คนไทยมีเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ...ถึงเวลาต้องวางแผนการเงิน (2) - Forbes Thailand

คนไทยมีเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ...ถึงเวลาต้องวางแผนการเงิน (2)

“คนไทย 70% มีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ” จักรพงษ์ เมษพันธุ์ The Money Coach วิทยากรที่ได้รับเชิญจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวบนเวที SEC Retirement Savings Symposium 2017

จักรพงษ์กล่าวเช่นนั้นโดยนำข้อมูลมาจากการเก็บแบบสอบถามลูกศิษย์ที่เข้ามาร่วมอบรมด้านการเงินกับเขา ซึ่งตัวเลขนี้เรียกว่าเป็นตัวเลขจากกลุ่มคนที่สนใจด้านการเงินจนมาโค้ชชิ่งกับจักรพงษ์ แล้วถ้าเป็นคนกลุ่มอื่นที่ไม่สนใจการเงินมาก่อน...ตัวเลขอาจจะมากยิ่งไปกว่านี้ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ ก.ล.ต.พยายามกระตุ้นให้คนไทยสนใจการเก็บออมเงินโดยมีเป้าหมายที่การเกษียณอายุอย่างมีความสุขและมีเงินเก็บออมเพียงพอต่อการดำรงชีวิต “คนมากมายมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณเพราะคำว่าเกษียณทำให้รู้สึกว่า ‘อีกนาน’ แต่จริงๆ แล้วเงินออมหลังเกษียณต้องเริ่มสะสมตั้งแต่วันแรกที่ทำงานถึงจะมีเพียงพอ” จักรพงษ์กล่าว  

เปิดสูตรการออมเงิน

โค้ชจักรพงษ์เปิดหลักคิดในการออมเงินให้พอใช้หลังเกษียณว่า “เงินพอใช้หลังเกษียณ = รายได้ 1 เดือน ต้องใช้ได้ 1.5 เดือน”
จักรพงษ์ เมษพันธุ์ บนเวที SEC Retirement Savings Symposium 2017
พร้อมเปิดสูตรช่วงเวลาชีวิตในการบริหารการเงิน แบบง่ายๆ ตรงประเด็น โดยแบ่งชีวิตออกเป็น 3 ช่วง คือ 20-30 ปี = อย่าก่อหนี้ สร้างทรัพย์สินด้วยการออมเงิน 20% ของรายได้ต่อเดือน 30-40 ปี = สร้างความมั่นคงทางการเงิน โดยเป็นช่วงเวลาที่มักจะต้องลงทุนซื้อบ้านและรถยนต์ 40-80 ปี = ปลดหนี้ ใช้เงินอย่างมีความสุข จักรพงษ์ขยายความว่า ช่วงอายุ 20-30 ปีเป็นช่วงที่สำคัญมาก ไม่ควรก่อหนี้ใดๆ ไม่ควรซื้อบ้านซื้อรถหากไม่จำเป็น หรือถ้าหากมีความจำเป็นและภาระต่างๆ ต้องเก็บเงินให้ได้อย่างน้อยที่สุด 10% ของรายได้ และไม่ลืมแบ่งเวลาศึกษาเรื่องการลงทุนเพิ่มเติม “สมัยนี้การเก็บออมเงินต่างจากสมัยก่อน เพราะสมัยก่อนดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารสูง 5-10% ดังนั้นสูตรการเก็บออมไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำงานหนักแล้วเก็บออมในบัญชีก็พอ แต่สมัยนี้ดอกเบี้ยเงินฝากเหลือแค่ 0.5% แปลว่าสูตรต้องเพิ่มขึ้นอีกข้อ คือ ทำงานหนัก เก็บออม และศึกษาเรื่องการลงทุน ความรู้ทางการเงินสำคัญมากในขณะนี้จนถึง 10 ปีข้างหน้า สถานการณ์โลกเปลี่ยนไปแล้วและคนที่มีความรู้จะได้เปรียบ” จักรพงษ์อธิบาย นอกจากนี้ยังต้องรู้จักบริหารสภาพคล่องเพื่อให้ยังมีเงินเหลือเก็บ รู้จักจัดการความเสี่ยงโดยเผื่อเงินสำรองใช้ฉุกเฉินได้ 6-12 เดือนหากมีเหตุไม่คาดฝัน และสุดท้ายคือการวางแผนสำหรับการเกษียณ “ยิ่งต้องการเกษียณรวยมากหรือเร็วมาก ยิ่งต้องศึกษาการลงทุน เพื่อจะลงทุนให้ได้มากกว่าขั้นพื้นฐานของคนทั่วไป”  

วางแผนเกษียณอย่างมีสุข

สำหรับแผนเกษียณที่เป็นสิ่งสำคัญมาก จักรพงษ์มองว่าให้เริ่มคิดจากค่าใช้จ่ายที่เป็นไปได้ในบั้นปลายชีวิตก่อน โดยส่วนใหญ่วิถีชีวิตของผู้สูงอายุจะทำให้หมวดค่าใช้จ่ายเปลี่ยนไปจากสมัยหนุ่มสาว นั่นคือค่าเดินทางและค่าอาหารจะลดลง ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลและกิจกรรมสันทนาการจะเพิ่มขึ้น ดังนั้นถ้าคาดว่าหลังเกษียณแล้วจะหมดภาระค่าผ่อนรถหรือผ่อนบ้าน ก็สามารถนำค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าสันทนาการที่คาดว่าจะใช้จ่ายมาบวกกันได้เลย จากนั้นจึงคูณด้วยอัตราเงินเฟ้อ ตัวอย่างเช่น นาย A อายุ 30 ปี คาดว่าจะใช้จ่ายหลังเกษียณ 20,000 บาท/เดือน x 12 เดือน x 20 ปี (คาดว่าจะมีอายุถึง 80 ปี) = 4.8 ล้านบาท คูณด้วยอัตราเงินเฟ้อ x1.8 = 8.64 ล้านบาท คือค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่ต้องเตรียม อีก 30 ปี หรือ 360 เดือน นาย A จะถึงวัยเกษียณ ทำให้ต้องเก็บเงินเฉลี่ยเดือนละ 24,000 บาท ดูเป็นตัวเลขที่สูงมาก แต่จักรพงษ์แนะนำว่าเครื่องมือทางการเงินอย่าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่ลงทุนแล้วได้รับเงินสมทบจากนายจ้าง 100% และยังมีอัตราเติบโตจากการลงทุนที่ทบต้นเพิ่มพูนทุกปี จะเป็นเครื่องมือที่ดีมากในการเก็บออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณอายุ “ถ้าเลือกเก็บเงิน 15% เข้าในกองทุน PVD จะทำให้มีเงินใช้หลังเกษียณได้สบายๆ” จักรพงษ์กล่าวปิดท้าย   อ่านเพิ่มเติม: คนไทยมีเงินออมไม่พอใช้หลังเกษียณ...ถึงเวลาต้องวางแผนการเงิน (1)