ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ชูนวัตกรรมขับเคลื่อน EPG - Forbes Thailand

ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ชูนวัตกรรมขับเคลื่อน EPG

ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ พ่อมดโพลีเมอร์เดินหน้าคิดค้นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีจากพื้นปูกระบะ และหีบห่อพลาสติก สู่หน้ากากอเนกประสงค์ พร้อมขยายธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนในระดับโลก

การสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่งความหลากหลายของธุรกิจ และการแบ่งปันคืนสู่สังคมในรูปแบบต่างๆ เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ ภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์น โพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจผลิตภัณฑ์พลาสติกและโพลีเมอร์ นำพาองค์กรสู่ความยั่งยืนตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี ภวัฒน์เริ่มต้นอาณาจักร EPG ในปี 2521 ด้วยการต่อยอดธุรกิจผลิตทุ่นลอยน้ำพลาสติกสำหรับอวนประมงที่ร่วมกับบิดา มาสู่ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ก่อนคิดค้นสูตรเคมีพิเศษเพื่อแปรรูปโพลีเมอร์ให้กลายเป็นฉนวนยางกันความร้อนและเย็นภายใต้แบรนด์ AEROFLEX ซึ่งปัจจุบัน ส่งออกไปยังกว่า 100 ประเทศทั่วโลก และตั้งโรงงานผลิตในจีนและสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น ได้แตกธุรกิจมาสู่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งรถยนต์และรถกระบะ ภายใต้แบรนด์ AEROKLAS เช่น บันไดข้างรถ หลังคาและฝาครอบรถกระบะ โดยสินค้าชูธงคือ พื้นปูกระบะภายใต้แบรนด์ AEROLINER และ HEROLINER และเป็นผู้บุกเบิกพื้นปูกระบะแบบไม่ต้องเจาะตัวถังรายแรกของประเทศ จนขยายธุรกิจไปสู่ระดับแถวหน้าของโลก ในปี 2544 EPG ขยับสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มภายใต้เครื่องหมายการค้า EPP โดยมีไลน์การผลิตสินค้ากว่าพันรายการ ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียน ปัจจุบัน EPG ขยายอาณาจักรไปเกือบครบทุกทวีปทั่วโลก ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา ตุรกี เยอรมนี อินเดีย ออสเตรเลีย มาเลเซีย และล่าสุดที่อัฟริกาใต้ ซึ่งเป็นโรงงานแห่งที่ 10 โดยกว่า 60% ของรายได้รวม ล้วนมาจากต่างประเทศ “โควิด-19 ทำให้ต้องกลับมาคิดเรื่อง Diversify ใหม่ เพราะเป็นวิกฤตโรคระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก และกระทบต่อธุรกิจที่เรากระจายความเสี่ยงไปในหลายประเทศ ซึ่งบางประเทศมียอดขายตก เพราะต้องปิดโรงงานชั่วคราวแต่บางประเทศก็ขายดี เช่น สหรัฐอเมริกา เพราะโรงงานอื่นไม่มีมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่ดี ทำให้ยังต้องปิดชั่วคราว ส่วนโรงงานเรามีมาตรการป้องกัน ทำให้สามารถดำเนินการผลิตได้” ปัจจุบัน ตลาดรถในหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้ว เช่น ยุโรป อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เพราะ โควิด-19 ได้เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้หันมาเที่ยวในประเทศตัวเองมากขึ้น ทำให้หลายคนตัดสินใจเปลี่ยนรถใหม่ สำหรับประเทศไทย ภวัฒน์กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 2 บริษัทแทบจะหมดหวัง เพราะค่ายรถต่างๆ ต้องปิดชั่วคราว ช่วงนั้น EPG ไม่มีการปลดคนงาน โดยให้ลดวันทำงานเหลือสัปดาห์ละ 4 วันแทน และเปิดให้สมัครใจ Early Retire ได้ “พนักงานประมาณ 100 คน จาก 3,000 คน หรือคิดเป็น 3% ที่เข้าโครงการ สุดท้ายกลุ่มนี้ถูกเรียกตัวให้กลับเข้ามาทำงานด่วน หลังจากธุรกิจกลับมาคึกคักอีกครั้งในไตรมาส 3” ภวัฒน์กล่าว แต่ลึกๆ ยังคงกังวลว่า การฟื้นตัวอาจเกิดจากการอั้นของดีมานด์ และหวังว่า ตลาดรถในปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกกลับได้อานิสงส์ในช่วงล็อกดาวน์ โดยสินค้า EPP ได้รับออร์เดอร์สั่งผลิตจากเชนร้านอาหารรายใหญ่แห่งหนึ่งที่สั่งกล่องพลาสติกใส่อาหารเพิ่มขึ้นจากเดิมเดือนละแสนชิ้นเป็นสัปดาห์ละ 1 ล้านชิ้น ทุกวันนี้ในวัย 69 ปีที่เป็นวัยเกษียณอายุของคนทั่วไปแต่ภวัฒน์ยังคงทำงานตามปกติ โดยใช้เวลาประชุมเรื่องเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ ทุกวันศุกร์ และเข้าบริษัทในวันเสาร์ เพื่อค้นเอกสาร ดูข้อมูล และอ่านเทคนิคต่างๆ สำหรับนำมาวิเคราะห์และคิดค้นประมวลผลสูตรโครงสร้างโพลีเมอร์อยู่เสมอ ในช่วงที่ โควิด-19 แพร่ระบาดในไทยระยะเริ่มแรกราวปลายเดือนกุมภาพันธ์ได้เกิดกระแสขาดแคลนหน้ากากอนามัย ทำให้ระดับราคาพุ่งขึ้นจากปกติชิ้นละ 2 บาท เป็น 15 บาท ส่งผลให้ภวัฒน์คิดค้นหน้ากากอนามัยขึ้นเพื่อผลิตให้พนักงานเครือ EPG ที่ต้องทำงานในโรงงานใช้ “เราคิดค้น EP Kare ขึ้นมาทันที โดยใช้เวลาประชุมออกแบบ หาเทคโนโลยีและวัสดุ รวมทั้งทำแม่พิมพ์เสร็จภายใน 10 วัน หลังจากนั้นก็เริ่มผลิต ซึ่งเสร็จภายในช่วงวันสงกรานต์ ก่อนจดสิทธิบัตรในไทย ญี่ปุ่น และจีน” สำหรับหน้ากากอเนกประสงค์ EP Kare ผลิตจากโพลีเมอร์สามารถล้างและทำความสะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์หรือลวกน้ำร้อนได้ แต่ละชิ้นใช้ได้ถึง 2-3 เดือน แผ่นกรองสามารถนำมาซักเพื่อใช้ใหม่ได้ถึง 20 ครั้ง โดยขายราคาชิ้นละ 35 บาท อย่างไรก็ตาม ผ้ากรองของ EP Kare มีความละเอียดสูง ทำให้หายใจยาก EPG จึงพัฒนารุ่น 2 ที่สามารถเปลี่ยนผ้ากรองได้ โดยขายในราคาชิ้นละ 20 บาทพร้อมแผ่นกรองสำหรับเปลี่ยน ในช่วงปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน EPG ได้บริจาค EP Kare ให้กับโรงพยาบาล และหน่วยงานต่างๆ กว่า 200,000 ชิ้น และวางแผนผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อมอบให้กับประเทศที่ประสบปัญหาการแพร่ระบาด “นี่คือนวัตกรรมสั้นๆ ที่เกิดขึ้นใน 3 เดือน” ภวัฒน์กล่าว ปัจจุบัน เขายังควบตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจเพื่อการวิจัยและพัฒนาอีกเก้าอี้ และตั้งใจจะผันตัวจากซีอีโอ เป็นซีไอโอ หรือ Chief Innovation Officer เพื่อดูงาน R&D เมื่อเกษียณอายุ โดยยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อน EPG ต่อไป ภายใต้สโลแกนของบริษัท “Success to Innovation” เรื่อง: นฐ ดิลกวิพัฒน์ ภาพ: กิตตินันท์ สังขนิยม FORBES FACTS
  • หนึ่งในความภูมิใจของภวัฒน์ คือ EPG เป็นบริษัทที่เสียภาษีต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 42 ปีตั้งแต่ก่อตั้ง แม้ในช่วงที่ประสบกับภาวะขาดทุนหลายร้อยล้านบาทจากวิกฤตปี 2540 ก็ตาม EPG ก็ยังจ่ายภาษี
  • ในช่วง โควิด-19 ภวัฒน์และผู้บริหารระดับสูงของ EPG ปรับลดเงินเดือนตัวเองลง 20% ในเดือนเมษายนถึงกันยายนและ 10% สำหรับระดับผู้จัดการ ซึ่งได้ลดวันทำงานเหลือ 4 วัน ส่วนพนักงานทั่วไปไม่มีการปรับลดเงินเดือน
  • ภวัฒน์มอบทุนการศึกษาให้บุตรของพนักงานตั้งแต่ปี 2530 จาก 26 คนในปีนั้น จนปีนี้ได้มอบทุนไปอีก 1,400 ทุน เพราะต้องการส่งเสริมการมีลูกจึงให้แบบไม่จำกัดจำนวน

อ่านฉบับเต็มได้ที่ นิตยสาร ForbesLife Thailand ฉบับพิเศษ ฉบับเดือนธันวาคม 2563