ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แถลงภาวะตลาดหุ้นไทยเดือนเม.ย. กรณีเฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยกระทบไม่มากนัก คาดครึ่งปีหลังแนวโน้มดีหลังเปิดเมือง หนุนเศรษฐกิจฟื้น มองเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทย
ดัชนีตลาดหุ้นไทยเช้าวันที่ 6 พ.ค.2565 ได้รับผลกระทบจากการประกาศขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในอัตราร้อยละ 0.5 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา และส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายน เพื่อสกัดเงินเฟ้อของสหรัฐที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยสิ้นเดือนมีนาคมตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 8.5 อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศยังเชื่อว่าจะมีเงินไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยภายนอกประเทศขณะที่มีความผันผวนมาก เศรษฐกิจแต่ละประเทศฟื้นตัวอย่างไม่เท่าเทียม (K – Shape Recovery) อย่างสหรัฐ และจีน เศรษฐกิจฟื้นตัวดี ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาทยอยฟื้นตัว ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมีผลต่อตลาดหุ้นแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เช่น ตลาดหุ้นเกาหลี และไต้หวัน ได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้ฟื้นตัวตามตลาดสหรัฐฯ สำหรับตลาดหุ้นไทย บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรม และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ดังนั้นจึงมองว่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะเดียวกันจากการปรับคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟที่ปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกลงเหลือร้อยละ 4.4 ขณะที่ปรับเพิ่มการเติบโตของประเทศกำลังพัฒนาสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว จะส่งผลดีให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย หากมีการเปิดรับท่องเที่ยว คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ขณะที่ ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มองว่า ตลาดที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คือตลาดตราสารหนี้ ซึ่งเงินจะไหลไปยังประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า แต่สำหรับตลาดหุ้น การที่มีเงินไหลเข้ามาลงทุนขึ้นอยู่กับศักยภาพในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมในประเทศไทย และหากท่องเที่ยวกลับมา เศรษฐกิจฟื้นตัว จะมีเงินไหลเข้ามาลงทุนส่องตลาดหุ้นไทยหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย
สำหรับภาวะตลาดหุ้นไทย ใน 4 เดือนแรกปี 2565 มีเงินลงทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีการเติบโตสูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อีกทั้งนักวิเคราะห์ยังคงอัตรากำไรต่อหุ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากสิ้นปี 2564 สำหรับ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 SET Index ปิดที่ 1,667.44 จุด ปรับลดลง 1.6% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค และเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2564 SET Index ยังปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในเดือนเมษายน 2565 มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 82,322 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.8 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยใน 4 เดือนแรกปี 2565 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 93,245 ล้านบาท ผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศกลับมามีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดที่ระดับร้อยละ 43.75 ของมูลค่าการซื้อขายรวม ตามด้วยผู้ลงทุนต่างประเทศร้อยละ 41.48 ซึ่งผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่องเป็นเดือนที่ห้า เดือนเมษายน 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 9,780 ล้านบาท ทำให้ใน 4 เดือนแรกปี 2565 ผู้ลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิรวม 118,120 ล้านบาทคาดตลาดครึ่งปีหลังฟื้นตัว
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)กล่าวว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนจากปัจจัยภายนอก ทั้งปัญหาสงครามระหว่างรัสเซีย–ยูเครน การขี้นดอกเบี้ยของเฟด แต่คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะกลับมาเป็นช่วงขาขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทาง ทำให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณผ่านเงินลงทุนของต่างชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว เข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เพื่อลดความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ-ยุโรป ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนเมษายน 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.42 ปรับตัวลดลงร้อยละ 19.1 จากเดือนก่อนหน้า และยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ โดยนักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซีย—ยูเครน รองลงมาคือนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการเก็บภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) “ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ผลกระทบจากสถานการณ์ยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย—ยูเครน ที่ก่อให้เกิดวิกฤติพลังงานและอาหาร และซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อสูงในปัจจุบันซึ่งทำให้ความกังวลต่อการเกิดภาวะ Stagflation สูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด รวมถึงต้องติดตามการล็อกดาวน์ในจีนจากการที่โควิด-19 กลับมาระบาดในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง” ไพบูลย์กล่าว อ่านเพิ่มเติม: BIS หุ้นไบโอเทคเปิดเทรดเหนือจอง 83%ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine