หลักการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ว่า “ไข่ไม่ควรอยู่ในตะกร้าเดียว” เป็นการกระจายความเสี่ยงลงทุนที่ยั่งยืนและใช้ได้ดีตลอดกาล เนื่องจากตลาดทุนไทยเล็กมากเมื่อเทียบกับตลาดทุนนอกประเทศที่กว้างใหญ่ราวกับมหาสมุทร ดังนั้นการลงทุนสำหรับผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth Individual) ควรต้องกระจาย การลงทุนนอกประเทศ ที่มีทางเลือกลงทุนที่หลากหลายกว่า เพื่อปกป้องมูลค่าของทรัพย์สินและเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน
ทั้งนี้แม้การลงทุนต่างประเทศมีปัจจัยความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในประเทศไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก แต่จากสถิติ 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า การลงทุนนอกประเทศ นั้นผลตอบแทนดีกว่า โดยมอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ได้จัดอันดับ 10 กองทุนรวมที่หาผลตอบแทนสูงสุดราย 5 ปี จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2562 ที่ส่วนใหญ่เป็นกองทุนรวมเพื่อลงทุนต่างประเทศ (FIF) (ตาราง 10 อันดับกองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในรอบ 5 ปี) ดังนั้นจึงไม่ประหลาดใจเลยถ้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิ์ (NAV) และจำนวนกอง FIF เพิ่มขึ้นทุกปี นับจากปี 2545 ที่มี FIF เพียง 5 กองทุน มูลค่า NAV 1.68 พันล้านบาทเพิ่มเป็น 668 กองทุน NAV 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 จากสัดส่วน FIF ต่อมูลค่าสินทรัพย์สุทธิกองทุนรวมทั้งอุตสาหกรรม 0.39% ในปี 2545 เป็นประมาณ 1 ล้านล้านบาท 20.91% ในปี 2561 และ 21.49% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 หรือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาทจากกองทุนรวมทั้งหมดประมาณ 5 ล้านล้านบาท (กราฟ: มูลค่าสินทรัพย์สุทธิกองทุน FIF และสัดส่วนและสัดส่วนต่อกองทุนรวม) อย่างไรก็ตามการลงทุนนอกประเทศนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะการลงทุนผ่าน FIF หนทางเดียว ยังมีการลงทุนประเภทอื่น อาทิ การลงทุนหุ้น ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ สตรัคเจอร์โน้ต และทองคำรวมถึงการลงทุนทางเลือกที่นักลงทุนสามารถลงทุนได้โดยตรงโดยการเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ในประเทศ เปิดบัญชีกับธนาคารเพื่อใช้บริการที่ปรึกษาการลงทุนกับไพรเวทแบงกิ้ง ไพรเวท เวลล์ หรืออจะใช้บริการกองทุนรวมซึ่งมีกองทุนให้เลือกหลายประเภทกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ที่มีการให้บริการเพื่อให้ได้ผลตอบแทนและความเสี่ยงแตกต่างกันไป PwC คาดว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายจะยังคงเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องตามความชื่นชอบของลูกค้าที่เปลี่ยนไปที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บุญเลิศ กมลชนกกุล หัวหน้าสายงาน Clients and Markets และหุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชีด้านธุรกิจบริการทางการเงิน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวถึงรายงาน Asset and Wealth Management 2025: The Asia Awakeing ของ PwC ว่า "ภาพรวมของอุตสาหกรรมบริหารสินทรัพย์และความมั่งคั่งของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุนพบว่า มูลค่าสินทรัพย์ภายใต้ การบริหารจัดการ (AUM) ของกองทุนรวมไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 1.53 ล้านล้านบาทในปี 2551 มาอยู่ที่ 5.05 ล้านล้านบาทในปี 2561 แนวโน้มที่ AUM จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการขยายฐานลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูงของบริษัทจัดการลงทุน ขณะที่ปัจจุบันชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อและมีความเข้าใจการลงทุนก็หันมาออมเงินเพื่อการเกษียณอายุกันเพิ่มขึ้น” วันนี้คุณกระจายการลงทุนไปต่างประเทศเพื่อปกป้องและเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินของคุณหรือยัง เรื่อง: เจียรนัย อุตะมะ อ่านให้ครบรสกับ รายงานชุดพิเศษ Special Report OVERSEAS INVESTMENTคลิกเพื่ออ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Forbes Wealth Management & Investing 2019 ในรูป e-Magazine