แนวโน้มเศรษฐกิจไทยหลังสงกรานต์ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อในประเทศที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสูง แบงก์ชาติจับตาราคาอาหารสำเร็จรูปพุ่ง กดดันเงินเฟ้อ
หลังผ่านพ้นเทศกาลสงกรานต์ 13 – 17 เมษายน 2566 ซึ่งหอการค้าไทย ประเมินว่าจะมีเงินสะพัด 1.25 แสนล้านบาท ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเดินทางเกือบ 4 ล้านคน ซึ่งแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามา เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 28 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม แบงก์ชาติได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยเติบโตลดลงจากร้อยละ 3.7 เหลือ 3.6 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากการส่งออกและปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ
สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวว่า การปรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงเหลือร้อยละ 3.6 ในปีนี้ จากตัวเลขการส่งออกที่ชะลอตัวในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2565 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น จากปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก จึงปรับมูลค่าการส่งออกในปีนี้ติดลบร้อยละ 0.7 แต่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นต้นไป และกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2567 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3
กลุ่มอิเลกทรอนิกส์ – ปิโตรเคมีฟื้นตัวช้า
สำหรับอุตสาหกรรมส่งออกของไทยที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องจักร กลุ่มที่ทยอยฟื้นตัว ได้แก่ กลุ่มสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งได้อานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน รวมถึงภาคบริการ ส่วนกลุ่มที่ฟื้นตัวช้า ได้แก่ กลุ่มอิเลกทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ ที่ชะลอตัว เนื่องจากเป็นขาลงของการ Work from Home รวมถึงกลุ่มปิโตรเคมี ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายลดการนำเข้าของจีน
“การส่งออกชะลอตัวมากกว่าที่คาดในช่วงไตรมาสที่ 4 ทำให้ต้องปรับประมาณการตัวเลขใหม่ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในเดือนม.ค. – ก.พ. ที่ผ่านมา และจะเริ่มชัดเจนในไตรมาส 2 3 และ 4 และฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปี 2567 จากตัวเลขดัชนีภาคผลิตในแต่ละประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะอาเซียน และจีน” สักกะภพกล่าว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นจากแรงส่งของภาคบริการเป็นหลัก รวมถึงจีนที่มีการเปิดประเทศเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง และปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูง
ปัจจัยเสี่ยงเงินเฟ้อพื้นฐาน
สุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายการเงิน กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงตามคาด และเริ่มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2.4 ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 และที่ 2.0 ในปี 2567 แม้จะปรับลดลงแต่ยังมีแนวโน้มในระดับสูง ซึ่งมีความเสี่ยงจากอุปสงส์ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงต้นทุนด้านพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและต้องจับตาการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเผชิญภาวะต้นทุนสูงต่อเนื่อง แต่ยังคงอั้นไม่ปรับราคา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่ม
ทั้งนี้ ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดเดือนมี.ค. 66 ชี้ว่า ราคาอาหารสำเร็จรูปยังปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ตามต้นทุนที่ยังสูงอยู่ในระดับสูง และจากการสำรวจผู้ประกอบการ มีสินค้าและบริการบางส่วนที่ยังไม่ได้ปรับราคา เช่น อาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงอาหาร กลุ่มโรงแรม ที่พัก และบริการด้านอาหาร ซึ่งมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงส์ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามา
“เศรษฐกิจไทยปรับเข้าสู่ช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว มีการฟื้นตัวต่อเนื่องและกระจายตัวได้ดี อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ทำให้แรงงานอิสระกลับเข้าสู่ระบบ สะท้อนผ่านตัวเลขการจ้างงานในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องจับตาหมวดอาหารสำเร็จรูปและภาคบริการต่อไป เพื่อไม่ให้กระทบกลุ่มเปราะบาง”
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2566 มีมติให้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี และมีแนวโน้มปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้กระทบกับกลุ่มเปราะบาง รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์ปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ ที่แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินของไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ต้องติดตามสถานการณ์และผลกระทบในระยะข้างหน้า
มุมมองการลงทุนไตรมาส 2
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนเอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) จัดทำรายงานมุมมองการลงทุนไตรมาส 2 ปี 2566 ระบุว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยไตรมาส 2 มีมุมมองเคลื่อนไหวปรับตัวดีขึ้นตามปัจจัยในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในปีนี้ 25 – 30 ล้านคน
ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 3.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4 การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.1 และ 3.7 ตามลำดับ
“แม้แนวโน้มเงินลงทุนจากต่างชาติตั้งแต่ต้นปีจะไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง มียอดขายสุทธิอยู่ที่ -56,876.12 ล้านบาท (ข้อมูล 31 มี.ค. 66) แต่เรามองว่ากระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติมีโอกาสไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยได้ เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว”
สำหรับภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดไตรมาส 1/66 SET INDEX อยู่ที่ระดับ 1,609.17 จุด จากระดับ 1668.66 จุด ณ สิ้นปี 2565 หรือปรับตัวลดลงร้อยละ 3.56 ซึ่งทิศทางตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวตามปัจจัยจากต่างประเทศ โดยมีปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความกังวลสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่อาจส่งผลต่อการส่งออกของไทย ปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เช่น รัสเซียกับยูเครน ปัญหาสถาบันการเงินขาดสภาพคล่องทั้งในสหรัฐและยุโรป และปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งยังต้องติดตามต่อไป
อ่านเพิ่มเติม: ซีพีเอฟ ดันธุรกิจอาหาร CPFGS นับหนึ่งเข้าตลาดฯ
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine