แม้จะเกิดในครอบครัวคหบดีแถวหน้าเพราะเป็นบุตรชายของประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ แต่ “พิเชษฐ สิทธิอำนวย” ก็เป็นคนที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับงานและครอบครัวที่อบอุ่น ควบคู่กับกิจกรรมกีฬาโปรดทั้งฟันดาบและอเมริกันฟุตบอล รวมทั้งการกลับมาทำกิจการร้านอาหารโหว์โหว์ของครอบครัว
หลายคนมีความสุขกับการทำงาน ให้เวลากับงานมากกว่าครอบครัวและกิจกรรมอื่น แต่อีกหลายคนแม้จะมีความสุขกับงานที่ทำ แต่ก็แบ่งเวลาสำหรับการทำงาน ชีวิต และครอบครัวได้อย่างลงตัว เช่นเดียวกับ พิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท หลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) วัย 54 ปี บุตรชายของ ปิติ สิทธิอำนวย ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ วันนี้แม้พิเชษฐจะนั่งเก้าอี้ผู้บริหาร บล.บัวหลวงท่ามกลางยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี เรียกว่างานบริหารก็ไม่ง่าย แต่เขาก็สามารถจัดสรรเวลาระหว่างการทำงาน การใช้ชีวิต ให้เวลากับครอบครัว และแบ่งความทุ่มเทบางส่วนให้กับกีฬาโปรด 2 ชนิดที่เคยเล่นสมัยยังเป็นวัยรุ่น อีกทั้งกลับมาเปิดกิจการร้านอาหารโหว์โหว์คิทเช่นของครอบครัวได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
นักกีฬาฟันดาบทีมมหาวิทยาลัย
“ผมเป็นคนแปลก ชอบกีฬาที่ชาวบ้านไม่ชอบ อย่างกีฬาฟันดาบสมัยก่อนมีคนเล่นแค่ 100-200 คนเท่านั้น ในช่วงปี 2526-2527 ตอนที่ผมเข้าเรียนจุฬาฯ มันเป็นกีฬาที่สนุก เราได้อะไรเยอะ ฝึกอะไรให้เราเยอะ ตอนเรียนผมทำชมรมกีฬาฟันดาบเป็นชมรมเล็กๆ เลย ต้องทำทุกอย่าง เป็นทั้งเป็นนักกีฬา พอขึ้นปี 2 ก็เป็นครูสอนรุ่นน้อง และภูมิใจที่แม้เป็นเพียงชมรมเปิดใหม่ แต่น้องๆ ก็ได้ไปทีมชาติหลายคน”
ส่วนตัวพิเชษฐแม้จะไปไม่ถึงทีมชาติแต่เขาก็ได้เป็นนักกีฬาฟันดาบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในช่วงปี 2 มีโอกาสไปแข่งที่ขอนแก่นได้เหรียญเงินกลับมา จากนั้นในปี 4 มีโอกาสไปแข่งอีกแต่ตกรอบ ถึงกระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เขาล้มเลิกความชอบในกีฬาชนิดนี้
ก่อนจะไปศึกษาต่อต่างประเทศและกลับมาทำงาน เขาได้หวนกลับมาเล่นกีฬาโปรดนี้อีกครั้งเมื่อ 2 ปีก่อนตอนอายุ 52 ปี และพบว่าฟันดาบเป็นกีฬาที่ยังเล่นได้ แม้อายุจะล่วงเลยถึง 60 ปีก็ยังมีคนเล่นอยู่ และมีแมตช์การแข่งขันที่แบ่งรุ่นตามอายุผู้เล่นเป็นกลุ่มเอ กลุ่มบี กลุ่มซี ทำให้เขากลับมาให้เวลากับกีฬานี้อีกครั้ง
“ฟันดาบเป็นกีฬาบุคคล เรื่องที่ได้คือการตัดสินใจ ในหนังสือฟันดาบจะเขียนว่า ‘fencing is chess with muscle’ เป็นกีฬาที่ใช้กล้ามเนื้อ แต่มันมีเรื่องการวางแผนวางกลยุทธ์เหมือนหมากรุก ได้การฝึกคิดและกล้ามเนื้อต้องไปด้วย ซึ่งเป็นกีฬาที่เล่นแล้วต้องตัดสินใจเร็วมาก เพราะในแต่ละแมตช์ 1 คะแนนที่ได้อาจใช้เวลาแค่ 5 วินาทีเท่านั้น”
สวมหมวกนายกสมาคมแฟลกฟุตบอล
นอกจากกีฬาฟันดาบแล้ว อีกกีฬาที่พิเชษฐชื่นชอบและจริงจังไม่แพ้กันคืออเมริกันฟุตบอลในแบบที่ไม่ใส่ชุดเกราะที่เรียกว่า “แฟลกฟุตบอล” (flag football) ซึ่งเป็นการเล่นอเมริกันฟุตบอลอีกรูปแบบที่ไม่เน้นการกระแทก
พิเชษฐ ชื่นชอบกีฬาอเมริกันฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เมื่อมีโอกาสไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาจึงเป็นโอกาสได้เข้าใกล้แหล่งกีฬาชนิดนี้ แต่ก็มองเรื่องความปลอดภัยด้วย เขาจึงเลือกเล่นแฟลกฟุตบอลแทน ซึ่งกติกาคล้ายกัน ทำแต้มแบบเดียวกัน ความสนุกไม่ต่างกัน แต่ปลอดภัยกับผู้เล่นมากกว่า
สำหรับแฟลกฟุตบอลในบ้านเราอาจไม่คุ้นเคย แต่ที่อเมริกาได้รับความนิยมเช่นเดียวกับอเมริกันฟุตบอล หลังเรียนจบพิเชษฐกลับมาเมืองไทยเขายังเล่นแฟลกฟุตบอล โดยชวนเพื่อนๆ มาเล่นกัน ใช้สนามฟุตบอลทั่วไป พอดีตอนนั้นมีโปรแกรมของ NFL (National Football League) ซึ่งเป็นลีกกีฬาอเมริกันฟุตบอลระดับอาชีพที่สหรัฐอเมริกา เขาจะทำโปรแกรมพีอาร์โดยให้เด็ก 10 ประเทศไปแข่งแฟลกฟุตบอลกัน พิเชษฐรู้จักกับตัวแทนที่ทำลิขสิทธิ์โปรแกรมนี้ เขาไปช่วยอยู่ 2 ปี ส่งทีมเด็กไทยไปแข่งขันจนปีที่ 3 เด็กไทยได้เป็นแชมป์โลกรายการ “NFL Flag Football World Championship” และยังได้เป็นแชมป์ 2 ปีซ้อนคือในปี 2548 และ 2549
“หลังจากนั้นเราก็ทำสมาคมแฟลกฟุตบอลและอเมริกันฟุตบอลในไทย ทุกวันนี้ผมไม่ได้เล่นแฟลกฟุตบอลแล้ว แต่สมาคมยังทำอยู่ และมีทีมนักกีฬาจำนวนหนึ่งไม่มากนัก มีกิจกรรมแข่งขันเรื่อยๆ”
เปิดร้าน “โหว์โหว์” ในรอบ 20 ปี
ไม่เพียงกีฬาเท่านั้นที่เป็นกิจกรรมยามว่างของทายาทประธานแบงก์กรุงเทพ แต่ยังมีอีกหนึ่งกิจกรรมที่เขาเพิ่งลงทุนไปเมื่อปลายปี 2561 คือกิจการร้านอาหาร “โหว์โหว์ คิทเช่น (HoHo Kitchen)” ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัวที่พิเชษฐเล่าว่าเมื่อ 20 ปีก่อนร้าน “โหว์โหว์ ฮ่องกง คิชเช่น” ดังมาก เป็นร้านอาหารจีนสไตล์ฮ่องกงที่คนทำงานย่านสีลมรู้จักดี เพราะมีเมนูเฉพาะสูตรจากเชฟชาวฮ่องกงที่เป็นหุ้นส่วนกับร้านในสมัยนั้น
แต่ต่อมาในปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ หุ้นส่วนชาวฮ่องกงได้ถอนทุนออกไป จากนั้นคุณพ่อของเขายังเดินหน้ากิจการต่อเนื่องมาอีกราว 10 ปี และในช่วงท้ายๆ 2-3 ปีหลังได้มาเปิดร้านที่สุขุมวิท 49 แต่ในที่สุดก็ต้องหยุดทำเนื่องจากค่าเช่าสถานที่แพงขึ้นเรื่อยๆ
“เราปิดไปนานหาที่ไปเรื่อย ทำร้านอาหารโอกาสเจ๊งสูงมาก ปัจจัยหลักคือค่าเช่า ถ้าค่าเช่าโหดก็อยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะในห้างใหญ่ ราคาเช่าสูงก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป” พิเชษฐสะท้อนปัญหาที่ทำให้ครอบครัวหยุดกิจการร้านโหว์โหว์ คิทเช่นไปกว่า 10 ปี เพราะหาทำเลทำร้านในราคาที่เหมาะสมไม่ได้ จนกระทั่งได้มาพบทำเลล่าสุดที่โครงการสเตเดียม วัน ซึ่งเจ้าของเป็นศิษย์เก่าวิศวกรรมจุฬาฯ เหมือนกัน คุยกันถูกคอ ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจกลับมาเปิดร้านโหว์โหว์ คิทเช่นที่นี่ โดยถือฤกษ์เปิดตัวเมื่อ 5 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา
ใช้ชีวิตง่าย Work Life Balance
นอกเหนือจากกิจกรรมกีฬาและร้านอาหารที่พิเชษฐเลือกเป็นงานอดิเรกแล้ว อีกสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของนักบริหารธุรกิจหลักทรัพย์แถวหน้าของไทยรายนี้ คือสไตล์การใช้ชีวิตที่เขามักพูดว่าชีวิตไม่ได้มีอะไรซับซ้อน งานก็ทำ ครอบครัวก็ต้องดูแลเอาใจใส่ กิจกรรมสังคมกับเพื่อนๆ ก็ต้องมี ใช้ชีวิตให้ง่าย พอใจกับสิ่งที่ตัวเองมีเท่านี้ก็มีความสุข
“สำหรับผมชัดเจน ทำงาน 5 วันปกติ เสาร์-อาทิตย์เป็นเวลาสำหรับครอบครัว ส่วนกิจกรรมอื่นทั้งกีฬาและสังคมก็ปะปนกันไปในเวลาทำงานระหว่างวันบ้าง ไม่ได้ยุ่งยากอะไร”
แต่สิ่งที่พิเชษฐให้ความสำคัญคือการดูแลลูก เล่นกับลูกใกล้ชิดพวกเขาให้มากที่สุดและให้ความสำคัญเรื่องนี้ไม่เฉพาะภายในครอบครัว แต่พิเชษฐและภรรยา (ชามาภัทร สิทธิอำนวย) ยังได้ร่วมกันซื้อแฟรนไชส์ธุรกิจเด็ก “จิมโบรี” (Gymboree) มาในปี 2543 เป็นธุรกิจที่สอนการเล่นกับลูกอย่างไรให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี ซึ่งทำต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน มีเปิดแล้ว 13 สาขา
นอกจากนี้พิเชษฐยังมีกิจกรรมหลากหลายในฐานะศิษย์เก่าวิศวะรั้วจามจุรี ซึ่งเขาช่วยงานไปตามบทบาทที่ได้รับโดยไม่อิดออด แม้บางกิจกรรมจะไม่รู้ตัวมาก่อน อย่างเช่น การถูกเสนอชื่อเป็นรองประธานจัดงานแข่งขันฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ฝ่ายหารายได้เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เพิ่งมารู้ภายหลังว่าผู้เสนอชื่อเขาคือ ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาฯ คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นเพื่อนสมัยเรียนจุฬาฯ ด้วยกัน เขาก็รับหน้าที่นั้นมาและทำอย่างเต็มที่
อ่านเพิ่มเติม ภาพ: กิตติเดช เจริญพร, บล.บัวหลวงคลิกอ่านเรื่องราวฉบับเต็ม “พิเชษฐ สิทธิอำนวย "Work Life Balance" ความสุขอยู่ที่ใจ” ได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine