แม้ไม่เคยทำธุรกิจขนส่งมาก่อน ทว่า เมื่อโอกาสถูกหยิบยื่นมาให้ ขึ้นอยู่กับว่าจะรับหรือปล่อยผ่านและ ณัฐพล ขจรวุฒิเดช ผู้นำครอบครัวพร้อมรับความท้าทายนั้น
เมื่อ 28 ปีก่อนณัฐพลได้รับการติดต่อจากเพื่อนให้มารับช่วงกิจการขนส่งปูนซีเมนต์ผงเนื่องจากบุตรชายซึ่งเป็นผู้ดูแลเสียชีวิต และไม่มีคนบริหารงานต่อ โดยขณะนั้น ณัฐพล และ สุวรรณา ขจรวุฒิเดช ผู้เป็นภรรยา ประกอบธุรกิจลีสซิ่ง ซึ่งปัจจุบันคือ บริษัท มี แคปปิตอล จำกัด (MC) ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและจัดไฟแนนซ์รถยนต์ (รถแท็กซี่) หลังจากนั้นทั้งคู่ได้บริหารกิจการทั้งสองบริษัทควบคู่กัน และกิจการเติบโตตามลำดับ โดยปี 2563 บจ. มี แคปปิตอล มีรายได้ 700 ล้านบาท ขณะที่ บริษัท มีนาทรานสปอร์ต จำกัด (มหาชน) หรือ MENA มีรายได้รวม 614.9 ล้านบาท กำไรสุทธิ 34.8 ล้านบาท ไตรมาส 1/2564 มีรายได้รวม 152.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 10.1 ล้านบาท- จากลีสซิ่งสู่ขนส่งปูนซีเมนต์ -
ครอบครัวขจรวุฒิเดชแยกกันทำงานเป็นรายบริษัท โดยณัฐพลเป็นผู้บริหาร MC ขณะที่สุวรรณาดูแล MENA และเพิ่งนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2564 สุวรรณา ขจรวุฒิเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มีนาทรานสปอร์ต จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์ทีมงาน Forbes Thailand ที่สาขาราชเทวี โดยมีบุตรสาวคนที่ 2 “สุดารัตน์ ขจรวุฒิเดช” ผู้อำนวยการสายงานปฏิบัติการร่วมรับฟังอยู่ด้วย สุวรรณาเล่าว่า ธุรกิจแรกของครอบครัวเป็นสินเชื่อรถยนต์ปี 2536 เพื่อนสามีขอให้ช่วยรับช่วงธุรกิจขนส่งปูนซีเมนต์ผง ซึ่งเธอและสามีไม่เคยมีประสบการณ์ แต่เมื่อผู้นำครอบครัวตกปากรับคำ ในฐานะช้างเท้าหลังก็ช่วยงานเต็มกำลังจากเดิมที่ดูแลเฉพาะงานบัญชีของธุรกิจลีสซิ่ง ตอนที่รับกิจการมานั้นมีรถบรรทุก 10 ล้อและรถพ่วงอีกประมาณ 40 คัน เป็นรถที่ปลอดหนี้ 10 กว่าคัน ยังติดไฟแนนซ์ 20 กว่าคัน และมีลูกค้าอยู่แล้วคือ “ปูนอินทรี” หรือ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) “เขายกรถบรรทุกให้ฟรีๆ แต่ยกหนี้ให้ไปผ่อนต่อด้วยประมาณ 20 ล้าน เดิมทำฝั่งลีสซิ่งเช่าจักรยานยนต์ รถยนต์ ตอนนี้เป็นแท็กซี่และรถบ้านด้วย แต่ไม่มีประสบการณ์ขนส่งเลยก็เริ่มเรียนรู้ ตอนนั้นรถไม่เยอะก็ไม่ยากนัก มีทีมงานช่างและคนขับอยู่แล้วเรามาสานต่อและบริหารจัดการ ทำระเบียบให้คนขับรถรู้สึกว่า ทำงานแล้วได้ค่าตอบแทนเพียงพอ รถ 10 ล้อที่รับมาบริหารต่อได้อีก 10 กว่าปี ตอนที่ขายต่อไปสภาพยังดีอยู่” ต่อมาได้ทยอยลงทุนรถลากจูง หรือรถเทรลเลอร์ (trailer) เพิ่ม 60 คัน รวมเป็น 100 คัน พร้อมลงทุนในรถกึ่งพ่วงประเภทเฉพาะกิจปูนซีเมนต์ผง (หาง bulk) รถกึ่งพ่วงประเภทอื่นๆ คือ หางยกเท หางก้างปลา และหางพื้นเรียบ รวมอีก 104 คัน เพื่อขนส่งสินค้า เช่น ขี้เถ้าลอย (fly ash) วัสดุก่อสร้างแร่วัตถุดิบ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ ให้กับลูกค้าทั่วประเทศ รวมถึงขนส่งข้ามชายแดนไปยัง สปป.ลาว และประเทศกัมพูชา ปี 2550 บริษัทเล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้ครอบคลุมการบริการด้านการขนส่งคอนกรีตผสมเสร็จ รวมถึงได้รับการชักชวนจากผู้ว่าจ้างรายใหญ่ จึงลงทุนซื้อรถผสมคอนกรีต 50 คัน พร้อมปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการรถผสมคอนกรีตรูปแบบใหม่- เชื้อเพลิง + คนขับ คือหัวใจ -
การทำธุรกิจขนส่งปัจจัยสำคัญคือ น้ำมันเชื้อเพลิงที่เจ้าของต้องตามให้ทันคนขับรถ ซึ่งมักจะเบิกน้ำมันเกินการใช้งานจริง “การคุมเรื่องเชื้อเพลิงเป็นอะไรที่ท้าทายมาก เรามีการจับเรต รถคันหนึ่งวิ่งไปส่งงานลูกค้ากลับเข้ามาแต่ละรอบ แต่ละวัน ใช้น้ำมันเท่าไร แรกๆ ใช้เกิน เพราะคนขับคิดว่าบริษัทไม่มีระบบในการตรวจสอบบางคนเติมเกิน หรือเอาออกไปใช้เอง เรามีการตรวจแต่เหมือนทำงานตามหลัง จึงออกกฎว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นต้นทุนบริษัทขอให้พนักงานใช้ตามเรตที่กำหนด หากไม่พอใช้บริษัทชดเชยให้ ถ้าใช้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ประหยัดได้ 100 ลิตร ก็คิดเป็นเงินคืนให้คนขับ" ต่อมามีโครงการ “เถ้าแก่น้อย” คือ ให้คนขับรถเป็นเจ้าของรถเอง โดยเริ่มต้นจากรถลากที่ใช้ก๊าซ NGV ซึ่งเป็นรถใช้น้ำมัน แต่ดัดแปลงมาใช้ก๊าซ ปัญหาที่พบคือ รถเสียบ่อย คนขับทำงานไม่เต็มที่ ไม่ให้ความร่วมมือในการดูแลรักษารถ ประกอบกับจุดเติมก๊าซมีน้อย ทำให้เสียโอกาสในการทำรอบขนส่งสินค้า สุดารัตน์ ทายาทคนที่ 2 กล่าวเสริมว่า “ปัญหาเยอะมาก ต้องจับเรตน้ำมัน หาสูตรเหมาะสมที่สุด เรตที่คนขับยอมรับได้...เราเปลี่ยนคน 97% ที่เคยดูดน้ำมันเป็นไม่ดูดน้ำมัน ที่เหลือ 3% ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ให้ออก เราทำระบบเพื่อให้คนดีอยู่ได้ คัดคนไม่ดีออก” นอกจากการดูดน้ำมันหรือเติมเกินการใช้งานจริง แล้วรถใช้ก๊าซ NGV ก็มีปัญหาเช่นกัน เช่น ให้พนักงานออกบิลเกินค่าใช้จ่ายจริง ถังน้ำมันจุก๊าซได้ 200 ลิตร แต่เอกสารระบุว่าเติม 400 กก. ซึ่งสุดารัตน์ถึงขั้นต้องขับรถบรรทุกไปเติมก๊าซเองเพื่อจะได้รู้เท่าทันทริกเหล่านี้ “งานขนส่งเป็นเรื่องคนล้วนๆ เป็นงานบริการ นี่เป็นเหตุผลที่บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ไม่อยากยุ่งกับคนขับ ซึ่งมีทั้งโกงน้ำมันโกงบิลโกงยางล้อ” แต่ MENA มีความตั้งใจที่จะยกระดับวิชาชีพให้คนขับรถบรรทุกเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพ จึงวางกฎระเบียบต่างๆ เมื่อพนักงานปฏิบัติได้ตามเป้าหมายก็ให้รางวัล “เราต้องการส่งเสริมคุณภาพอะไรก็ใส่ลงไปและให้รางวัล เช่น ดูแลรักษายาง ดูแลลูกค้า รถสะอาด เหมือนเราทำแนวทางส่งเสริมให้คนวิ่งเข้าเส้นชัยในระบบที่เราวางไว้ ผลลัพธ์ที่ได้คือ บริการมีคุณภาพลูกค้าประทับใจ... “ตอนที่มีรถร้อยกว่าคันคนขับมาต่อแถวสมัคร เรา enjoy กับการเลือกคนขับมาก เพราะชื่อเสียงว่าเราจ่ายดีสุด...คนที่อยู่กับเราตั้งแต่แรกๆ จะเป็นรถร่วมและต่อยอดเป็นเถ้าแก่น้อยแล้ว เราเก่งเรื่องพัฒนาคนให้พัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ คนขับรถของเรามีหลาย level” ทายาทสาวอธิบาย- เติบโตพร้อมลูกค้า -
การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2550 เมื่อลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ชักชวนให้ใช้รถมิกเซอร์หรือรถผสมคอนกรีตในการขนส่ง ซึ่งบริษัทก็สนใจแต่ติดขัดที่เงินลงทุน และการบริหารจัดการงานจึงเจรจาต่อรองกับลูกค้า “ตอนแรกที่มาทำธุรกิจนี้เราได้ contract กับบริษัทมีชื่อเสียงอยู่แล้ว ไม่ต้องหาลูกค้าหรือหาตลาดเลย ถ้าคุณเติบโตเราก็หารถเพิ่ม ไม่ต้องยุ่งการตลาด รถมิกเซอร์ plant ปูนต้องทำตลอด แต่สมัยนี้ไม่ใช่ต้องหาตลาดด้วย เราเป็นตัวแทนจำหน่ายปูนให้ทุกค่าย ทำเพราะอยากหางานให้รถที่จอดอยู่เฉยๆ หากหางานได้รถก็ได้วิ่งเราเป็นเจ้าแรกที่ทำขนส่งปูนด้วยรถ 4-6 ล้อ เป็นรถโม่คันเล็กๆ วิ่งตามซอย เราเป็นตัวแทนจำหน่ายได้กำไรส่วนต่างจากการขาย รายได้ตรงนี้เดือนละ 1-2 ล้านบาท” “จุดเด่น” ของ MENA คือ พยายามตอบโจทย์การขนส่งให้กับลูกค้า ทั้งเรื่องเส้นทางการวิ่งรถ การรักษาความปลอดภัยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียพร้อมกับการพัฒนาทีมงาน แผนงานต่อไปหลังจากที่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คือ เพิ่มการให้บริการขนส่งสินค้าประเภทอื่นๆ ด้วย เนื่องจากมีความพร้อมทั้งเรื่องรถ ระบบทีมงานและบุคลากร โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 367 ล้านบาท เป็นทุนชำระแล้ว 275 ล้านบาท ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ MENA อ่านเพิ่มเติม:- กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี นายหญิง “TPOLY GROUP”
- เศรษฐินีสหรัฐฯ แห่งทำเนียบ FORBES 400 ประจำปี 2021
- 5 วิธีเติมพลัง “การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ”
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine