ศักดิ์บวร พุกกะณะสุต ติดลมบนโครงสร้างพื้นฐานไอที-ดิจิทัล - Forbes Thailand

ศักดิ์บวร พุกกะณะสุต ติดลมบนโครงสร้างพื้นฐานไอที-ดิจิทัล

งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมยังมีความต้องการอีกมาก แม้ดีมานด์จะมีมานานกว่า 15 ปี เป็นโอกาสของ ศักดิ์บวร พุกกะณะสุต ที่พา “อินฟราเซท” ติดลมบนธุรกิจขยายงานครอบคลุมทั้งระบบ

เสาสัญญาณโทรคมเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม แต่มากกว่าเสาสัญญาณยังมีงานระบบเดินสายใยแก้วนำแสง (fiber optic) การติดตั้งเครื่องรับสัญญาณอินเทอร์เน็ต การจัดทำระบบศูนย์ข้อมูล (data center) และอีกหลายบริการที่เชื่อมโยงการส่งต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตสู่พื้นที่ต่างๆ เหล่านี้คือบริการพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ตลาดยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เป็นงานยากที่สร้างโอกาสให้กับนักธุรกิจหนุ่มวัย 45 ปี ศักดิ์บวร พุกกะณะสุต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินฟราเซท จำกัด (มหาชน) ที่สร้างตัวมาจากการเป็นพนักงานบริษัทผู้รับทำระบบศูนย์ข้อมูล ก่อนจะออกมาตั้งบริษัทของตัวเองในชื่อ “อินฟราเซท”เมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ด้วยเงินทุนเริ่มต้นเพียง 2 แสนบาท แต่สามารถรับงานมูลค่า 15 ล้านบาทได้ภายในครึ่งปีแรกที่ดำเนินธุรกิจ “ชีวิตในวัยเด็กของผมไม่เหมือนเด็กทั่วไปตื่นเช้าต้องไปส่งหนังสือพิมพ์ เสร็จแล้วค่อยไปโรงเรียน พอเลิกเรียนก็ต้องไปส่งแก๊สตามบ้าน เพราะตอนนั้นที่บ้านทำร้านขายหนังสือและแก๊สหุงต้ม ทำให้ผมไม่มีเวลาได้เที่ยวเล่นเหมือนเด็กคนอื่นๆ” ศักดิ์บวรย้อนชีวิตในวัยเด็กกับทีมงาน Forbes Thailand เพื่อบอกเล่าพื้นเพเดิมว่าค่อนข้างลำบาก กว่าจะได้ทำงานและกลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจที่กำลังขยายกิจการ ทุกวันนี้กล่าวได้ว่าอินฟราเซทเป็นบริษัทน้องใหม่ที่มาแรงในธุรกิจบริการด้านโทรคมนาคม ประสบการณ์ 13 ปีทำให้บริษัทเล็กๆ ที่เริ่มต้นด้วยพนักงานเพียง 2 คน คือ ศักดิ์บวรและลูกน้อง  

ลุยทุกพื้นที่ทำเกินคาดหมาย

สายสัมพันธ์อันแนบแน่นที่มีกับลูกค้าเก่า สมัยที่ยังทำงานอยู่กับบริษัท ไซท์ เพรพพาเรชั่น แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งศักดิ์บวรทำอยู่ 9 ปีก่อนจะออกมาด้วยตำแหน่งล่าสุด Assistant Vice President ประสบการณ์ธุรกิจก่อตั้งระบบศูนย์ข้อมูลคือความถนัดที่มีในเวลานั้น เมื่อก้าวมาทำบริษัทเองเขาก็อาศัยช่องทางหางานผ่านลูกค้าเก่า โดยมุ่งมั่นทำงานทุกโครงการที่ได้รับให้เสร็จเร็วกว่ากำหนด “ทำให้เกินความคาดหมายผู้จ้าง” เป็นวิธีคิดที่ศักดิ์บวรบอกว่าสิ่งนี้คือจุดสร้างความประทับใจที่ทำให้ลูกค้าบอกต่อ “ในวงการโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ชื่ออินฟราเซทรับประกันได้ว่างานเสร็จ ไม่มีทิ้งงาน และส่วนใหญ่เสร็จก่อนกำหนด” ก้าวสู่ปีที่ 3 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอินฟราเซท เพราะเป็นปีแรกที่รับงานมูลค่า 100 ล้านบาท “โชคดีเจ้าของบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำากัด (มหาชน) คุณพงษ์ชัย อมตานนท์ มีงานประมูลใหญ่ของทีโอที คือ โครงการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งอุปกรณ์ชุมสายมัลติมีเดีย หรือโครงการเอ็มแซน (MSAN) ความให้ผมเข้าไปทำโครงการนี้เป็นการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเปลี่ยนโทรศัพท์บ้านเป็นอินเทอร์เน็ต ผมได้มา 1.6 แสนเลขหมายเป็นงานที่ยากมาก เพราะการเดินสายโทรศัพท์บ้านไม่เป็นระเบียบ บ้านเลขที่ยังเรียงหมายเลขแต่โทรศัพท์ไม่เรียง แต่เราก็ทำจนเสร็จ” งานนี้ทำให้อินฟราเซทต้องขยายทีมงานเพิ่มมาเป็น 30 คน เพราะต้องเข้าไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ อินฟราเซทปิดจ๊อบ เอ็มแซนเฟสแรกได้ในปีที่ 4 ต่อจากนั้นก็มีโครงการเอ็มแซนเฟส 2 5.77 แสนเลขหมาย อินฟราเซทมีโอกาสเข้าไปทำต่อจากฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น เพราะโครงการแรกทำไว้ดี

เปลี่ยนคู่แข่งมาเป็นคู่ค้า

ในช่วงทำโครงการเอ็มแซนเฟส 2 นอกจากอินฟราเซทแล้ว ยังมีอีกบริษัทที่รับงานจาก ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น คือ บริษัท ไวร์เออ แอนด์ ไวร์เลส จำกัด ในกลุ่มทรู เครือซีพี เนื่องจากฟอร์ทฯ ได้มาหลายโซนจึงมากระจายให้คนละโซน ช่วงนี้เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ได้งานเพิ่มมากกว่าเก่า โดยไวร์เออฯ แม้จะเข้ามารับงานเช่นเดียวกัน แต่เพราะเป็นบริษัทในกลุ่มทรู มีงานต่อเนื่องด้านอินเทอร์เน็ตหลายงาน หลังจากเห็นว่าอินฟราเซททำได้ก็ให้โอกาสอินฟราเซทไปทำงานเดินสายไฟเบอร์ออปติกเป็นครั้งแรก “งานนี้ผู้จ้างคาดหวังด่วนมาก เร็วมาก เดินสายไฟเบอร์ออปติกของทรูในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้มาจากการประมูล 3G, 4G” หลังจากนั้นก็เป็นพันธมิตรที่ดีกับไวร์เออฯ มาตลอด 11 ปี ถ้าเป็นงานสร้างเสาสัญญาณและตั้งสายจะจ้างอินฟราเซททุกปี แต่ก็มีงานอื่นๆ ด้วย ในปีที่ 5 ของการทำธุรกิจมองโอกาสโตเข้าตลาดฯ เอ็ม เอ ไอ จากนั้นธุรกิจก็เติบโตมาเรื่อย จนกระทั่ง ในปี 2559 ศักดิ์บวรได้รับคำแนะนำจากเพื่อนว่า ควรนำธุรกิจเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อจะได้ทุนเข้ามาขยายงานได้มากกว่านี้ทำให้เขาคิดตามและเริ่มศึกษาประโยชน์ของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็พบว่าทำให้มีเงินขยายธุรกิจ ทำให้พนักงานภาคภูมิใจ และทำให้บริษัทมีการบริหารจัดการชัดเจนจึงตัดสินใจเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ โดยช่วงนั้นบริษทได้งานโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบหรือโครงการ USO ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ของกลุ่มทรู ที่จ้างไวร์เออฯ ทำงานนี้ อินฟราเซทก็รับทำด้วยในลักษณะกิจการร่วมค้า (consortium) กับบริษัทเอไอที หรือบริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดฯ และใช้ชื่อกิจการร่วมค้าครั้งนี้ว่า “เอไอคอนซอร์เตียม” เข้ารับงาน USO เฟส 1 จากไวร์เออฯ งานนี้มูลค่า 1.8 พันล้านบาท อินฟราเซทรับผิดชอบ 1 พันกว่าล้าน ปัจจุบันมีงานในมืออยู่พอสมควร หากดูจากโครงการที่รอส่งมอบ (backlog) ในมือมีกว่า 2.74 พันล้านบาทและหลากหลายพอสมควร “เราทำงานหลายอย่างหลายกลุ่ม ทำทั้งเสาทั้งสาย ทำระบบศูนย์ข้อมูล ในขณะที่คนอื่นทำประเภทเดียวแต่เราทำทุกอย่าง” ถ้าดูตาม backlog รายได้ปีนี้น่าจะได้เกิน 1 พันล้านบาทแน่นอน ส่วนการทำงานศักดิ์บวรบอกว่า วิธีการทำงานไม่ได้มองแค่หน้าที่ตัวเอง หากเห็นว่าสามารถทำอะไรให้โครงการเสร็จได้ก็จะทำ แม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง วิธีคิดแบบนี้ทำให้เขาได้งานต่อเนื่อง และทำรายได้หลัง 4 ปีแรกมาเป็น 300, 400 และ 500 ล้านบาทอย่างสม่ำเสมอ เหมือนเป็น recurring income ทุกปีแม้จะมีรายได้ประจำทุกปี แต่อินฟราเซท ก็ยังมุ่งมั่นที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ศักดิ์บวรบอกว่าการเข้าตลาดฯ เขามองโอกาสในเรื่องธรรมาภิบาล ชอบทำงานและทำให้พนักงานมีชีวิตที่ดี มีความสุขที่ได้เห็นการเติบโตของพนักงาน ซึ่งขณะนี้อินฟราเซทมีพนักงาน 115 คน เป็นระดับผู้บริหาร 4 คนทุกคนมีความสุขในการทำางาน ถือเป็นความสำเร็จส่วนตัว ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านฉบับเต็ม “ศักดิ์บวร พุกกะณะสุต ติดลมบนโครงสร้างพื้นฐานไอที-ดิจิทัล” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine