ตลาดรถ EV ในไทยปีนี้คึกคักสวนกระแสเศรษฐกิจ คาดว่ายอดขายปีนี้จะแตะ 70,000 คัน ตัวเลข 10 เดือนพุ่งกว่า 7 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หนึ่งในผู้เล่นหลักในการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย คือบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVme) ในเครือ ปตท. ภายใต้การวางกลยุทธ์ของ สุวิชชา สุดใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ที่ผลักดันรายได้ EVme ให้ทะยานแตะ 1,000 ล้านบาทในปี 2567
สุวิชชา เข้าสู่แวดวงอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่าน Digital Transformation เป็นคนหนุ่มไฟแรงที่เรียนจบด้าน Computer Science University of Illinois และ MBA จาก University of Texas จากนั้นเข้าร่วมงานกับ IBM และ ธนาคารไทยพาณิชย์ พัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่น Easy ร่วมก่อตั้งบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส ผู้ลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัปด้านฟินเทค
หลังจากนั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องการลุยธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และตั้งบริษัทสตาร์ทอัป อีวี มี พลัส จำกัด (EVme) ขึ้นมา เพื่อวางกลยุทธ์ Go to Market สร้างระบบนิเวศให้กับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท.อย่างครบวงจร ภายใต้บริษัท อรุณ พลัส จำกัด
EVme จัดตั้งขึ้นโดยบริษัท อรุณ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้ ปตท. เพื่อดำเนินธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าผ่านการให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม สอดคล้องตามกลยุทธ์ New S-Curve เพื่อสนับสนุนการขยายแผนการลงทุนในธุรกิจ EV ของ ปตท.
โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศธุรกิจ EV เพื่อก่อเกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เช่น บริการให้เช่ายานยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบบุคคลทั่วไป (B2C) และแบบองค์กร (B2B) บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า บริการข้อมูลเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า และบริการสมาชิก EVme Club เพื่อดูแลและรองรับผู้ใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบัน มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ และได้ขยายบริการไปยังจังหวัด เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต
เป้าหมายรถทุกคัน คือ อีวี
“เป้าหมายของ EVme คือการเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มการเดินทางและการขนส่งอย่างยั่งยืนอันดับหนึ่งของอาเซียน (No.1 Sustainable Mobility Platform in ASEAN)” นั่นคือวิสัยทัศน์ของ EVme แต่สำหรับเป้าหมายของสุวิชชาแล้วเขาอยากเห็นรถทุกคันเป็น EV ซึ่งหากสามารถเปลี่ยนรถทุกคันเป็น EV ได้จะช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศได้มาก
ปัจจุบันรถยนต์ 1 คัน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 5 ตัน/ปี ในประเทศไทยมีรถอยู่ประมาณ 10 ล้านคัน หากเปลี่ยนเป็น EV จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 50 ล้านตัน/ปี นี่คือพันธกิจที่ยิ่งใหญ่มาก และเขาต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย และมีเป้าหมายจะขยายธุรกิจในอาเซียน
EVme จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2021 เพื่อเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการเช่ารถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงบริการและโซลูชันต่างๆ แบบครบวงจร เพื่อผลักดันตลาดรถ EV ในประเทศไทยให้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปีนี้ มียานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 70,000 คัน หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยต่อปี ถือว่ามีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านในตลาดรถยนต์ของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผลักดันตลาดของ EVme
สุวิชชา กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจความกังวลเกี่ยวกับรถ EV ยังมีอยู่มาก บริษัทใช้โมเดลธุรกิจแบบ “ลองก่อนซื้อ” (try-before-you-buy platform) นำรถอีวีจากผู้ผลิตทุกค่ายมาให้ทดลองขับ ใช้ในชีวิตประจำวัน จากการทดลองชาร์จ ทดลองใช้ ผ่านแพลตฟอร์ม EVme และได้รับความสนใจจากผู้บริโภคจำนวนมาก ปัจจุบันธุรกิจของ EVme ประกอบด้วย
- บริการเช่ายานยนต์ไฟฟ้าบนแอปพลิเคชั่น EVme
- บริการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าออนไลน์
- บริการสมาชิก EVme Club เพื่อผู้ใช้งาน EV แบบครบวงจร
- บริการเช่ารถระยะยาว 5 ปี หรือ EVme Subs ที่ให้คุณใช้งาน EV เหมือนเป็นเจ้าของ
“EVme เหมือนกับแพลตฟอร์มลาซาด้า ที่เป็นหน้าร้านให้กับแบรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย” สุวิชชากล่าว ปัจจุบัน EVme มีรถให้เช่าประมาณ 1,200 คัน และจะเพิ่มเป็น 2,000 – 3,000 คันในปี 2567 พร้อมนำเสนอโมเดลธุรกิจใหม่
สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ EVme Subs
“EVme Subs” ภายใต้ความร่วมมือกับกรุงศรี ออโต้ ผู้ให้บริการสินเชื่อยานยนต์ครบวงจร เป็นบริการเช่าใช้รถยนต์ไฟฟ้าระยะยาว 5 ปี แบบ Subscription กับ EV ทุกค่ายรถยนต์ชั้นนำ ในราคาเดียวตลอดสัญญา ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม พร้อมบริการหลังการเช่าที่ให้คุณได้ใช้รถได้เต็มที่เหมือนเป็นเจ้าของรถ ขับขี่อย่างอิสระกับการเลือกขับรถให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ไม่จำกัดระยะทางในการใช้งานรายวัน
พร้อมทั้งยังสามารถเลือกวางเงินประกันสัญญา ที่สำคัญได้รับเงินคืนเมื่อครบสัญญา เปิดตัวด้วย Hyundai IONIQ 5 รุ่น Standard ที่จะเปิดวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ช่วงไตรมาสสองของปี 2567
“ผู้ที่เลือกใช้บริการ EVme Subs จะเสนอบริการแพ็คเกจแบบโซลูชันให้กับผู้บริโภค มี EVme Club เสมือนเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้านให้คนใช้รถ EV มีส่วนลดสถานีชาร์จ ส่วนลดบริการรถเช่า ไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลแบตเตอรี่ ค่าซาก ระหว่างทางหากต้องการเปลี่ยนรุ่นรถให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปก็สามารถทำได้ เราออกแบบบริการต่างๆ ให้มีความยืดหยุ่นตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้า” สุวิชชากล่าว
รวมไปถึงการขยายธุรกิจเช่ารถ EV เพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ เช่าเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ โดย EVme จะขยายความร่วมมือกับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว รวมถึงผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นสำหรับการเช่ารถรายอื่นๆ
นอกจากนี้ EVme จะเร่งร่วมมือกับพันธมิตรในการวางโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะสถานีชาร์จ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3,000 จุด แต่ยังไม่ครอบคลุมความต้องการ บางจุดมีมาก บางจุดมีน้อย EVme จะเข้าไปช่วยวางโลเคชั่นให้สอดกับการผู้ใช้รถ
ปัจจุบันในประเทศไทย สัดส่วนรถ EV กับสถานีชาร์จจะอยู่ที่ 20 : 1 แต่สัดส่วนที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 10 : 1 ซึ่งนอกจาก EVme แล้ว ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำต่างเร่งขยายสถานีชาร์จของตัวเอง เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอรองรับปริมาณรถที่มากขึ้น
จากปี 2021 ถึง 2023 EVme มีรายได้กว่า 400 ล้านบาท เติบโต 3 เท่าตัว และในปี 2567 จากการขยายจำนวนรถเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 – 3,000 คัน EVme คาดว่าจะมีรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท และมีเป้าหมายนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปีข้างหน้า และแน่นอนว่าด้วยเป้าหมายสูงสุด รถทุกคัน คือ EV จะทำให้บริษัทมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และยิ่งกว่านั้น สุวิชชา มีความเชื่อว่าต่อไป EV จะเป็นมากกว่ารถ
“ต่อไปรถ 1 คัน คือ 1 แชนแนล ที่สามารถสร้างบริการต่างๆ ที่หลากหลาย เป็นเหมือนมีเดียเคลื่อนที่ 10 ล้านคัน และนี่คือโอกาสทางธุรกิจมหาศาลของ EVme” สุวิชชากล่าวทิ้งท้าย
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : ส่งออกรถยนต์ฟื้น 1 ล้านล้านบาท ส่วนในประเทศยังลุ้น หลังกำลังซื้อติดหล่มหนี้ครัวเรือน
ไม่พลาดบทความและเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ ติดตามเราได้ที่เฟซบุ๊ก Forbes Thailand Magazine