SAM ตั้งเป้าปี 2562 ซื้อพอร์ต NPL เพิ่ม 1.65 หมื่นล้าน “คลินิกแก้หนี้” เตรียมขยายเกณฑ์รับลูกหนี้ non-bank - Forbes Thailand

SAM ตั้งเป้าปี 2562 ซื้อพอร์ต NPL เพิ่ม 1.65 หมื่นล้าน “คลินิกแก้หนี้” เตรียมขยายเกณฑ์รับลูกหนี้ non-bank

SAM เปิดผลดำเนินงานปี 2561 รับชำระเงินสดเกินเป้าหมาย วางแผนปี 2562 ซื้อสินทรัพย์ NPL เติมพอร์ตอีก 1.65 หมื่นล้าน ไม่หวั่นตลาดบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) แข่งขันสูง ด้านคลินิกแก้หนี้เตรียมขยายเฟส 2 รับลูกหนี้ non-bank

นิยต มาศะวิสุทธิ์ ผู้บริหารสูงสุด บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยถึงการดำเนินงานของบริษัทในปีที่ผ่านมาว่า บริษัทได้รับชำระเงินสดรวมทั้งสิ้น 11,422 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 34% โดยแบ่งสัดส่วนเป็นเงินสดจากการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ประมาณ 7 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 62% และมาจากการขายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) 4 พันล้านบาท หรือ 38% “ขอให้เครดิตทางกรมบังคับคดีด้วยที่ปรับการทำงานให้รวดเร็วขึ้น และปีที่ผ่านมาลูกค้าให้ความร่วมมือมากขึ้น ส่วนการขาย NPA ปีก่อนเราได้อานิสงส์จากนโยบายภาครัฐที่มุ่งเน้น EEC (เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) ทำให้ทรัพย์ในพื้นที่ EEC ที่เคยค้างมานานนับสิบปีสามารถจำหน่ายออกได้” นิยตกล่าว สำหรับการซื้อพอร์ต NPL ในปี 2561 SAM มีการซื้อเข้ามาบริหารอีก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมาย และเป็นปีที่มีการซื้อ NPL มากที่สุด ทำให้ปัจจุบันบริษัทมี ลูกหนี้ NPL คงเหลือ 3.35 แสนล้านบาท แบ่งเป็นลูกหนี้รายใหญ่ (Corporate) 67% ลูกหนี้ SME 30% และลูกหนี้สินเชื่อบ้านอีก 3% และมี NPA คงเหลือ 3,764 รายการ มูลค่ารวม 21,066 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ 46% เป็นสินทรัพย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากแบ่งตามประเภททรัพย์ เป็นที่ดินเปล่า 31% และเป็นทรัพย์รายย่อย เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม อาคารพาณิชย์ คอนโดมิเนียม 62% “31% เป็นที่ดินเปล่าถือเป็นสัดส่วนที่ดีเพราะที่ดินเปล่ามีความคล่องตัวในการขาย แต่กลุ่มที่พักอาศัยก็มีไม่น้อย ซึ่งต้องแข่งขันสูงเพราะมีซัพพลายในตลาดมาก ส่วนนี้เราพยายามนำเทคโนโลยีมาช่วย โดยให้พนักงานขายนำเสนอลูกค้าด้วยแอพพลิเคชั่น AR (Augmented Reality) ที่มีในตลาด จำลองห้องหลังรีโนเวตแล้วสามารถทำให้ดูดีได้ด้วยการปรับปรุงสีและตกแต่งเฟอร์นิเจอร์” นิยตกล่าว  

ปี 2562 เป้ารับชำระเงินสดทรงตัว เร่งซื้อ NPL เพิ่ม

ด้านแผนการดำเนินงานปี 2562 นิยตกล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารับชำระเงินสดที่ 1.16 หมื่นล้านบาท และเป้าซื้อสินสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) เพิ่ม 1.65 หมื่นล้านบาท โดยยังคงเน้นพอร์ตสินเชื่อรายใหญ่และ SME เป็นหลัก “เป้ารับชำระเงินสดเพิ่มจากปีก่อนไม่มากเพราะมองว่าปีนี้เศรษฐกิจไม่เอื้อ การคาดการณ์การเติบโตของ GDP ประเทศอยู่ที่ 3-4% เท่านั้น” นิยตกล่าวถึงภาพรวมตลาดบริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือ AMC ว่าปีนี้มีการแข่งขันสูงขึ้น ด้วยมี AMC ใหม่ๆ ทั้งรายย่อยและจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ราคาประมูลสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประสบการณ์กว่า 20 ปีของ SAM จะทำให้แม่นยำกว่าในการกำหนดราคารับซื้อหนี้ที่เหมาะสม สามารถนำมาบริหารได้และทำกำไรได้ นอกจากเป้าหมายข้างต้น ปีนี้บริษัทจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้ามากขึ้น เช่น ปัจจุบัน SAM มีช่องทางการติดต่อผ่าน Line เพื่อให้ลูกค้าฝากเรื่องที่ต้องการไว้ในแชทได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องรอติดต่อเจ้าหน้าที่ในเวลาทำการเท่านั้น สำหรับทรัพย์ NPA เด่นยังคงจำหน่ายต่อเนื่อง มีทรัพย์เด่นที่น่าสนใจทั้งที่ดินและที่อยู่อาศัย เช่น ที่ดิน 8 ไร่ครึ่งพร้อมอาคารพักอาศัยในพื้นที่นิคมมาบตาพุด, ที่ดินเปล่า 28 ไร่ ติดถนนกิ่งแก้ว ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ, ทาวน์โฮม 5 หลัง เนื้อที่ 20-26 ตารางวา ย่านถนนศรีนครินทร์ เป็นต้น  

คลินิกแก้หนี้เตรียมขยายสู่ลูกหนี้ non-bank

อีกหนึ่งแผนงานที่ SAM ทำงานกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ รับบริหารหนี้สินไม่มีหลักประกันของบุคคล เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล นิยตรายงานผลการดำเนินงานปี 2561 ว่า มีผู้สนใจลงทะเบียนร่วมโครงการทั้งหมด 33,900 ราย อย่างไรก็ตาม มีผู้ผ่านคุณสมบัติร่วมโครงการเพียง 1,087 ราย โดยยังอยู่ระหว่างผ่อนชำระ 86.4% มีผู้ปิดบัญชีผ่อนชำระแล้ว 1.2% ส่วนอีก 12.4% มีการผิดนัดชำระ “เรากำลังพยายามจูนกันอยู่ ทำอย่างไรให้สามารถรับคนเพิ่มได้มากกว่านี้” นิยตกล่าว คลินิกแก้หนี้นั้นจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาหนี้ให้ประชาชน โดยรวมหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยที่อาจมีเจ้าหนี้หลายรายมารวมกันเพื่อให้การแก้ไขทำได้ง่ายขึ้นผ่านเจ้าหนี้รายเดียว และมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ดอกเบี้ยพร้อมขยายเวลาผ่อนชำระได้สูงสุดถึง 10 ปี ทำให้ลูกหนี้ที่มียอดหนี้ 1 แสนบาท สามารถผ่อนชำระขั้นต้นเพียง 1,200 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ ธปท. ได้ขยายกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อให้รับลูกหนี้เข้าสู่คลินิกแก้หนี้ได้มากขึ้น โดยปรับหลักเกณฑ์ให้ลูกหนี้ที่เป็น NPL ตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562 สามารถร่วมโครงการได้ จากเดิมที่ต้องเป็น NPL ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2561 และมีการยืดหยุ่นเกณฑ์ความสามารถการชำระหนี้ให้มากขึ้น โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ โครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 1 นั้นครอบคลุมเฉพาะลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ ธปท.จึงเตรียมขยายโครงการระยะที่ 2 ให้รวมบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่ม non-bank 8 แห่งด้วย แต่ในส่วนนี้จะต้องรอการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายขอบเขต ปัจจุบันขั้นตอนได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ธปท.จึงคาดว่าจะเปิดเฟส 2 ของคลินิกแก้หนี้ได้ภายในไตรมาส 2/62 นิยตคาดการณ์ว่า หากมีการปลดล็อกให้กับลูกหนี้ non-bank น่าจะทำให้มีลูกหนี้ร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้เพิ่มขึ้น 30-40% ซึ่ง SAM พร้อมที่จะรับลูกหนี้ร่วมโครงการเพิ่มเติม