บริหารอย่างไรในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว - Forbes Thailand

บริหารอย่างไรในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

จากข้อมูลสถิติและบทวิเคราะห์ขององค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยที่ระบุถึงภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว (Prolonged Economic Slowdown) จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืนของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว การค้าระหว่างประเทศที่ซบเซา ตลาดการเงินและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ผันผวน และปัญหาความขัดแย้งด้านการเมืองหลายภูมิภาคทั่วโลก ความเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากรไปสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการชะลอตัวของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกส่งออกน้ำมัน เช่น จีน รัสเซีย บราซิล ซาอุดิอาระเบีย ดร.สหนนท์ ตั้งเบญจสิริกุล (รองผู้อำนวยการ) และ ดร.วีระชัย วิวัฒน์ชาญกิจ (ที่ปรึกษาอาวุโส) บริษัท ดีลอยท์ (ประเทศไทย) คาดการณ์ว่า อัตราขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (GDP) ตั้งแต่ปี 2559 จะเป็นการเติบโตแบบชะลอตัว (slowdown growth) เฉลี่ย 3.2% และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้นเล็กน้อยที่ 3.0% โดยยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกที่ติดลบอย่างต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าฟื้นตัวล่าช้า หนี้สินภาคครัวเรือนในระดับสูง และการสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันหลายภาคอุตสาหกรรมที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
จากซ้าย: ดร.สหนนท์ ตั้งเบญจสิริกุล, ดร.วีระชัย วิวัฒน์ชาญกิจ
วิธีบริหารจัดการในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ดีลอยท์ (ประเทศไทย) แนะนำขั้นตอนการพัฒนากลยุทธ์ควรเริ่มต้นจากการประเมินสถานการณ์ แนวโน้ม และความน่าจะเป็น ซึ่งครอบคลุมสถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต (A Contingency Plan with Plausible Scenarios) โดยนำปัจจัยภายนอก และภายในองค์กรช่วยในการพัฒนาแผนรับมือต่อเหตุการณ์ในภาวะดังกล่าว โดยเฉพาะผู้บริหารด้านกลยุทธ์องค์กรและด้านวางแผนการเงินจำเป็นต้องร่วมกันประเมินประเมินความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ในอนาคต ระยะเวลา และความรุนแรงของเหตุการณ์ และความน่าจะเป็นที่แต่ละเหตุการณ์จะเกิดขึ้น กรณีเศรษฐกิจชะลอตัวระยะสั้น และผลกระทบไม่รุนแรง การลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น คือ สิ่งที่ผู้บริหารและผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงเป็นลำดับแรก เช่น ค่าใช้จ่ายในการประชุมภายใน การอบรมที่มีความสำคัญน้อย และงานด้านการกระบวนการบริหารต่างๆ ที่ไม่สำคัญ ด้วยการย้ายกระบวนการบางส่วนไปต่างประเทศเพื่อลดค่าใช่จ่าย โดยยังไม่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงาน ซึ่งการลงทุนสำคัญต่างๆ และการสร้างความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าหลักยังมีความสำคัญและต้องทำต่อเนื่อง ทั้งนี้ องค์กรสามารถที่จะลงทุนในด้านการพัฒนาบุคลากรเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้า และพัฒนาการบริการให้ดีขึ้น ภายใต้สภาวะที่ไม่แน่นอนในอนาคต กรณีที่สถานการณ์รุนแรงขึ้นและมีผลกระทบปานกลาง องค์กรควรมุ่งเน้นที่การจัดการด้านบุคลากร เช่น การจ้างงาน การอบรม และการกำหนดค่าตอบแทนต้องดำเนินการอย่างรัดกุม รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน แทนที่จะลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพียงอย่างเดียว ในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างหนัก และเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งโดยปกติ จะมีผลกระทบรุนแรง องค์กรจะต้องควบคุมเรื่องค่าใช้จ่าย การจัดการบุคลากร และการลงทุน อย่างรัดกุม อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารและผู้ประกอบการสามารถมองภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเป็นโอกาสสำหรับการปรับปรุงองค์กร และหาโอกาสขยายธุรกิจ เช่น การนำเทคโนโลยีหรือแนวทางบริหารแบบใหม่มาปรับใช้แทนรูปแบบเดิม การบริหารความเสี่ยง การปรับโครงสร้างบุคลากร การจัดการด้านการเงิน การลงทุนในธุรกิจอื่น หรือการควบรวมกิจการ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว พร้อมคำนึงถึงความเสี่ยงการหมุนเวียนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายการลงทุน ซึ่งแตกต่างตามระดับความรุนแรงและระยะเวลาคาดการณ์เศรษฐกิจชะลอตัว