ผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าร่วง ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน เหตุนักลงทุนกังวลปัจจัยการเมือง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศล่าช้า เร่งกระตุ้นรัฐบาลฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในเดือนสิงหาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 67.52 ลดลงร้อยละ 21 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ซบเซา ลดลงจากเดือนก่อนหน้านี้ที่อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ทั้งนี้เป็นเพราะนักลงทุนมีความกังวลในปัจจัยการเมือง และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่มีความล่าช้า
“นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายการเงินของสหรัฐ และการไหลเข้าออกของเงินทุน รวมถึงความคาดหวังการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19
สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ปัจจัยรองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอเมริกาและยุโรป”
ไพบูลย์กล่าว
สำหรับความเห็นของนักลงทุนแต่ละกลุ่มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนักลงทุนรายบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งผลสำรวจความเห็นของนักลงทุนต่างชาติมีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับ
“ซบเซาอย่างมาก”
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย
ทั้งนี้ สถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,321.23 – 1,346.69 จุด จากกิจกรรมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว แต่ในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม หลังการประกาศ GDP ไตรมาส 2 ซึ่งหดตัว -12.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ประกอบกับมีความกังวลเรื่องการชุมนุมทางการเมืองในประเทศ ช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน และการระบาดรอบสองของโควิด-19 ในประเทศไทย ทำให้สิ้นเดือนสิงหาคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาอยู่ที่ 1,310.66 จุด
นอกจากนี้ เมื่อเทียบผลประกอบการของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทย -17% อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศที่จัดการแก้ปัญหาโควิดได้ไม่ดี ทั้งที่ประเทศไทยถือว่ามีการจัดการสถานการณ์โควิดได้ค่อนข้างดี เช่นเดียวกับประเทศจีน เกาหลี และไต้หวัน ซึ่งผลประกอบการของตลาดเป็นบวก 11.7 5.8 และ 4.5 ตามลำดับ สะท้อนถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี และมีการเมืองเข้ามาเป็นปัจจัยลบอีก
ไพบูลย์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเร่งเครื่องในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้การใช้จ่ายของภาครัฐ ถือเป็นความหวังเดียวในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ นักลงทุนอยากเห็นมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งขณะนี้หลายมาตรการยังมีความล่าช้า
โดยเฉพาะงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ที่สามารถเบิกจ่ายได้เพียง 4 หมื่นล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาท มีการอนุมัติไปเพียง 1 แสนล้านบาท รวมทั้งงบประมาณประจำปี 2564 ที่ยังไม่ผ่านสภาฯ ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
“ตอนนี้งบประมาณยังไม่ผ่านสภาฯ นักลงทุนเริ่มมีความเป็นห่วงว่าการดำเนินการต่างๆ ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจจะล่าช้า รวมทั้งการเปิดประเทศ ที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ แต่มองว่ามีความจำเป็น อยากเห็นรัฐบาลทำมากกว่านี้ อยากให้รัฐบาลกล้าใช้เงิน เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ พยุงเศรษฐกิจในประเทศ หัวใจสำคัญในตอนนี้คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ ถ้าทำได้ดี จะมีผลตอบรับจากทุกภาคส่วน ต้องเร่งเครื่อง” ไพบูลย์กล่าว

ด้าน
อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนกันยายน 2563 ว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนกันยายนนี้อยู่ที่ระดับ 50 ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับครั้งที่แล้วและอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)”
สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าการประชุม กนง. ในเดือนกันยายนนี้ กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำแล้วและรัฐบาลมีการออกมาตรการด้านต่างๆ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง
อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
ขณะที่ ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 3 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” แม้จะมีการปรับตัวสูงขึ้นจากครั้งก่อน สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงระดับร้อยละ 0.92 และ 1.51 ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (31 ส.ค. 63)
โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ เแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว และอุปทานของพันธบัตรรัฐบาลที่อาจเพิ่มสูงขึ้นจากการออกพันธบัตรเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
อ่านเพิ่มเติม:
Kantar เผยข้อมูลผู้บริโภคไทยและสิ่งที่เจ้าของแบรนด์ในกลุ่ม FMCG ต้องปรับตัว