พรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -7.7 ต่อปี หดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ใน เดือนกรกฎาคม 2563 ที่ร้อยละ -8.5 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุน ดังต่อไปนี้
- การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) และการเริ่มเปิดประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น
- เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญมีการฟื้นตัวที่ชัดเจน นำโดยกลุ่มประเทศในเอเชีย เช่น จีน เวียดนาม ส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
- การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคประชาชน ภาคเอกชนและต่างประเทศ โดยคาดว่าในปี 2563 การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนจะหดตัวที่ร้อยละ -3.0 ต่อปี (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -3.5 ถึง -2.5) และร้อยละ -9.8 ต่อปี (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -10.3 ถึง -9.3) ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวที่ร้อยละ -7.8 ต่อปี (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -8.3 ถึง -7.3) ปรับตัวดีขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ร้อยละ -11.0 ต่อปี
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยประกอบไปด้วย โครงการ “เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” โครงการ “คนละครึ่ง” และมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” ซึ่งจะมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทย รักษาระดับการจ้างงาน และสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคภาครัฐและการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 ถึง 4.5) และ 10.5 ต่อปี (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 10.0 ถึง 11.0) ตามลำดับ และคาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 และจะเห็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ติดลบน้อยลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563
สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยคาดว่าอยู่ในระดับที่มั่นคง โดยเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 จะอยู่ที่ร้อยละ -0.9 (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -1.4 ถึง -0.4) ปรับตัวลดลงจากปีก่อน ตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 14.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.8 ของ GDP (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 ถึง 3.3 ของ GDP)
พรชัย กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 ถึง 5.0) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่กลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.5 ถึง 6.5) ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่มีแนวโน้มขยายตัว การบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.1 ถึง 3.1) และการใช้จ่ายภาครัฐทั้งจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 3.3 ล้านล้านบาท
การเบิกจ่ายจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้อย่างต่อเนื่อง ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 (มีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 – 1.5) ปรับตัวสูงขึ้น ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ
“อย่างไรก็ตาม ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เกิดขึ้นในประเทศหลายประเทศ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อทิศทางการค้าและเศรษฐกิจโลก
การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) รวมถึงความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลกที่อาจสูงขึ้น จากการดำเนินมาตรการการเงินการคลังของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ดี เสถียรภาพทางการคลังของไทยยังอยู่ในระดับเข้มแข็ง ทำให้กระทรวงการคลังมีความพร้อมในการออกมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต” พรชัย กล่าวทิ้งท้าย
อ่านเพิ่มเติม: ฮ่องกง แลนด์ ลุยร่วมทุน “พีเอฟ” นำร่องบ้านหรู 70 ล้านย่านแจ้งวัฒนะ