์ซึ่งสุทธิพงษ์เป็นผู้จัดทำ “ฝรั่งไปเห็นในร้านหนังสือที่หลวงพระบาง เขาเลยอีเมลมาและแนะนำเวทีบอกให้ส่งประกวดสิ ครั้งแรกคิดว่าหลอกก็ไม่ส่ง ปีที่ 2 มีอีเมลมาอีก พอส่งไปก็แจ็กพอตแต่ไม่ได้รางวัลที่ 1 พอได้รับหนังสือมามีรายชื่อผู้ได้รางวัลที่ 1 ใน 130 ประเภทสาขา จากผู้ส่งประกวด 10,000 ราย มีการคัดกรอง 3 รอบ พอเห็นประกาศรางวัล ผมสั่งซื้อหนังสือผ่านเว็บไซต์อเมซอนเพื่อดูว่าทำไมเขาถึงได้ที่ 1 พอเห็นหนังสือเขาแล้วก็โอ้...หนังสือเราเฉิ่มมากเลย หลังจากนั้นก็พัฒนาเพื่อไต่ขึ้นระดับ top นี่คือการเรียนรู้จากสิ่งที่พลาด ก็เรียนรู้ จดจำ ดัดแปลงให้เป็นผม “ตอนนี้คนเห็นหนังสือก็เดาออกว่า นี่คืองานของผม ถ้าเป็นแนวออกแบบผมใช้แนวคิดเรียบ ง่าย งาม ทุกอย่างในชีวิต ทั้งการตบแต่ง งาน ชีวิตส่วนตัว ถ้าเป็นสตูดิโอ หรือทำสู่สาธารณะใช้ปรัชญาว่า local สู่ เลอค่า แปลว่า วิถีพื้นถิ่นแต่มาตรฐานความงามสากล"  
  • หมุดหมายใหม่
การสวรรคตของรัชกาล 9 ตามด้วยการเสียชีวิตของมารดาทำให้สุทธิพงษ์รู้สึกว่าควรทำอะไรสักอย่างเพื่อบ้านเกิด นั่นเป็นที่มาของ “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ” ซึ่งเขาควักทุนตัวเองหลักล้านมาปรับปรุงบ้านและภูมิทัศน์โดยรอบ และปัจจุบันกลายเป็นหมุดหมายใหม่ด้านการท่องเที่ยว “ผมกลับไปพัฒนาหมู่บ้านเกิดทั้งหมู่บ้านทำเป็นปีที่ 4 เป็นการสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน ได้ความรู้มาจากการทำงานอาสาให้โครงการหลวงก็นำมาปรับใช้ และเอาศิลปะร่วมสมัยมาพัฒนาหมู่บ้านอีสานธรรมดาให้ว้าวแบบสุดๆ จนหมู่บ้านได้รางวัลออสการ์ด้านอาหารแห่งเดียวของโลก” แนวทางในการจัดสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งมีทั้งห้องโถง ห้องครัว ห้องพระ ห้องจัดแสดงผ้า เฉพาะส่วนหลังเป็นการนำผ้าไหมของครอบครัวมาจัดแสดงให้ชมว่า ผ้าของชาวอีสานมีอะไรบ้าง หากนักท่องเที่ยวต้องการรับประทานอาหารหรือทำพิธีบายศรีก็มีจัดบริการให้ โครงการวาดบ้านแปลงเมืองครั้งที่ 2 เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2562 ในธีมพญานาคกับอาหารและของฝาก โดยนำเสนออาหาร 20 ชนิด ซึ่งอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน ถึงตอนนี้เราสังเกตว่าบนโต๊ะไม้ที่ใช้นั่งสัมภาษณ์ มีขวดเล็กๆ ปิดด้วยฉลากสีขาวและถุงกระดาษซิปล็อกมีโลโก้ลายเส้นสีดำลวดลายน่ารัก อาจารย์ขาบบอกว่า เป็นแพ็กเกจจิ้งใหม่สำหรับบรรจุของฝาก เพื่อเพิ่มมูลค่า ปรับลุคใหม่ให้สินค้ามีหน้าตาสวยงาม แต่รสชาติยังเป็นอาหารพื้นถิ่น ส่วนโลโก้ที่เห็นเป็นรูปพญานาคออกแบบโดย ม.ล. จิราธร “คอนเซ็ปต์คือ ดึงคนรวยมาช่วยคนจนผมเห็นบริบทและเข้าใจเรื่องศิลปะร่วมสมัยการออกแบบคือความขัดแย้งระหว่างศิลปะเดิมกับสมัยใหม่ ดูน่าสนใจ คนรวยมาเห็นถ่ายรูปพอใจแล้วก็มีประสบการณ์กินมีอาหารพื้นถิ่นที่แต่งหน้าตาถูกจัดวางสวยงาม ของฝากของกินที่มีบรรจุภัณฑ์สวย คนกลุ่มนี้เขาต้องการเสพเรื่องรสนิยมข้าวของเป็นสิ่งที่เขาเอาไปโชว์ได้ไม่อาย ดังนั้น ของกินของใช้ต้องมี story telling อย่าให้เขาซื้อเพราะสงสารจะเป็นการซื้อเพียงครั้งเดียว สินค้าของเราสามารถอยู่ในกระเป๋าแบรนด์เนมของนอกได้อย่างกลมกลืนและมั่นใจ” ขั้นตอนต่อไปคือ ทำโครงการเกษตรนวัตในพื้นที่ 30 ไร่ เพราะมองว่าเมื่อการท่องเที่ยวเข้ามาก็จะมีเรื่องการกิน ชุมชนต้องมีแหล่งผลิตวัตถุดิบเองเพื่อให้เงินหมุนเวียนภายใน ไม่ต้องไปซื้อของข้างนอก โดยปลูกพืชผักนานาชนิด ซึ่งสามารถทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรสำหรับนักท่องเที่ยว และศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาชุมชน  
  • สร้างรายได้หลักแสนให้ชุมชน
“คนมาที่นี่หลักๆ คือ อยากฟังแนวคิดจากผม ที่นี่เรียกว่า ศูนย์สร้างแรงบันดาลใจ เขาอยากมาดูวิธีการทำของเรา ได้กระบวนการนำไปพัฒนา” พฤศจิกายน ปี 2563 ชาวบ้านมีรายได้จากการขายอาหารและสินค้า 400,000 บาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดมาก่อน “รายได้มาจากการขายอาหาร การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ แต่มาจากการช็อปปิ้งเยอะกว่า นักท่องเที่ยวไม่ได้ซื้อแค่ 1-2 ชิ้น แต่ซื้อครั้งละเป็นสิบชิ้น เราแนะนำให้แม่ค้าแอดไลน์กับลูกค้าไว้ เพราะลูกค้าอาจมาแค่ครั้งเดียว แต่พอแอดไลน์จะได้ขายตลอดชีพ" "ผมจะแนะนำแม่ค้าว่า 1. ลูกค้าซื้อไม่ซื้อต้องขอบคุณ 2. ขอคำแนะนำ 3. ขอให้เขาช่วยแนะนำสถานที่ให้กับเรา นักท่องเที่ยวเห็นว่าเรามีความจริงใจ เดือนธันวาคมที่ผ่านมาผมคิดว่าจะได้ 500,000 บาท เพราะมีการจองเข้ามา กลางเดือนมีประกาศโควิด ตัวเลขสะดุดที่ 300,000 บาท รายได้ทั้งปีอยู่ที่ 1.3 ล้านบาท” ปัจจุบันสุทธิพงษ์พำนักอยู่กรุงเทพฯ เป็นหลัก และจัดสรรเวลา 1 ใน 3 ของเดือนลงพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งเขาบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นงานการกุศล “ผมทำงาน 3 part คือ เปิดบริษัทปั้นแบรนด์ รีแบรนด์ให้ธุรกิจที่หลากหลาย นี่คือรายได้มาเลี้ยงตัวเองและพนักงานจะทำอะไรก็ตามเราต้องอิ่มก่อน ในความอิ่มรู้จักประมาณตนเอง และเอาเวลาอีกส่วนไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษา เพราะวันหนึ่งเขาจะเป็นกำลังหลักของชาติ อีกส่วนคือ การพัฒนาหมู่บ้านเกิดให้เป็นต้นแบบของประเทศ นี่เป็นวิธีการทำให้ชีวิตเดินทางด้วยความสุข” จากบทบาทการทำงานที่หลากหลาย เมื่อขอให้นิยามตนเอง ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตฯ ตอบสั้นๆ ว่า “เป็นนักออกแบบประสบการณ์ชุมชน เพราะชุมชนคลุมทุกอย่าง อาหาร เกษตร ท่องเที่ยว การออกแบบประสบการณ์มันยากนะครับ เราต้องซื้อทางลัดของชีวิตอย่างผมอยู่กับครูโตๆ เอาประสบการณ์ยกใส่ตัก จับผมใส่ลิฟต์ขึ้นชั้น 10 ถ้าค้นหาเอง ขึ้นบันไดแล้วอาจตกลงมา...และผมนำสิ่งที่ครูให้คือศิลปะกลับไปพัฒนาหมู่บ้าน”     อ่านเพิ่มเติม:
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine