JCCB มองไทยฟื้นตัว วางแผนลงทุนเศรษฐกิจใหม่ - Forbes Thailand

JCCB มองไทยฟื้นตัว วางแผนลงทุนเศรษฐกิจใหม่

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCCB) เผยผลสำรวจบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในไทย มองแนวโน้มเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ท่ามกลางการระบาดของโอมิครอน และต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น พร้อมเตรียมแผนลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระบบอัตโนมัติ ลดก๊าซเรือนกระจก

หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ ได้ทำการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 23 ธ.ค.2564 กับสมาชิก JCCB จำนวน 1,646 ราย มีบริษัทตอบกลับ 541 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 32.9 โดยคาดการณ์ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (DI) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อยู่ที่ 41 สูงขึ้นอย่างมากจากดัชนี DI ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่ 14 และดัชนี DI ของครึ่งแรกของปี 2564 ที่ 33 เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายลง และอุปสงค์ภายในประเทศจะฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่นักลงทุนกังวลมากที่สุดถึงร้อยละ 65 คือราคาวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาคือการแข่งขันที่รุนแรงร้อยละ 64 ค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 44 และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 รวมไปถึงความกังวลในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนร้อยละ 27 และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยดิจิทัลร้อยละ 25 และอุปสงค์ภายในประเทศที่ซบเซาร้อยละ 23 สำหรับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น ผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทยมองว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อยอดขาย (ตั้งแต่ 5–20 เปอร์เซ็นต์) เป็นสัดส่วนมากที่สุดร้อยละ 35 ลดลงจากการสำรวจในช่วงกลางปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 40 รองลงมาคือไม่มีผลกระทบร้อยละ 18 และกลุ่มที่มองว่ากระทบต่อยอดขายร้อยละ 20 ขึ้นไป สัดส่วนร้อยละ 15

เตรียมแผนลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่

ทั้งนี้ คาดการณ์แนวโน้มกิจกรรมทางธุรกิจในอนาคตนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงขนาดกิจการในปัจจุบันร้อยละ 65 โดยร้อยละ 28 ระบุว่าจะขยายกิจการ และร้อยละ 4 คาดว่าจะลดขนาดกิจการ ซึ่งการลงทุนในพื้นที่ EEC ยังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการร้อยละ 40 และมีแผนลงทุนเป็นรูปธรรมภายใน 3 ปี ร้อยละ 4 และอีกร้อยละ 57 ไม่เลือกตอบทั้งสองหัวข้อ สำหรับประเภทธุรกิจที่สนใจลงทุนในพื้นที่ EEC นั้นร้อยละ 49 เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์/ชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ รองลงมาสนใจลงทุนในระบบอัตโนมัติ/หุ่นยนต์ร้อยละ 19 อุตสาหกรรมการผลิตร้อยละ 18  ดิจิทัล และ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่ร้อยละ 17 และ 16 ตามลำดับ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความตื่นตัวเกี่ยวกับการดำเนินการด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยร้อยละ 42 ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าจะมีการพิจารณานโยบายดังกล่าว จากปัจจัยต่างๆ เช่น คำสั่งจากสำนักงานใหญ่หรือคำขอจากคู่ค้า ขณะที่ร้อยละ 36 ยังไม่มีการกำหนดนโยบายใดๆ ในขณะนี้ และ ร้อยละ 11 ระบุว่า บริษัทยังไม่มีการกำหนดนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม แต่จะมีการกำหนดนโยบายเร็วๆ นี้ สำหรับแนวทางปฏิบัติ บริษัทจำนวนมากร้อยละ 35 เห็นว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกตามาตรฐานที่กฎหมาย/ระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมขณะนั้นระบุ อีกร้อยละ 31 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าที่จะสามารถทำได้ภายในขอบเขตของกิจกรรมทางธุรกิจในแต่ละวัน และอีกร้อยละ 28 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานที่คู่ค้าร้องขอ ขณะที่รูปแบบที่จะนำมาใช้ร้อยละ 40 ตอบว่าจะเปลี่ยนหรือปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องจักรแบบประหยัดพลังงาน ส่วนรองลงมาคือการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ร้อยละ 34 และ การส่งเสริมการกำจัดและลดปริมาณกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธี/การรีไซเคิลขยะร้อยละ 32 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการ มองว่า ประเด็นปัญหาของการใช้นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน คือไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการได้ รองลงมา คือไม่สามารถเห็นผลลัพท์ที่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายได้ และมีความรู้และบุคลากรและบุคลากรเฉพาะทาง โนว์ฮาว ในการดำเนินการไม่เพียงพอ อ่านเพิ่มเติม: อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จับเทรนด์ฟื้นธุรกิจ ฉบับเจ้าพ่ออีเวนต์

ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine