กลุ่มบริษัท Ingress Corporation Berhad (ICB) จากมาเลเซีย ส่ง INGRS หรือ บมจ. อิงเกรส อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นโฮลดิ้งธุรกิจผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เข้าระดมทุนจากตลาด SET ตามกฎเกณฑ์ Primary Listing ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก หวังขยับปีกเติบโตเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับ ASEAN ที่พร้อมตีตลาดทั่วโลก
Ingress Corporation Berhad (ICB) เป็นบริษัทโฮลดิ้งสัญชาติมาเลเซียที่ลงทุนในหลายธุรกิจ ทั้งกลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งมีการดำเนินงานในประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนธุรกิจผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์ ธุรกิจนายหน้าซื้อขายรถยนต์ ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรมพลังงานและการขนส่งทางราง โดย ณ สิ้น มกราคม 2560 กลุ่ม ICB มีขนาดรายได้รวมทุกกลุ่มธุรกิจที่ 7.348 พันล้านบาท และสินทรัพย์รวม 4.8 พันล้านบาท หลังจากเพิกถอนการจดทะเบียน (delist) ธุรกิจออกจากตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียเมื่อหลายปีก่อน Datuk Rameli Musa ผู้ก่อตั้งและรองประธาน บมจ. อิงเกรส อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) หรือ INGRS กล่าวว่า ICB ออกจากตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียหลายปีก่อนเพื่อปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจให้ชัดเจน แยกกลุ่มบริษัทที่สร้างรายได้ออกจากกลุ่มที่รายได้มีความไม่แน่นอน หลังจากนั้นจึงนำกลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ (Automotive Components Manufacturing: ACM) ที่มีรายได้สม่ำเสมอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้จึงถือเป็นการเสนอขายหุ้นของบริษัทต่างประเทศที่ไม่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์ซื้อขายในตลาดต่างประเทศหรือ primary listing รายแรกของตลาดทุนไทยด้วย “เราศึกษาความเป็นไปได้ทั้งตลาดหุ้นฮ่องกง สิงคโปร์ ไทย อินโดนีเซีย ที่ตัดสินใจเลือกเมืองไทยเพราะเป็นหนึ่งในศูนย์กลางด้านการผลิตรถยนต์ (automotive hub) ของโลก มีตลาดภายในประเทศแข็งแรง โดยเราตั้งฐานการผลิตที่นี่ตั้งแต่ปี 2539 นานถึง 21 ปี โดยรับการสนับสนุนจากบีโอไอ รวมถึงตลาดทุนไทยมีความแข็งแกร่งและมีมาตรฐานสูงในการกำกับดูแลและธรรมภิบาลจึงช่วยให้ระดมทุนเพื่อการผลิตและส่งออกชิ้นส่วนไปทั่วประเทศในอาเซียน รวมถึงอินเดียซึ่งมี bilateral trade agreement กับไทยดังนั้นที่นี่จึงเหมาะสมที่สุด” ด้วยเหตุนี้ INGRS จึงจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยในปี 2557 เพื่อเป็นโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์โดยมี ICB เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในปี 2559 ได้เปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชน ด้วยทุนจดทะเบียน1.45 ล้านบาท ชำระแล้ว 1.19 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ 1 บาทมีการถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมในบริษัทย่อยและบริษัทเกี่ยวเนื่องรวม 9 บริษัทโดยลงทุนธุรกิจใน เมเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย ผ่าน Ingress Industrial (Malaysia) Sdn. Bhd. ซึ่งบริษัท INGRS ถือหุ้น 100% INGRS จะเสนอขายหุ้นสามัญจำนวนไม่เกิน 578.44 ล้านหุ้น (40% ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้ว) ซึ่งประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 261.56 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่ถือโดย ICB จำนวนไม่เกิน 316.88 ล้านหุ้น หลังไอพีโอ ICB จะลดสัดส่วนลงเหลือ 60% Dato’ Dr.Ab Wahab Ismail กรรมการแห่ง INGRS กล่าวว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นไอพีโอประมาณ 30% จะใช้สำหรับการชำระคืนเงินกู้ ส่วนที่เหลือราว 70% จะนำไปขยายธุรกิจและเป็นเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งบริษัทเพิ่งขยายกำลังการผลิตแม่พิมพ์สินค้าขึ้นรูปขนาดกลางที่จังหวัดระยอง เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเพิ่มเติมจากแม่พิมพ์สินค้าขึ้นรูปขนาดเล็กเมื่อปีที่ผ่านมา มีแผนขยายกำลังการผลิตที่มาเลเซีย อยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนเครื่องปั๊มขึ้นรูปสินค้าขนาดกลางที่อินโดนีเซียเพิ่มเติม ส่วนที่อินเดียกำลังศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับพันธมิตรในการลงทุนเพิ่มเติม “เราสนใจอินเดียมาก ขนาดตลาดใหญ่และเติบโตเร็ว ทุกวันนี้กลุ่มประเทศ ASEAN 10 ประเทศมียอดขายรถยนต์รวมกันปีละ 3.1 ล้านคัน แต่ยอดขายรถยนต์ในอินเดียเพียงประเทศเดียวก็ปีละ 3.7 ล้านคัน ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ พากันย้ายฐานการผลิตไปที่นี่ โดยมีกำลังการผลิตรถในอินเดียประมาณ 5 ล้านคันต่อปี” ปัจจุบัน INGRS มีการลงทุนในอินเดียที่ New Delhi ผ่านบริษัทลูกที่มาเลเซีย โดย INGRS เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคซึ่งจะได้รับผลตอบแทนใน 2 รูปแบบ คือ รายได้ปันผล และรายได้ค่าบริการทางด้านเทคนิค นอกจากนี้บริษัทยังมีจุดแข็งด้านความชำนาญทางเทคโนโลยีที่ได้รับการถ่ายทอดจากพันธมิตรญี่ปุ่นชั้นนำถึง 3 บริษัทที่มีความใกล้ชิดกันมานานกว่า 25 ปี เป็นปัจจัยช่วยให้มีการเติบโต เนื่องด้วยตลาดรถยนต์ในเอเชียเป็นตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นถึง 80% Dato’ Dr.Ab Wahab Ismail กล่าวว่า บริษัทวางแผนสำหรับอนาคตตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน หลังจากธุรกิจรถยนต์ของบริษัทถูกกระทบในหลายประเทศ โดยความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่ในไทยลดต่ำลงหลังวิกฤตน้ำท่วมและโครงการรถยนต์คันแรกตามนโยบายรัฐบาลจบลง รวมถึงจากปัจจัยที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำด้วย ส่วนในมาเลเซียได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันตกต่าทำให้กำลังซื้อลดลงฮวบฮาบ การใช้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนธนาคารกลางมาเลเซียเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ส่วนอินโดนีเซียมีการเลือกประธานาธิบดีใหม่ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองไม่นิ่งอีกทั้งอัตราการว่างงานสูง แต่ค่าแรงขั้นต่ำากลับสูงที่สุดใน ASEAN “เป็นช่วง 3 ปีที่ยากลำบาก บริษัทมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลือมาก แต่ยังประคองผลการดำเนินงานให้มีกำไรได้ด้วยการลดต้นทุนครั้งใหญ่ ทั้งการนาระบบอัตโนมัติมาใช้ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานช่วยเพิ่มความสม่ำเสมอของคุณภาพสินค้า เพิ่มอัตราความปลอดภัย ทำให้ต้นทุนลดลงได้ 2-4% การพัฒนาเครื่องมือจับยึดและแม่พิมพ์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศโดยได้รับความช่วยเหลือจาก Katayama พันธมิตรญี่ปุ่น ซึ่งลดต้นทุนการซื้อเครื่องจักรได้ถึง 30-40% ทั้งในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดียสามารถผลิตส่งสินค้ากลับไปขายให้พันธมิตรหลักที่ญี่ปุ่นได้ โดยมีต้นทุนการผลิตที่แข่งขันกับคู่แข่งที่จีนและอินเดียได้” Dato’ Dr.Ab Wahab Ismail กล่าวทิ้งท้ายว่า นับจากนี้บริษัทจะมีทิศทางดีขึ้น ใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ขึ้นโดยมีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม มีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าในเชิงรุกเพื่อรับงานเพิ่มขึ้นในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และอินเดียคลิกอ่านบทความทางด้านการลงทุนได้ที่ Wealth Management & Investing 2017 ฉบับ มิถุนายน 2560 ในรูปแบบ e-Magazine