พิษโควิด-19 ฉุดกำไรทิสโก้ เดินหน้าปรับแผนฝ่าวิกฤต - Forbes Thailand

พิษโควิด-19 ฉุดกำไรทิสโก้ เดินหน้าปรับแผนฝ่าวิกฤต

ทิสโก้ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกกำไรลด 14.2% เหลือ 1.48 พันล้าน โดยยังคงจ่ายเงินปันผลอัตราหุ้นละ 7.75 บาท พร้อมติดตามผลกระทบสถานการณ์ครึ่งปีหลัง ด้านเงินกองทุนระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังแข็งแกร่ง

สุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ในไตรมาส 1 ของปี 2563 มีกำไรสุทธิ 1.48 พันล้านบาท หรือลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว รวมทั้งการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) รายได้ดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวดีขึ้น จากอัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายสัดส่วนสินเชื่อไปยังกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ลดลง รายได้ค่าธรรมเนียมทรงตัว โดยค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์อ่อนตัวลงจากการลดลงของรายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันภัย และค่าธรรมเนียมจากเงินให้สินเชื่อ ในขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น จากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และการออกกองทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นในภาวะที่ตลาดทุนผันผวน ในขณะเดียวกัน บริษัทมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Expected Credit Loss – ECL) เพิ่มขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 14.8% สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 237,872 ล้านบาท ลดลง 2.0% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการชะลอตัวของสินเชื่อทุกภาคธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนตัว
สุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้
อย่างไรก็ดี สินเชื่อจำนำทะเบียนยังคงสามารถเติบโตได้ดี โดยเฉพาะสินเชื่อจำนำทะเบียน ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ซึ่งเติบโต 4.4% เป็นไปตามแผนการขยายธุรกิจและการขยายสาขาสำนักอำนวยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.56% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 189.9% อย่างไรก็ตาม ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งได้ตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.2% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.6% และ 4.6% ตามลำดับ โดยบริษัทได้เตรียมจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 7.75 บาท (สำหรับรอบผลประกอบการวันที่ 1 ม.ค. ถึง 31 ธ.ค. 2562) โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 27 เม.ย. 2563 “ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในปีนี้ คือ เรื่องคุณภาพสินเชื่อ จากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ การชะลอตัวลงของธุรกิจ กฎเกณฑ์มาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มเติมเข้ามา และยังมีความไม่แน่นอนของระยะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากนี้ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในปีนี้อาจแตกต่างจากที่เคยคาดการณ์ไว้”

ประเมินสถานการณ์โควิด-19

สุทัศน์กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างรุนแรง ทั้งภาคการท่องเที่ยว การผลิต การส่งออก การบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งก่อให้เกิดความผันผวนรุนแรงในตลาดการเงินโลกเป็นแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่มีการเติบโตแบบชะลอตัวอยู่ก่อนหน้านี้ให้ถดถอยลงอย่างรุนแรง ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3.0% ถือเป็นการติดลบมากที่สุดในรอบเกือบร้อยปี ขณะที่ กลุ่มทิสโก้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะถดถอยในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปี 2563  ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม 3 ประเด็น ได้แก่ สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า จะมีความรุนแรงเพียงใด และการล็อคดาวน์จะใช้เวลานานเท่าใด ผลของมาตรการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ของทางการ ต่อระบบเศรษฐกิจ ที่คาดว่าจะส่งผลบวก ซึ่งต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการ การเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้จ่ายเงินของประชาชนต่อไป รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ขณะที่กลุ่มทิสโก้ยังคงดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง โดยเน้นคุณภาพสินเชื่อและการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ความร่วมมือสนับสนุนมาตรการต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งดำเนินการบรรเทาภาระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้แก่ลูกค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ การดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย นอกจากนั้น ทิสโก้ยังให้ความสำคัญกับการเดินหน้าสานต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า และรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้ สำหรับลูกค้าที่ต้องการทราบข้อมูลและติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือสามารถดูรายละเอียดและลงทะเบียนได้ผ่านทางเว็บไซต์ของธนาคาร

เงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังแกร่ง

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการประเมินว่า สภาวะแวดล้อมที่อ่อนแอของเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 มีผลกระทบต่อรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ทั้งการปล่อยสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยให้ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส และอาจมีผลกดดันมากขึ้นกว่านี้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศส่วนใหญ่ ต้องหยุดชะงักลง เพื่อให้ทางการสามารถควบคุมหรือสกัดการระบาดของไวรัสโควิด -19 ได้ ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิคาดว่าจะหดตัวลงประมาณ 4.5-5.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ 1-1.5% ซึ่งจะมีผลกดดันต่อเนื่องต่ออัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) ให้มีแนวโน้มชะลอลงมาที่ 2.67-2.70% จากระดับ 2.74% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ไทยไตรมาส 1 ปี 2563 จะขยายตัวในกรอบประมาณ 2.2-2.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน (เทียบกับ 2.3% ในช่วงปลายปี 2562) อย่างไรก็ตาม เงินกองทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งและอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (LCR) ยังอยู่ในระดับสูงถึง 175.28% รวมถึงอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ปี 2562 สูงกว่าเกณฑ์อยู่ที่ 19.3% พร้อมทั้งอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือ NPL Coverage Ratio ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงที่กว่า 134% สถานะสภาพคล่องที่อยู่ในเกณฑ์ดี ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงที่ระมัดระวัง ทำให้คาดว่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะสามารถรับมือกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในรอบนี้ และยังคงยืนหยัดในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงิน และการช่วยเหลือลูกค้าให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกันได้
ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine