"ธนาคารทิสโก้" เปิดทริคเลือกประกันสุขภาพฉบับมนุษย์เงินเดือน - Forbes Thailand

"ธนาคารทิสโก้" เปิดทริคเลือกประกันสุขภาพฉบับมนุษย์เงินเดือน

ที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารทิสโก้ แนะวิธีเลือกประกันสุขภาพสำหรับมนุษย์เงินเดือนวางแผนภาษีรับประโยชน์ด้านความคุ้มครองและลดหย่อนภาษีปลายปี

ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวทางการวางแผนภาษีสำหรับพนักงานที่มีรายได้ประจำในปีนี้ นอกจากจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีผ่านการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และซื้อสินค้าผ่านโครงการ “ช้อปดีมีคืน” แล้ว ธนาคารทิสโก้แนะนำให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีผ่านการซื้อประกันสุขภาพให้กับตัวเองและพ่อแม่ เพื่อรับประโยชน์สองต่อ สำหรับประโยชน์ต่อแรก คือ การรับสิทธิลดหย่อนภาษีจากเบี้ยประกันสุขภาพของตัวเองตามที่จ่ายจริงสูงสุดถึง 25,000 บาทต่อปี และสิทธิลดหย่อนภาษีจากค่าเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อ แม่ ตามที่จ่ายจริงรวมกันไม่เกิน 15,000 บาทต่อปี ซึ่งเบี้ยประกันสุขภาพของตัวเองเมื่อนำไปรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วจะต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และเบี้ยประกันสุขภาพที่ซื้อให้พ่อ แม่ มีเงื่อนไขว่าพ่อแม่จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ส่วนประโยชน์ต่อที่สอง คือ การลดความเสี่ยงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร และจะมีค่าใช้จ่ายเท่าใด ซึ่งกรณีมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวนมากก็อาจกระทบต่อเงินเก็บและกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนั้น ณัฐกฤติยังแนะนำการเลือกซื้อประกันสุขภาพของมนุษย์เงินเดือนให้ได้ประโยชน์สูงสุดนับตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้น โดยผู้สนใจควรรวบรวมข้อมูลความคุ้มครองของประกันที่มีอยู่ เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับความคุ้มครองที่มีอยู่เดิม หรือมีความคุ้มครองมากจนเกินจำเป็น ซึ่งปกติพนักงานบริษัทจะมีสวัสดิการประกันกลุ่ม และประกันสังคมที่อาจคุ้มครอง ทั้งด้านสุขภาพ และอุบัติเหตุอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม วงเงินความคุ้มครองเดิมที่มีอยู่อาจไม่มากพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะหากเจ็บป่วยโรคร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง หัวใจ หรือไตวาย รวมถึงข้อจำกัดและความสะดวกสบายของการเลือกใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน เป็นต้น
ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
“เทคนิคง่ายๆ สำหรับคนที่มีสวัสดิการออฟฟิศอยู่แล้ว และมีงบประมาณจ่ายเบี้ยรายปีที่จำกัด แต่ยังต้องการความคุ้มครองสุขภาพสำหรับการรักษาโรคร้ายแรงต่างๆ ในวงเงินสูง และต้องการใช้ประโยชน์ความคุ้มครองจากสวัสดิการนายจ้างหรือบริษัทต้นสังกัดที่มีอยู่แล้ว อาจพิจารณาแบบประกันสุขภาพที่มีความรับผิดส่วนแรก ซึ่งหมายถึงการรับภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลบางส่วนไว้ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นส่วนลดค่าเบี้ยประกันสุขภาพรายปี” ณัฐกฤติกล่าว สำหรับข้อควรพิจารณาในรายละเอียดของกรมธรรม์ก่อนการเลือกซื้อ ได้แก่ วงเงินความคุ้มครองควรมีความคุ้มครองขั้นต่ำราว 3-5 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไปและโรคร้ายแรง และสามารถรักษาในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำได้ ขณะเดียวกันผู้สนใจซื้อประกันยังควรเลือกรูปแบบความคุ้มครองให้เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 แบบ ประกอบด้วย แบบเหมาจ่ายต่อปี เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการทำประกันสุขภาพเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรังจากโรคเดียวกันที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้ระยะเวลารักษานาน ส่วนแบบเหมาจ่ายต่อครั้งจะกำหนดวงเงินค่ารักษาพยาบาลต่อครั้งในการเข้ารับการรักษา แต่ไม่จำกัดวงเงินต่อปี เหมาะกับผู้ที่ต้องการปิดความเสี่ยงค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยบ่อยครั้ง หรือหลายโรคที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันภายในปีกรมธรรม์เดียวกัน ด้านค่าห้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลยังถือเป็นหนึ่งในข้อพิจารณาสำคัญหากต้องการให้ครอบคลุมคุณภาพการรักษาพยาบาลระดับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำก็ควรเลือกแผนประกันสุขภาพที่มีค่าห้องผู้ป่วยปกติต่อวันอย่างน้อย 8,000-10,000 บาทขึ้นไป และควรเผื่อในส่วนของการรักษาตัวในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน (ICU) ด้วย รวมทั้ง ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) ซึ่งผู้ที่ไม่มีสวัสดิการบริษัทจำเป็นต้องมีความคุ้มครองส่วนนี้ นอกจากนั้น ผู้ซื้อประกันยังควรพิจาณาเลือกลักษณะสัญญาการต่ออายุความคุ้มครองแบบปีต่อปี โดยแนะนำให้ทำประกันที่การันตีการต่ออายุ เพื่อเป็นหลักประกันว่าการรักษาจะมีความต่อเนื่องและสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้จนกว่าจะหายเป็นปกติ รวมทั้งพิจารณาข้อกำหนดเกี่ยวกับอายุสูงสุดที่บริษัทจะต่ออายุกรมธรรม์ เพราะหลังเกษียณเป็นช่วงที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากกว่าก่อนเกษียณ พร้อมแนะนำแบบประกันที่สามารถต่ออายุได้เทียบเท่ากับอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยหรือประมาณ 80 ปีเป็นอย่างน้อย และสุดท้ายควรเลือกบริษัทประกันที่มีประวัติการดำเนินกิจการที่มั่นคงและน่าเชื่อถือ ตลอดจนระบบการเคลมสินไหมที่ไม่ยุ่งยากจนเกินไป อ่านเพิ่มเติม: ฉัตรชัย ตั้งจิตตรง ปั้น ‘POMO’ แบรนด์ไทยสู่ตลาดโลก

ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine