เมล็ดพันธุ์ธุรกิจที่เกิดจากความเอาใจใส่เพาะต้นกล้าของ หทัยรัตน์ จุฬางกูร ตั้งแต่เริ่มต้นสู่การแตกยอดกิ่งก้านที่มั่นคงแข็งแรงของบรรดาทายาทลูกไม้ใกล้ต้น ซึ่งล้วนเป็นคลื่นลูกใหม่ที่มีความพร้อมต่อยอดการเติบโตให้กับอาณาจักรผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของไทย
นอกจากบทบาทการเป็นนักธุรกิจหญิงและคู่ชีวิตผู้เคียงข้าง สรรเสริญ จุฬางกูร ผู้ก่อตั้งและเจ้าของอาณาจักร Summit Group ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของประเทศแล้ว หทัยรัตน์ จุฬางกูร ยังเป็นนักบริหารที่มีความสามารถรอบด้าน ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ด้วยประสบการณ์ ความขยัน มุ่งมั่น และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงมีวันนี้ กับอาณาจักรที่ร่วมสร้างเคียงบ่าเคียงไหล่กับสามีในยุคที่ต้องส่งต่อกิจการให้ลูกๆ ได้บริหาร “สำหรับลูกทั้ง 6 คน ดิฉันใช้หลักการสอนมาตรฐานเดียวกันเรื่องแรกคือ สอนให้มีเป้าหมาย มีความขยัน และมุ่งมั่น เพื่อไปสู่เป้าหมาย และความสำเร็จ ดิฉันและคุณสรรเสริญมักพาลูกๆ ไปที่ทำงานเพื่อให้พวกเขาได้เห็นว่าในแต่ละวันพ่อแม่ทำงานอะไร บริหารงานอย่างไร เราใช้ตัวเราเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น” รองหัวเรือใหญ่กลุ่มซัมมิท คอร์ปอเรชั่น เล่าย้อนถึงช่วงที่ลูกๆ อยู่ในวัยเยาว์และกำลังเติบโต ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ซัมมิทขยายธุรกิจสู่การผลิตชิ้นส่วนและตัวถังรถยนต์จากธุรกิจเริ่มแรกที่ผลิตเบาะรถมอเตอร์ไซค์ และชิ้นส่วนภายในรถยนต์ วันที่หทัยรัตน์พาลูกๆ ไปที่ทำงานด้วย จะต้องให้ลูกๆ ตื่นพร้อมกับพ่อแม่ เพราะเมื่อถึงวัยทำงาน ลูกๆ จะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตที่ทำงานการเห็นพ่อและแม่ทำงานที่บริษัท ยังทำให้ลูกได้ซึมซับรับรู้ถึงความเหนื่อยของพ่อแม่ที่ขับเคลื่อนธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ รวมทั้งได้สังเกตและเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ การมุ่งมั่น และมีเป้าหมายว่าเป็นอย่างไร “ช่วงแรกๆ ลูกจะต้องอดทนกับการฝึก ผ่านไปสักระยะเมื่อชินแล้วพวกเขาก็จะสามารถปรับตัวได้ กลายเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้นซึ่งกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้มีแต่ที่ทำงานที่บ้านก็เช่นกัน ฝึกให้พวกเขามีความรับผิดชอบ มีการแบ่งหน้าที่ที่บ้านให้แต่ละคนทำ เช่น มอบหมายหน้าที่จัดโต๊ะอาหาร รดน้ำต้นไม้ สอนการบ้านน้อง นอกจากพวกเขาได้สนุกกับสิ่งที่ทำแล้ว พวกเขาจะกลายเป็นคนที่มีความรับผิดชอบไปเองโดยอัตโนมัติ เราให้เขาได้รู้สึกคุ้นเคยกับการทำงาน ใช้ชีวิตตั้งแต่เด็ก และจะชมให้กำลังใจเมื่อพวกเขาทำได้สำเร็จ” หทัยรัตน์เล่าด้วยรอยยิ้มเมื่อนึกย้อนกลับไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน นอกจากความขยัน มุ่งมั่น และความรับผิดชอบที่ถ่ายทอดให้กับทายาทแล้ว หทัยรัตน์ยังฝึกให้ทายาทมีความเด็ดเดี่ยว ก่อนที่จะมอบหมายให้ทำงานใดๆ ต้องมีการพูดคุยให้เห็นพ้องกันก่อนหรือมีข้อตกลงกันก่อน หากไม่ต้องการทำหรือต่อรองในภายหลังก็จะถูกทำโทษ พร้อมทั้งให้อธิบายว่าเพราะอะไรถึงไม่ทำเช่นนั้นทั้งๆ ที่ก่อนจะมอบหมายได้มีข้อตกลงกันแล้ว “การทำโทษแต่ละครั้งก็จะสอนให้รู้ถึงความผิด และเน้นย้ำให้รู้จักความรับผิดชอบ เมื่อโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่ที่ต้องทำ มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้รับปากเอาไว้ แม้จะให้อิสระในการทำงาน แต่ก็ต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ให้มีความกล้าหาญและสนับสนุนให้แสดงออกด้วยความมั่นใจ” หทัยรัตน์ได้ปลูกฝังเรื่องความเชื่อมั่นในตนเองให้กับบรรดาทายาทและส่งเสริมให้ทุกคนสามารถทำในสิ่งที่เลือกเอง รวมถึงการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ โดยมีบิดาและมารดาเป็นต้นแบบในการทำงาน เพราะได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองตั้งแต่เด็กๆ เช่น ให้ช่วยนับเลข นับชิ้นงานที่เสร็จแล้ว เก็บพาร์ตชิ้นงานต่างๆ ให้เข้าที่หรือแม้กระทั่งนับเงิน ล้วนเป็นการสร้างให้ลูกเชื่อมั่นในตัวเอง และปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็ก “พยายามสอนให้ลูกอดออม โดยซื้อกระปุกออมสินให้ลูกเก็บเงินจากค่าขนม หมั่นหยอดเงินในกระปุก เพื่อซื้อของที่ต้องการ ฉะนั้นเมื่อลูกคนหนึ่งหยอดกระปุก คนอื่นๆ ที่อยากได้ของบ้าง ก็จะทำตามถึงเวลาก็แคะกระปุกของตนเอง แล้วนำไปซื้อของที่อยากได้ สร้างความภูมิใจให้กับตัวเอง และให้เห็นคุณค่าของเงิน” คำสอนของผู้เป็นมารดา ซึ่งวันนี้เป็นคุณย่าของหลานชายทั้งสามโดย กรกฤช จุฬางกูร บุตรชายคนที่ 4 ในฐานะตัวแทนของพี่น้อง รำลึกความทรงจำได้ดี เขาเล่าว่า สิ่งที่พ่อและแม่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ซึมซับมาตั้งแต่ยังเล็ก จนก้าวสู่ ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโตบอดี้ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนและตัวถังรถยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทลูกในเครือซัมมิท “ท่านทั้งสองทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ท่านให้ความสำคัญกับงานมากมีระเบียบวินัย และตรงต่อเวลา คุณพ่อเองได้รับการยอมรับในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยสามารถบริหารองค์กรใหญ่ของเราให้มีความสามัคคี และเป็นแรงกระตุ้นสร้างแรงบันดาลใจให้กับพนักงานนี่คือสิ่งที่ผมจะต้องทำให้ได้ ส่วนคุณแม่จะดูเรื่องการเงิน ฉายภาพมุมมองทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารเงินสด และมักเตือนเรื่องการใช้เงินมาตลอด” กรกฤชยังเล่าย้อนถึงชีวิตในวัยเด็กว่า สมัยที่ยังอยู่ในวัยเด็กแม่มักจะเลี้ยงลูกไม่ให้ฟุ่มเฟือย ให้เงินใช้น้อยมาก ช่วงเรียนประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา เขาและพี่น้องได้เงินไปโรงเรียนวันละ 30 บาทเท่านั้น แม้ตอนนั้นครอบครัวจะมีฐานะ ขณะที่เพื่อนๆ ได้วันละ 100 บาท ตอนนั้นรู้สึกว่าไม่พอใช้ แต่มาวันนี้ กลับคิดว่า หากมีทายาทก็คงสอนทายาทแบบเดียวกัน “เมื่อ 3-4 ปีก่อน คุณพ่อบอกลูกๆ ว่า ถ้ามีโครงการอะไรมานำเสนอภายในครอบครัว จะสนับสนุนเงินทุนคนละ 50 ล้านบาททำให้เกิดโครงการต่างๆ ขึ้นมา ทุกคนคิดโปรเจกต์ของตัวเอง โครงการของผมเป็นครัวซองต์ไทยากิ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ต่อยอดแม้จะเป็นธุรกิจที่เล็กมากเมื่อเทียบกับธุรกิจครอบครัว แต่ทำให้คนรู้จักเรามากยิ่งขึ้น และมีโอกาสทางธุรกิจเข้ามาให้เลือกมากมาย” กรกฤชเล่า และธุรกิจขนมของเขาสามารถได้ทุนคืนตั้งแต่ 2 เดือนแรก โดยบางวันมียอดขายถึง 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ทeให้มารดาและทุกคนในครอบครัวรู้สึกภูมิใจ วันนี้ หทัยรัตน์ในวัยใกล้ 80 ปีให้เวลากับงานการกุศล ช่วยเหลือสังคมและผู้ด้อยโอกาสในด้านต่างๆ และยังเป็นจุดศูนย์กลางของครอบครัวจุฬางกูรที่ลูกหลานจะนัดพบปะกินข้าวกันทุกวันเสาร์อาทิตย์คำสอนรุ่นลูกยังสืบทอดมายังรุ่น 3 ด้วยการให้หลานฝึกหัดทำสิ่งต่างๆ เอง เช่น รับประทานอาหารให้หมดจาน ไม่เหลือทิ้ง และเน้นย้ำให้มีชีวิตที่สมถะ เรียบง่าย โดยหลานๆ มีคุณปู่คุณย่าเป็นแบบอย่าง “ไม่มีสุขใดจะมากไปกว่าการได้อยู่ร่วมกันกับครอบครัว ได้เห็นลูกหลานมารวมตัวกัน สร้างรอยยิ้มให้คนเป็นแม่และย่าอย่างอบอุ่น” หทัยรัตน์กล่าวด้วยความชื่นใจ “ความรัก ความห่วงใย การดูแลกันในครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญเหนือกว่าสิ่งใด”เรื่อง: นฐ ดิลกวิพัฒน์ ภาพ: กิตตินันท์ สังขนิยม, ธนาคาร CIMB Thai
อ่านเพิ่มเติม: ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ชูนวัตกรรมขับเคลื่อน EPGอ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร ForbesLife Thailand ฉบับพิเศษ ฉบับเดือนธันวาคม 2563