ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน พ.ค.ฟื้นสูงสุดในรอบปี - Forbes Thailand

ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน พ.ค.ฟื้นสูงสุดในรอบปี

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยแถลง ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน ..กลับมาสูงสุดในรอบปี เชื่อมาตรการคลายล็อคทำเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด ขณะที่นักลงทุนระยะสั้นกังวลปัจจัยเสี่ยงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน อาจมีแรงเทขายในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจ ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในเดือน ..2563 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนอยู่ที่ 96.93 ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงสุดของปีนี้ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 80.4 หรือเพิ่มขึ้น 21% แต่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) (ค่าดัชนี 80-110) และเพิ่มขึ้นมากจากช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนตกลงไปอยู่ที่ระดับ 50

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ทั้งกลุ่มนักลงทุนรายบุคคล กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ปรับขึ้นทุกกลุ่ม ยกเว้นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ หรือนักลงทุนระยะสั้น ปรับตัวลง 42% มาอยู่ในโซนซบเซา (Bearish) เนื่องจาก 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ ช่วงที่ตลาดหุ้นปรับขึ้นมา 30-40% กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ได้เข้าซื้อพอสมควร อาจมีการเทขายในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า โดยมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ที่คาดว่าจะกระทบมากกว่าไตรมาสแรก

สำหรับนักลงทุน 3 กลุ่มที่มีมุมมองเชิงบวก เนื่องจากเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากประเทศไทยสามารถปลดล็อกมาตรการผ่อนคลายได้เร็วกว่าที่คาดไว้ และยังสามารถควบคุมสถานการณ์ของโรคได้ดี ไม่มีการระบาดระลอกสองเกิดขึ้น

ประกอบกับผลดีจากนโยบายของภาครัฐที่เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการเยียวยา 5,000 บาท มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท รวมถึงมาตรการต่างๆ ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้ามาดูแลตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ผมเห็นว่ามาตรการอย่างช้อป ช่วยชาติควรจะต้องมี เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย โดยเฉพาะคนที่มีกำลังซื้อ ซึ่งที่ผ่านมาได้หยุดการใช้จ่ายเนื่องจากสถานการณ์โควิด หากกระตุ้นให้คนกลุ่มนี้ใช้จ่ายได้ จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ อีกทางหนึ่งรัฐบาลควรทำแผนเชิงรุก เช่น การให้สิทธิลดหย่อนภาษี มาตรการเหล่านี้จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วกว่าการพึ่งนโยบายจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวไพบูลย์กล่าว

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่สุดของตลาดทุนในขณะนี้ คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะลงไปลึกถึงจุดไหน ซึ่งไตรมาสแรกโดยภาพรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนลดลงประมาณ 35%

ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศ มีความกังวลเรื่องหนี้ครัวเรือน และปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งวันนี้ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากมีการยืดหนี้ออกไป 6 เดือน คาดว่าในไตรมาส 4 จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ ในเดือน .. SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือน เม.. จากปัจจัยในประเทศที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของไวรัสคลี่คลาย วงเงิน 400,000 ล้านบาท และปัจจัยนอกประเทศจากการประกาศมาตรการ QE ทั้งในอเมริกาและยุโรป ซึ่งส่งผลให้เงินลงทุนไหลเข้า Emerging market มากขึ้น

โดยช่วงครึ่งเดือนแรกดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1,257-1,299 จุด จากนั้นดัชนีปรับตัวในทิศทางที่เพิ่มขึ้นหลังจากมีการผ่อนคลายล็อคดาวน์ ซึ่งช่วยหนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจ โดย สิ้นเดือนพฤษภาคม 2563 SET index ปิดที่ 1,342.85

ขณะที่ทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสสอง รวมถึงการคลี่คลายของสถานการณ์โรคระบาดและการค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงความกังวลหากโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง

สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ การควบคุมการระบาดของโควิดในช่วงการผ่อนคลายให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้า ผลของมาตรการการเงินการคลัง และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด คือหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจ คือหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย ไม่รวมญี่ปุ่น ที่ขยายตัว 10% ถือว่าดีที่สุดในภูมิภาค โดยตลาดหุ้นไทยมีอัตราการขยายตัว 3% ขณะที่ตลาดหุ้นในเอเชียขยายตัว 1% เนื่องจากไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี ขณะที่หลายประเทศในเอเชียเกิดการระบาดระลอกสอง เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และอินเดีย ที่อยู่ในสถานการณ์ที่น่ากังวล

ขณะที่ภาพรวมในปี 2563 คาดว่าตลาดหุ้นไทยจะติดลบ 15% ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นในเอเชียที่คาดว่าจะติดลบ 14% ตลาดที่ดีที่สุด คือ จีน ที่คาดว่าจะติดลบ 6% ในปีนี้ ด้านทิศทางค่าเงินบาทกลับมาอ่อนที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาค ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลัก แต่เดือน เม..เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น เนื่องจากมีเงินทุนไหลกลับ และการส่งออกทองคำที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ถือว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว

อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ผลจากดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้

ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี อยู่ที่ 0.76% และ 1.17% ตามลำดับ และมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 11 สัปดาห์ข้างหน้า  เนื่องจาก กนง.เพิ่งปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งก่อนและน่าจะมีการประเมินสภาพเศรษฐกิจหลังการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตามอัตราผลตอบแทนอาจปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังจากการออกพันธบัตรของภาครัฐเพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

   
ไม่พลาดบทความด้านธุรกิจ ติดตามได้ที่ Facebook: Forbes Thailand Magazine