จากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ผลพวงจากการระบาดของโควิด 19 จนถึงกระแสดิสรัปชั่นที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในหลายภาคส่วน ได้ทำให้ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เดินหน้าธุรกิจอย่างระมัดระวัง เน้น “ปรับตัว” รองรับกับการเปลี่ยนแปลง มุ่งทำธุรกิจทำกำไร มั่นใจปี 2564 สามารถทำกำไร new high ได้
ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC กล่าวว่า สิ่งที่ KTC ต้องทำปี 2564 คือ ต้องปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นในวันนี้ ไม่แน่ใจว่าบริษัทจะเห็นหมดหรือยัง โดยบริษัทเชื่อว่า ยังมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นเรื่อยๆนับจากนี้ ดังนั้น หากใครปรับตัวได้เร็วกว่า ก็จะได้เปรียบมากกว่าคนอื่น “เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ...กลยุทธ์ของเราที่ทำอยู่คือ ถ้ามันไม่เสร็จ เราจะไม่ประกาศ ดังนั้น สิ่งที่เราประกาศคือ สิ่งที่ทำเสร็จแล้ว” ระเฑียร กล่าว กลยุทธ์หลักๆ ของ KTC ปี 2564 คือ ปรับตัวเข้ากับภาวะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะดิสรัปชั่นภายใต้ 2 ธุรกิจหลักคือ ธุรกิจ payment โดยจะเข้าไปดูใน eco system สนับสนุนในตัว payment ของบริษัทให้มีธุรกรรมใหญ่ขึ้น แล้วทำกำไรมากขึ้น ส่วนอีกธุรกิจก็คือ สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหลักประกัน “เราก็มั่นใจว่า ในปีนี้ เราจะสามารถทำกำไรที่เป็น new high ได้” ระเฑียร กล่าว ระเฑียร บอกว่า KTC จำเป็นต้องเร่งเปลี่ยนแปลงองค์กรแบบก้าวกระโดด สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ให้บริษัทเติบโตได้มากขึ้นและเร็วขึ้น คู่ขนานไปกับการทำธุรกิจเดิม เน้นทำกำไรแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อสร้างคลื่นใต้น้ำจนเป็นพลังคลื่นลูกใหญ่รับเกมธุรกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Infinite Game) โดยจะมุ่งขยายขอบเขตธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันที่หลากหลาย เพื่อให้เป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในตลาดที่ผู้บริโภคมองหา ซึ่งการเข้าถือหุ้นในบริษัท กรุงไทยธุรกิจลีสซิ่ง จำกัด หรือ เคทีบี ลีสซิ่ง ถึงร้อยละ 75.05 จะทำให้บริษัทสามารถทำธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งทุกประเภท ต่อยอดธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันได้อย่างครบวงจร และยังได้ใช้ประโยชน์จากสาขาและฐานลูกค้าที่มีอยู่เดิม โดยบริษัทฯ จะเข้าไปศึกษาระบบในเคทีบี ลีสซิ่ง และคาดว่าจะเริ่มออกแบบโมเดลธุรกิจได้หลังจากผ่านการประชุมผู้ถือหุ้น ขณะที่ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ถึงแม้จะเป็นธุรกิจน้องเล็กที่เพิ่งเข้ามาเมื่อปลายปี 2563 แต่บริษัทคาดหวังจะมุ่งขยายตลาดเป็นหลักในปี 2564 ด้วยความที่เป็นสินเชื่อมีหลักประกันซึ่งมีความสี่ยงต่ำ และให้ผลตอบแทนรวดเร็วสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยจะเน้นทำการตลาดผ่านระบบออนไลน์ มีทีมงาน “พี่เบิ้ม Delivery” ติดต่อประสานงานกับลูกค้าเป้าหมายโดยตรง พร้อมแผนขยายพื้นที่ให้บริการไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น เริ่มต้นที่ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบนและภาคใต้ตอนบน อีกทั้งร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจและธนาคารกรุงไทยขยายฐานสมาชิกและออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ ตลอดจนร่วมมือกับเคทีบี ลีสซิ่ง เพื่อหาโอกาสต่อยอดและสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถร่วมกัน เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการกลุ่มเป้าหมายและสร้างประสบการณ์ที่ดี ด้วยเป้าหมายยอดสินเชื่อในปี 2564 ประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจเดิม ซึ่งเป็นบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล บริษัทฯ จะมุ่งรักษาคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ที่ดี เน้นรักษาฐานสมาชิกปัจจุบันด้วยการสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านกิจกรรมส่งเสริมการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งให้ความสำคัญกับระบบปฏิบัติการและระบบไอทีที่มีเสถียรภาพ เพื่อให้สมาชิกเกิดความมั่นใจและได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยทุกครั้งที่ทำรายการธุรกรรม โดยกลยุทธ์หลักในการทำตลาดธุรกิจบัตรเครดิต จะยังใช้คะแนน KTC FOREVER ขับเคลื่อนกิจกรรมการตลาด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการใช้จ่ายผ่านบัตร อีกทั้งรักษาและขยายความแข็งแรงของเครือข่ายพันธมิตรคู่ค้า เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร และสนับสนุนการเติบโตของพันธมิตรด้วยผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ของเคทีซี เน้นส่งเสริมการตลาดในลักษณะออนไลน์มากขึ้น ตอบโจทย์พฤติกรรมการใช้บัตรของผู้บริโภคปัจจุบัน ที่เปลี่ยนจากใช้เงินสดมาจ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมถึงสร้างคอนเทนท์ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีผ่านช่องทางสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ โดยตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายในปี 2564 เติบโตร้อยละ 8 หรือประมาณ 210,000 ล้านบาท สำหรับผลประกอบการ KTC สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กำไรสุทธิ 5,332 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ย ค้างรับรวมเท่ากับ 90,149 ล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อรวมเท่ากับร้อยละ 1.8 ฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี แบ่งเป็นธุรกิจบัตรเครดิต 2,575,684 บัตร สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 60,235 ล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิตร้อยละ 1.3 ธุรกิจสินเชื่อบุคคลมีจำนวนทั้งสิ้น 814,329 บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 29,915 ล้านบาท NPL ต่อเงินให้สินเชื่อลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเท่ากับร้อยละ 2.7 รายงานโดย: บำรุง อำนาจเจริญฤทธิ์ อ่านเพิ่มเติม: 5 เทคนิค “ปั้นแบรนด์” บนทวิตเตอร์ไม่พลาดเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ของเรา ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine