“SCB JULIUS BAER” ดูแลสินทรัพย์เศรษฐีไทย สร้างความมั่งคั่ง พอร์ตลงทุน-เสริมความมั่นคงธุรกิจ - Forbes Thailand

“SCB JULIUS BAER” ดูแลสินทรัพย์เศรษฐีไทย สร้างความมั่งคั่ง พอร์ตลงทุน-เสริมความมั่นคงธุรกิจ

หากใครได้แวะเวียนไปแถวถนนสุขุมวิทคงสะดุดตากับอาคารร่วมสมัยสไตล์ยูเรเชียสีครีมสวยสง่าที่ตั้งอยู่โดดเด่นท่ามกลางตึกระฟ้าสมัยใหม่ นั่นคือสำนักงานแห่งแรกในเมืองไทยของไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ หรือ SCB Julius Baer ธุรกิจบริหารความมั่งคั่งภายใต้กลุ่ม SCBX ไม่เพียงแต่ภาพลักษณ์ภายนอกที่สะท้อนผ่านตึกออฟฟิศอันหรูหรา ภายในอาคารยังพรั่งพร้อมไปด้วยบริการเหนือระดับจากที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งระดับสูง ทั้งการบริหารการเงินส่วนบุคคลและแนวทางสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาว ภายใต้การนำของซีอีโอหญิงผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการ Wealth Management มาอย่างยาวนาน “ลลิตภัทร ธรณวิกรัย”

​ธุรกิจเติบโตท่ามกลางวิกฤต

SCB Julius Baer หรือบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์ จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 60% และจูเลียส แบร์ (Julius Baer) ผู้นำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งชั้นนำระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้มากว่า 130 ปี ถือหุ้นในสัดส่วน 40%

แม้ธนาคารไทยพาณิชย์จะมีธุรกิจ Private Banking ที่ให้บริการลูกค้ากลุ่มมั่งคั่งอยู่แล้ว แต่ SCB Julius Baer จะเน้นต่อยอดการลงทุนในตลาดต่างประเทศ เพื่อช่วยกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้นให้กับพอร์ตลงทุนของลูกค้า โดยลูกค้าของ SCB Julius Baer ต้องมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (Asset Under Management; AUM) อย่างน้อย 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 100 ล้านบาท

ตั้งแต่ต้นปี 2565 ตลาดการลงทุนทั่วโลกอยู่ในภาวะผันผวนจากปัจจัยลบและความไม่แน่นอนมากมาย โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูง ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อนำโดยธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลก ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนก็เป็นอีกปัจจัยที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุน

ดังนั้น การลงทุนในต่างประเทศนับว่าเป็นการสร้างความแข็งแรงให้กับ Investment Portfolio ของลูกค้าในระยะยาว และเป็นการปกป้อง Portfolio จากความผันผวนของตลาดได้เป็นอย่างดี ทำให้ Total Investment Portfolio ของลูกค้ามีเสถียรภาพมากขึ้น

ลลิตภัทร ธรณวิกรัย

ครบทุกบริการทางการเงิน

กลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่งระดับสูง SCB Julius Baer ให้คำนิยามว่าเป็น Global Citizen ซึ่งมีศักยภาพในการใช้ชีวิต ทำธุรกิจ และลงทุนอย่าง Borderless ด้วยศักยภาพและความเชี่ยวชาญของ SCB Julius Baer ผสานความแข็งแกร่งของเครือข่าย กลุ่มธุรกิจการเงินภายใต้กลุ่ม SCBX เราจึงสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างครบถ้วนและเป็นบริการที่ออกแบบมาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย (Personalized) และมีความพิเศษเฉพาะบุคคล (Tailored Made)

โดยนอกเหนือไปจากการให้บริการด้าน Wealth Management การบริหาร Investment Portfolio แล้ว อีกหนึ่งบริการที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ Wealth Planning ซึ่งหมายถึง Family/ Business Succession Planning โดยเริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจกับความต้องการโดยเฉพาะของแต่ละครอบครัว และหาแนวทางการจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ผ่านบริการหลากหลายที่ครอบคลุมตั้งแต่การดูแลรักษาทรัพย์สินทั้งส่วนตัวและส่วนของธุรกิจ การจัดตั้งและบริหารจัดการสำนักงานครอบครัว (Family Office) การจัดทำธรรมนูญครอบครัว (Family Constitution หรือ Family Charter) การให้คำแนะนำด้านกฎหมาย (Legal Advice) ตลอดจนการวางแผนจัดการมรดกและการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Wealth Transfer) ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจให้กับลูกค้า และรักษาการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน

กลุ่มของลูกค้า SCB Julius Baer

กลุ่มลูกค้าหลักของ SCB Julius Baer ส่วนใหญ่นั้นเป็นเจ้าของธุรกิจ ซึ่งมีตั้งแต่ผู้ก่อตั้งบริษัท (Founder), Generation ที่ 2 ที่ 3 ตลอดจน Next Generation รุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มเข้ามามีบทบาทในการบริหารความมั่งคั่งของครอบครัว จากการดูแลและให้คำปรึกษากับลูกค้ามาอย่างต่อเนื่องนั้น SCB Julius Baer เริ่มเห็นว่ากลุ่มคนที่เข้ามาดูแลบริหารความมั่งคั่งของครอบครัวโดยส่วนใหญ่เริ่มมีอายุเฉลี่ยที่น้อยลง และมีความต้องการที่จะมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุนที่มากขึ้นและลึกขึ้น เห็นได้จากการที่ลูกค้ากลุ่ม Founder เองเริ่มส่งทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุยและเริ่มศึกษาเรื่องของการลงทุนอย่างจริงจังมากขึ้น โดยที่ทาง SCB Julius Baer เองในปีนี้ก็มีแผนที่จะจัดทำโครงการอบรมพิเศษให้กับลูกค้ากลุ่ม Next Generation ให้มีความรอบรู้และมีความพร้อมในการที่จะขึ้นมารับบทบาทสำคัญต่อจากครอบครัว

​โอกาสและความท้าทายปี 2566

ในปี 2566 SCB Julius Baer มีแผนเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วน Portfolio Investment และ Wealth Planning ซึ่งภาพรวมการลงทุนในปีนี้นั้นมีทั้งโอกาสและความท้าทายรออยู่ โดยมองว่าตลาดหุ้นทั่วโลกที่มีการปรับตัวลดลงอย่างหนักในปีที่ผ่านมาจากปัจจัยลบและแรงกดดันต่างๆ โดยเฉพาะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากภาวะเงินเฟ้อที่สูง ทำให้เกิดการรีเซ็ตหรือปรับมูลค่าของสินทรัพย์ (Valuation Reset) และมองว่าในปี 2566 โอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงต่อแบบในปีที่ผ่านมานั้นจำกัด อย่างไรก็ตามการลงทุนในหุ้นยังคงเน้นในกลุ่ม Defensive Quality หรือหุ้นกลุ่มที่มีคุณภาพและธุรกิจที่มีกระแสเงินสดที่ดี เนื่องจากเป็นธุรกิจที่แข็งแรงและมีความยืดหยุ่นสูง (Resilient Corporate Earnings) ซึ่งทนทานต่อภาวะที่อาจจะเกิด Recession ได้ ในส่วนของตลาดตราสารหนี้คาดว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรน่าจะทำจุดสูงสุด ทำให้ High Quality Bonds มีความน่าสนใจเนื่องจากให้ผลตอบแทนในระดับสูงกว่าในอดีตจึงควรลงทุนเพื่อ Lock in Quality Yield

​อย่างไรก็ตามตลาดการลงทุนยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้นักลงทุนควรลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay Invest) และสร้างพอร์ตการลงทุนที่คำนึงถึงความเสี่ยง (Risk based allocation) เพื่อสร้างความมั่นคงทนกับสภาวะความผันผวนและสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอในระยะยาว นอกจากนี้ SCB Julius Baer ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มเมกะเทรนด์เป็นหลักในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ ESG (Environment, Social, Governance)

​ในส่วนของ Wealth Planning เนื่องจากความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น การเติบโตธุรกิจในส่วนนี้จึงยังมีโอกาสอีกมาก ด้วยความเชี่ยวชาญและบริการที่ครบครัน SCB Julius Baer เชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยสร้างความมั่งคั่งให้กับพอร์ตการลงทุนของลูกค้า และสร้างความมั่นคงให้กับลูกค้าได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว