การก่อร่างสร้างธุรกิจว่ายากแล้ว ทายาทผู้เข้ามาต่อยอดความมั่งคั่งของตระกูลยิ่งเผชิญความยากและท้าทายมากกว่าในบริบทที่ต่างกัน เช่นเดียวกับอาณาจักรธุรกิจหมื่นล้านเจ้าของฉายา “เจ้าพ่อ เนสกาแฟ” ประยุทธ์ มหากิจศิริ ผู้ก่อตั้งและสร้างความมั่งคั่งให้กับพีเอ็ม กรุ๊ป ครองตำแหน่งมหาเศรษฐี อันดับที่ 21 ของไทยในปี 2562 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 5.8 หมื่นล้านบาท ด้วยธุรกิจหลากหลายตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เหล็ก พลังงาน อาหารทั้งนำเข้าและส่งออก ไปจนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ทายาท 3 คนของครอบครัวมหากิจศิริ อุษณา มหากิจศิริ ทัพพะรังสี หรือ ณา บุตรสาวคนเล็กถูกวางตัวให้เข้ามาช่วยเสริมทัพดูแลกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้บริษัท เดอะ เนสท์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และธุรกิจไลฟ์สไตล์ทั้งหมด เช่น พิซซ่าฮัท ที่ดำเนินการโดยบริษัท พี เอช แคปปิตอล จำกัด ซึ่งทางกลุ่มเข้าไปเป็นพันธมิตรบริหารต่อจาก ยัม เรสเทอรองตส์ ตั้งแต่ปี 2559
อุษณาจบการศึกษาด้านการบริหารจัดการจาก Boston University สหรัฐอเมริกา และปริญญาโท สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศศินทร์) เธอวางพอร์ตลงทุนโดยใช้หลักการในสไตล์แบบฉบับเฉพาะตัว และยังเป็นนักวิเคราะห์การเงินในสถาบันชื่อดัง มอร์แกน สแตนลีย์ ในฮ่องกง และเคยเป็นโบรกเกอร์ดูแลพอร์ตหุ้นที่บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) รวมไปถึงการผ่านงานนักวิชาการพาณิชย์ในกระทรวงพาณิชย์มาก่อน
ด้วยประสบการณ์พื้นฐานทางการเงินและการบริหาร จึงถูกมอบหมายดูแลสินทรัพย์ของตระกูล ต่อยอดสินทรัพย์บนที่ดินแลนด์แบงก์สะสมที่มีไม่ต่ำกว่า 2,000 ไร่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
“การเรียนรู้ได้ดีที่สุดคือประสบการณ์ตรง มันเป็นการเก็บประสบการณ์ตรงจากหน้างานจริงสถานการณ์จริง ได้เรียนรู้จริง ทำจริง แต่การอยู่กับสถานการณ์จริงด้วยตัวเองมันต่างกันมากมาย” อุษณา เล่าถึงสไตล์การสอนลูกของเจ้าสัวเนสกาแฟ
จากโบรกเกอร์สู่นักลงทุนผู้ยึดหลักการ
อุษณาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานหลายที่ โดยเฉพาะประสบการณ์อันมีคุณค่าตอนทำหน้าที่โบรกเกอร์ดูแลพอร์ตลงทุนที่ภัทรในช่วงปี 2551 ซึ่งเป็นจังหวะที่เกิดวิกฤตสินเชื่อในสหรัฐอเมริกา (subprime) การอยู่ในเหตุการณ์ได้เห็นหุ้นตกระนาวเป็นแผงสีแดง ถือเป็นบทเรียนอันมีค่าที่ตกผลึกมาสู่วิธีการลงทุนที่เน้นความมั่นคงและมองระยะยาวเป็นหลัก
“ทุกวิกฤตมีทั้งบวกและลบ ขึ้นอยู่กับทัศนคติของการมอง ทุกวิกฤตมีโอกาส เช่น มีโอกาสช้อนซื้อในรอบ 10 ปี ได้เก็บหุ้นพื้นฐานดีในราคาถูก บางคนตกใจก็ต้องตัดขาดทุน (cut loss) ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องมีคือ ‘สติ’ กลับมานั่งดูพอร์ตลงทุนของตัวเอง หากมีพื้นฐานที่ดีก็มีโอกาสกลับมา”
วิธีการลงทุนส่วนตัวของอุษณา ซึ่งมีทั้งพอร์ตหุ้นและพอร์ตการลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการบริหารการลงทุนในโครงการภายใต้บริษัท แต่ละส่วนมีวิธีการแตกต่างกัน แม้เป็นลูกเจ้าสัวหมื่นล้านแต่ก็ยังต้องมีพอร์ตส่วนตัวเพราะมองว่าเป็นการสร้างวินัยทางการเงิน
“การลงทุนเป็นตัวช่วยในการจัดระเบียบวินัยเงินส่วนตัว เพราะหากไม่แบ่งเงินลงทุนให้งอกเงยก็จะถูกอัตราเงินเฟ้อ มาบีบให้ค่าเงินลดลง”
พอร์ตการลงทุนส่วนตัวของอุษณาจึงเน้นที่การลงทุนแบบปลอดภัย ขอเก็บปันผล (return) ไปเรื่อยๆ เน้นสบายใจ ไม่ต้องตื่นเช้ามาคอยลุ้นทุกวัน
หลักการลงทุนของนักบริหารการลงทุนอย่างอุษณาถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน เพื่อลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะสั้น กลาง และระยะยาว โดยแบ่งการลงทุนเป็นพอร์ตที่เน้นการบริหารจัดการลงทุนตามความเสี่ยง ซึ่งพอร์ตระยะสั้นและกลางจะเข้าซื้อหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ขณะที่สัดส่วนระยะยาวจะมุ่งเน้นการจัดสรรเงินเย็น โดยเน้นการลงทุนแบบสมเหตุสมผล มั่นคง เป็นหลัก
การลงทุนระยะยาวที่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่าและปลอดภัย ความเสี่ยงต่ำ ในแนวคิดการลงทุนของอุษณา แบ่งเป็นการลงทุนด้านหุ้น ที่มุ่งเน้นถือกลุ่มธุรกิจที่มีพื้นฐานดี และแบ่งบางส่วนไปลงทุนด้านกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (property fund) เพราะเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนชัดเจน
“การลงทุนด้านกองทุนอสังหาฯ เป็นการลงทุนที่สบายใจ ผลตอบแทนมั่นคง เลือกสินทรัพย์ลงทุนได้ เหมือนการลงทุนหุ้น แต่ไม่หวือหวา สามารถทำกำไรจากทุน และทำกำไรจากเงินปันผล หากซื้อในจังหวะที่ถูก โดยเฉพาะในช่วงที่อสังหาฯ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นขาขึ้น เมื่อซื้อตั้งแต่ราคาถูก ก็มีโอกาสทำกำไร”
อ่านเพิ่มเติมคลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Forbes Life แถมฟรีมาในนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2019 ในรูป e-Magazine