เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล ก่อ "แสงฟ้า" ให้สว่างไสวถึงหมื่นล้าน - Forbes Thailand

เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล ก่อ "แสงฟ้า" ให้สว่างไสวถึงหมื่นล้าน

อดีตอาจารย์แพทย์วัย 48 ปี เชิดศักดิ์แห่งแสงฟ้าก่อสร้าง ผู้เลือกเส้นทางกู้วิกฤตให้ธุรกิจของครอบครัวหลุดพ้นจากภาระหนี้รุมเร้าเมื่อครั้งฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก วางมาตรฐานใหม่ที่ทั้งช่วยลดต้นทุนพร้อมส่งมอบคุณภาพแน่น ด้วยหวังพุ่งถึง 1 หมื่นล้านภายใน 2 ปีข้างหน้า

เกือบ 50 ปีแล้ว ที่ สุกิจ อัมพรสุขสกุล (อู ถิงกวง) เริ่มตั้งเสาเอกในธุรกิจก่อสร้างของตัวเองในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด แสงฟ้าอุตสาหกรรม ในปี 2510 (เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด ในปี 2512) แต่กว่าจะก่อร่างกิจการขึ้นได้นั้น ตัวเขาในฐานะชาวจีนผู้ถือกำเนิดที่มณฑล Guangdong ก็ผ่านความยากลำบากมาไม่น้อย ด้วยวิบากกรรมจากชีวิตส่วนตัวและการเมืองของประเทศจีนกลายเป็นแรงผลักดันให้สุกิจก่อกำเนิดธุรกิจของตัวเองขึ้น ในวันนี้ธุรกิจก่อสร้างที่เชี่ยวชาญด้านอาคารสูง บริหารงานโดยทายาทรุ่น 2 เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล กรรมการผู้จัดการ บจ.แสงฟ้าก่อสร้าง วัย 48 ปี ผู้หันหลังให้กับวิชาชีพด้านการแพทย์ที่เคยร่ำเรียนเพื่อมาฟื้นฟูกิจการที่ก่อตั้งโดยผู้เป็นบิดา จากที่มีหนี้สินพอกพูนเมื่อครั้งวิกฤตฟองสบู่แตกในปี 2540 จนทำให้กิจการมีรายได้เติบโตเฉลี่ยสองเท่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนทะลุ 4.5 พันล้านบาทในปี 2560 สำหรับปีนี้บริษัทมีโครงการในมือที่จะส่งมอบในอนาคต (backlog) ที่มูลค่าเกือบ 6 พันล้านบาท จึงคาดว่าภายในสิ้นปีนี้น่าจะทำรายได้ถึงราว 5.5 พันล้านบาท และเชิดศักดิ์คาดหวังว่าบริษัทจะทำรายได้แตะ 1 หมื่นล้านบาทภายในปี 2563
เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด วัย 48 ปี
เชิดศักด์เล่าย้อนไปถึงจุดเปลี่ยนสำคัญก่อนจะมาเป็นแสงฟ้าฯ ดังเช่นวันนี้อีกว่า หลังจากที่สุกิจเริ่มต้นจากการรับจ้างทำงานโครงสร้างหลังคามาได้สักระยะ ก็เริ่มรับงานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น งานก่อสร้างไซโลที่ใช้เก็บพืชผลการเกษตร จนเป็นดังบันไดสู่โอกาสใหม่ เนื่องจากงานไซโลของ Centaco Group ที่รังสิตไปเตะตานายช่างของ บมจ.ปูนซีเมนต์ไทย (SCG) ที่ขับรถผ่านตอนไปสระบุรี เพราะประทับใจที่ทำงานเร็วและเรียบร้อย จึงเป็นที่มาของการติดต่อให้แสงฟ้าฯ ไปรับจ้างทำงานก่อสร้างโรงปูนแห่งแรก และกลายเป็นใบเบิกทางให้แสงห้าฯ ได้รับงานจาก SCG อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้ร่วมประมูลและชนะการประมูลเป็นผู้ก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ SCG ที่บางซื่อ ด้วยรากฐานที่เริ่มรับงานสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ให้แก่ SCG ในครั้งนั้น จึงพลิกผันให้บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง สู่การเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารสูงมากขึ้น แต่ยังผสมผสานกับด้านโรงงานอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา แม้ว่าบริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จะดำเนินกิจการแบบอนุรักษนิยม ไม่สร้างภาระหนี้ต่างประเทศ และไม่รับงานด้านที่อยู่อาศัยแนวราบ เช่น หมู่บ้านจัดสรร แต่ด้วยงานด้านที่อยู่อาศัยอาคารสูงก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้ธุรกิจซวนเซไม่น้อยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540  

ล้างหนี้ฟื้นกิจการ

ก่อนตัดสินใจเดินหน้าเข้ากอบกู้บริษัทแสงฟ้าก่อสร้างให้ผ่านพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เชิดศักดิ์หาเลี้ยงชีพจากวิชาการแพทย์ที่ร่ำเรียนมาได้ราว 2 ปีในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แต่ด้วยบทบาทในฐานะลูกชายคนโต (เป็นบุตรชายคนที่ 2 รองจากพี่สาวคนโต) จึงเลือกวางมือจากงานประจำที่ทำอยู่ แล้วมาเริ่มคลี่คลายปัญหาก่อน ด้วยการเริ่มต้นเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้และเจ้าหนี้การค้า “ด้วยความที่เราเป็นเจ้าของกิจการชาวจีน ก็ยืนหยัดที่จะพยายามจ่ายหนี้คืน...ผมจึงเปิดห้องคุยกับเจ้าหนี้ทุกราย เพื่อยืนยันจำนวนหนี้ที่ถูกต้องแล้วถามเจ้าหนี้ว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะขอ pending หนี้เก่าไว้ก่อน ไม่ต้องโทรมาทวงหนี้ตอนนี้ แต่ผมไม่หนีไปไหน แค่ขอให้ส่งของสำหรับงานใหม่ให้เราต่อ ถ้าเรามีรายได้เข้ามาเราก็จะชำระหนี้คืนทั้งหมด” ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งหาโครงการใหม่มาสร้างรายได้ด้วย โดยเชิดศักดิ์เล่าถึงเดิมพันครั้งแรกที่ตัวเขามาช่วยกิจการของครอบครัวว่า จากข่าวที่ทาง บมจ.เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จะทำโครงการ Hampton Thonglor 10 ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยแนวสูง 30 ชั้น เขาตัดสินใจที่จะเข้าไปประมูลงานรับเหมาก่อสร้างครั้งนี้
Hampton Thonglor 10 โครงการที่แสงฟ้าฯ เข้าประมูลและก่อสร้างหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เพื่อนำรายได้กลับมาฟื้นบริษัท (PHOTO CREDIT: hamptonthonglor10.com)
“แม้ไม่เคยรับงานของเมเจอร์ฯ มาก่อน แต่ผมก็ถามคุณสุริยน (พูลวรลักษณ์ ซีอีโอ เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์) ตรงๆ ว่า ถ้าแสงฟ้าฯ ประมูลในราคาต่ำสุดจะให้เราทำงานนี้แน่นอนไหม หรือแค่เอาราคาไปต่อรองเพื่อให้คนอื่นทำ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะไม่ประมูลเพราะว่าเงินทุกบาทที่มาใช้ประมูลมีค่ามาก แต่ถ้ารับปากว่าจะให้เราทำแน่ๆ ถ้าเสนอต่ำสุด ก็จะตั้งใจทำข้อเสนอมาอย่างดี สุดท้ายเราก็โชคดีได้งานนี้มา และโชคดีที่คุณสุริยนยืนยันตามนั้น” ด้วยความพยายามของผู้บริหารที่ใส่ความทุ่มเทไปจนสุดความสามารถ ทำให้ผลงานและกำไรที่เกิดขึ้นจากโครงการ Hampton Thonglor 10 เป็นไปอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ ช่วยให้สถานะของบริษัทฟื้นตัวดีขึ้นบ้าง กระทั่งใช้เวลาเยียวยาสถานการณ์ราว 4-5 ปี ก็ทำให้สถานะกิจการเข้าสู่ภาวะปกติ  

ยกเครื่องวางมาตรฐาน

ด้วยพื้นฐานที่ธุรกิจก่อสร้างต้องสู้กันเรื่องราคา ทำให้เดิมบริษัทไม่เคยทำกำไรได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะมีปัจจัยมากมายที่ทำให้ไม่สามารถควบคุมงบประมาณการก่อสร้างได้ จนถึงเมื่อปี 2555 เชิดศักดิ์จึงค้นพบทางออกว่าต้องทำธุรกิจก่อสร้างเป็น ระบบอุตสาหกรรม “เดิมการทำก่อสร้างไม่ใช่ระบบแบบนี้เพราะตึกหนึ่งจะเสร็จได้มีไลน์การผลิตมากมาย จนไม่รู้ว่าต้องไปควบคุมตรงไหนกลายเป็น pain point ที่ทำให้ทุกครั้ง การประมูลงานเหมือนซื้อลอตเตอรี่ที่ไม่รู้ว่าจบโครงการแล้วจะกำไรหรือขาดทุน”
โครงการแม่น้ำ เรสซิเดนท์ (Menam Residences) ที่ใช้นวัตกรรมการก่อสร้างอาคารสูงพิเศษ (super tower) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยบริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด
เมื่อเชิดศักดิ์ค้นพบว่าการดำเนินงานในแบบฉบับของอุตสาหกรรมคือคำตอบ ตัวเขาและทีมงานจึงเริ่มทดลองแนวคิดที่พัฒนาขึ้นโดยเลือกไซต์งานขนาด 8 ชั้นมาทดลองระบบงานใหม่ ซึ่งผลปรากฏว่าสามารถทำโครงการจบเรียบร้อยภายใน 8 เดือนจากที่ลูกค้าให้เวลาถึง 12 เดือน ทำให้ปัจจุบันบริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง มีระบบการทำงานแบบอุตสาหกรรมที่ชัดเจนมาได้ราว 5 ปีแล้ว ส่งผลให้บริษัทสามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพ ตรงเวลา และบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างระบบงานดังกล่าว บริษัทใช้วิธีกำหนดตารางการทำงานอย่างชัดเจนว่างานแต่ละส่วนต้องเสร็จเรียบร้อยภายในเมื่อใด ด้วยจำนวนแรงงานและวัสดุเท่าใด เพื่อให้ติดตามงานได้ในแต่ละขั้นตอน อีกทั้งยังบริหารแรงงานโดยกำหนดเป้าหมายให้คนงานแต่ละคนต้องทำงานได้เท่าใดในแต่ละวัน โดยถ้าคนงานทำเสร็จตามเป้าหมายเร็วกว่ากำหนดก็สามารถพักได้ หรือขอเพิ่มค่าจ้างเพื่อทำงานเพิ่มจากเป้าหมายในวันนั้นได้  

ส่องโอกาสใหม่

จากประสบการณ์ในอดีตทำให้บริษัทแสงฟ้าก่อสร้าง เริ่มมองหาลู่ทางใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องนำกำไรของบริษัทไปลงทุนต่อยอด พร้อมกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาธุรกิจเพียงหนึ่งเดียว ในปี 2558 จึงเริ่มชิมลางด้วยการจับมือกับพันธมิตร คือ บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ (SENA) และ บมจ.ไอร่า แคปปิตอล (AIRA) จัดตั้ง บริษัท ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เพื่อศึกษาการลงทุนในธุรกิจสำนักงานให้เช่า เช่น โครงการ Spring Tower ซึ่งมีพื้นที่เช่าถึง 50,000 ตารางเมตร และล่าสุดบริษัทได้ผุดโครงการ “Yuu ศรีราชา คอนโด” ที่มีมูลค่าโครงการ 1.75 พันล้านบาท ด้วยความสูงถึง 29 ชั้น ริมชายหาดศรีราชาอีกด้วย นอกจากนี้ เชิดศักดิ์ยังมองช่องทางใหม่ในการลงทุนหลายรูปแบบ เช่น ธุรกิจโรงแรมกึ่งบูทีค ที่เขากำลังให้ความสนใจอยู่ขณะนี้   ภาพ: กิตติเดช เจริญพร