ทายาทรุ่น 2 แห่งกลุ่มบริษัท โบ๊ทลากูนยอช์ตติ้ง อย่าง วริศ ยงสกุล รับหน้าที่กัปตันนำกิจการคว้าโอกาสจากกระแสนิยมล่องเรือยอชต์ที่ตื่นตัวกว่าในอดีต กางใบโต้คลื่นความต้องการที่ไม่หยุดนิ่งด้วยบริการครบเครื่อง มุ่งรักษาระดับรายได้เติบโต 10-15% ต่อปี
เรือยอชต์ที่โลดแล่นออกจากท่าสู่ท้องทะเลกว้างใหญ่ เพื่อท่องผจญภัยและค้นหาประสบการณ์ใหม่เปรียบได้กับวิถีสืบสานกิจการนำเข้าและจำหน่ายเรือยอชต์ของทายาทรุ่น 2 วัย 37 ปี อย่าง วริศ ยงสกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท โบ๊ทลากูนยอช์ตติ้ง จำกัด ซึ่งรับไม้ต่อจากบิดาคือ คณิต ยงสกุล ผู้ก่อตั้งกิจการค้าเรือยอชต์ในปี 2537 ที่ขยับขยายเพิ่มเติมจากธุรกิจบริการที่จอดเรือ (มารีน่า) ซึ่งพลิกจากเหมืองแร่ดีบุกตั้งแต่ปี 2521 ภายใต้การดูแลของ บริษัท ภูเก็ตโบ๊ทลากูน จำกัด สำหรับเหตุแห่งการเปลี่ยนเหมืองแร่ดีบุกเป็นมารีน่านั้น วริศ เล่าว่าเนื่องด้วยธุรกิจทำเหมืองในตอนนั้นเริ่มซบเซา ขณะที่คณิตเองก็เป็นผู้ชื่นชอบในการเล่นเรือยอชต์ตั้งแต่สมัยเรียนที่อังกฤษและมองว่ามีกลุ่มคนที่ต้องการใช้บริการอยู่แล้ว เช่นเดียวกับที่ผู้ก่อตั้งมองว่าภูเก็ตมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง จำนวนผู้ใช้บริการมารีน่าจึงย่อมมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต ทั้งนี้ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ครอบครัวยงสกุลคือผู้บุกเบิกรายแรกที่ให้บริการมารีน่าอย่างครบวงจรในภูเก็ต “ด้วยอุปกรณ์และทีมงานที่ทำเหมืองอยู่ก่อนแล้วหากจะมาพัฒนาทำมารีน่าก็ง่าย อีกทั้งการที่เป็นคนเล่นเรือยอชต์อยู่แล้วก็ย่อมเข้าใจและรู้ความต้องการของลูกค้าได้มากกว่า ซึ่งเป็นจุดที่คุณพ่อยึดถือในการทำธุรกิจ” อย่างไรก็ตาม สำหรับจุดเปลี่ยนที่เลือกเข้าสู่น่านน้ำธุรกิจค้าเรือยอชต์ของครอบครัวนั้น วริศเล่าว่าเริ่มจากนำเข้าเรือยอชต์แบรนด์ Princess จากอังกฤษเมื่อ 24 ปีก่อน ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในตอนนั้น รวมถึงทางผู้ก่อตั้งเองก็มีความคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ของ Princess เป็นอย่างดีและมองว่ามีแนวทางในการดูแลลูกค้าสอดคล้องกัน ขณะที่การได้รับเลือกจาก Princess ให้บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่าย(sole distributor) และให้บริการในภูมิภาคเอเชียแต่เพียงผู้เดียวก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่สะท้อนถึงศักยภาพของบริษัทในการดูแลลูกค้าซึ่งเป็นผู้ใช้เรือของ Princess ได้ทั่วถึงโดยช่วงแรกที่นำเรือยอชต์มาขายนั้นมีผลตอบรับดี เพราะบริษัทรู้จักคุ้นเคยกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักอยู่แล้ว เมื่อดำเนินธุรกิจมาได้ระดับหนึ่งก็เริ่มมีลูกค้าต่างชาติเข้ามามากขึ้นจนกลายเป็นฐานลูกค้าหลักกว่า 80% เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพของบริษัทว่าจะสามารถจัดหาและดูแลเรือยอชต์ได้ดี โดยลูกค้าเหล่านี้มีทั้งที่ใช้ชีวิตในเมืองไทยและที่นิยมมาท่องเที่ยวในเมืองไทย 2-3 ครั้งต่อปี กระนั้นช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเริ่มมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 30-35% ของฐานลูกค้ารวม “ธุรกิจเรือยอชต์เปรียบเหมือนให้บริการด้านความสุขกับลูกค้าเรือจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อยู่ใน process เท่านั้น จึงจำเป็นต้องเข้าใจไลฟ์สไตล์ของลูกค้าและต้องมีความพร้อมในทุกๆ ด้านที่จะให้บริการ ซึ่งบุคลากรเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของธุรกิจนี้” วริศให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า จากที่เคยมีคนพูดกันว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลเรือแพงกว่าราคาเรือก็ไม่ผิด จนทำให้สมัยก่อนถึงกับบอกว่าวันที่มีความสุขที่สุดคือวันที่ซื้อและวันที่ขายเรือ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปมากพอสมควร จากอดีตที่ค่าบำรุงรักษาอยู่ที่ราวปีละ 10%ของมูลค่าเรือ แต่ขณะนี้อยู่ที่ 3-5% เท่านั้นสำหรับในภูมิภาคเอเชีย จัด 5 ธุรกิจตอบโจทย์ ปัจจุบันกลุ่มบริษัทโบ๊ทลากูนยอช์ตติ้งดำเนินธุรกิจ 5 กลุ่มหลักอย่างครบวงจร ได้แก่ การจำหน่ายเรือยอชต์ลำใหม่ การจำหน่ายเรือยอชต์มือสอง การเช่าเรือ การซ่อมและบำรุงรักษาเรือ งานบริการหลังการขาย และอื่นๆ ผ่าน 9 สาขาใน 5 ประเทศ คือ ไทย สิงค์โปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ มัลดีฟส์ ซึ่งมีการเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี โดยในปี2560 ทำรายได้ที่ราว 1.5 พันล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตถึง 2 พันล้านบาทในปีนี้ อย่างไรก็ตามแม้รายได้ของกลุ่มบริษัทจากตลาดเมืองไทยครองสัดส่วนที่ 50% ของรายได้รวม แต่ด้วยศักยภาพของตลาดก็มีความเป็นไปได้ที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าเดิมในอนาคต ขณะที่รายได้จากการขายเรือยอชต์ใหม่จะยังคงเป็นฐานรายได้หลักที่ 75% ด้านจำหน่ายเรือยอชต์ใหม่ บริษัทได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของแบรนด์ระดับโลกต่างๆ ได้แก่ Princess Prestige Jeanneau และ Wider ซึ่งมีให้เลือกทุกประเภท ทั้งเรือเล็กเรือใบ เรือยอชต์ เรือซูเปอร์ยอชต์ (ความยาวช่วงตัวลำเรือ 85 ฟุตขึ้นไป) นอกจากนี้ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาบริษัทสามารถนำเรือยอชต์ที่ออกใหม่เป็นลำแรกของโลกมาสู่ตลาดเมืองไทยโดยตลอดฝั่งธุรกิจค้าเรือยอชต์มือสองที่ตีคู่กันมากับการค้าเรือใหม่นั้น วริศเล่าว่าบริษัทมีกลุ่มตัวแทนจำหน่ายซื้อขายเรือยอชต์ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในเอเชีย ผ่านเครือข่ายวงกว้างประกอบด้วยทั้งสำนักงานและเจ้าหน้าที่ ขณะนี้มีลูกค้าสนใจซื้อเรือมือสองเพิ่มขึ้นจากหลายเหตุผล เช่นต้องการได้เรือทันทีเพราะไม่อยากรอต่อเรือใหม่ ซื้อมาทดลองเล่นเรือก่อนจะลงทุนซื้อเรือใหม่ ต้องการเรือที่มีค่าเสื่อมมาบ้างแล้วเพื่อนำมาให้เช่าต่อ เป็นต้น สำหรับบริการเช่าเรือที่ดำเนินการโดย บริษัท โบ๊ตลากูนครุยส์ จำกัด ซึ่งมีสาขาครอบคลุมจุดหมายปลายทางการล่องเรืออันมีทัศนียภาพอันสวยงาม อีกทั้งมีบริการผู้ช่วยส่วนตัว (concierge service) ที่จะช่วยสรรหาบริการเสริมต่างๆ ได้แก่ จัดอาหาร จัดงานเลี้ยง จัดงานแต่งงาน ทั้งนี้ ปัจจุบันบริการเช่าเรือยอชต์มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นและส่วนใหญ่ยังเลือกเช่าแบบ full-day trip ซึ่งตลาดมีแนวโน้มเติบโตราว 10-15% ต่อปี จึงมีทั้งผู้เช่าและผู้ให้บริการเช่าเรือยอชต์เติบโตมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเข้ามาของผู้ให้บริการที่เป็นต่างชาติ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ววริศมองว่าเป็นเรื่องที่ดี “แม้ว่าปัจจุบันรายได้หลักถึง 75% จะมาจากการขายเรือยอชต์ใหม่ แต่ผมมองว่าพัฒนาการในระยะต่อไปของบริษัทคือการให้น้ำหนักกับการเพิ่มศักยภาพด้านบริการ” ด้วยเทรนด์ของการล่องเรือยอชต์ในระยะทางที่ไกลกว่าเดิม ทำให้ผู้ค้าต้องการใช้เรือที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่ขนาดความยาว 60 ฟุตขึ้นไป และมีแนวโน้มที่เรือประเภทมอเตอร์จะขยายตัวดีกว่าประเภทอื่นๆ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกสบาย ซึ่งย่อมทำให้มูลค่าของเรือสูงตามไปด้วย นั่นคือสุดท้ายแล้วลูกค้าที่ใช้เรือก็จะต้องการบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วยจึงยิ่งต้องเลือกผู้ให้บริการที่มีความพร้อมอย่างแท้จริง เมื่อเล่าถึงต้นทางของการรับมอบภารกิจบริหารกิจการค้าเรือยอชต์ตั้งแต่เมื่อปี 2549 หลังจากผ่านการเรียนรู้งานในธุรกิจฝั่งมารีน่ามาระยะหนึ่งนั้น วริศย้ำว่า “ผมเองโชคดีที่พ่อเปิดโอกาสให้ลูกๆ ได้ทดลองทำธุรกิจต่างๆ และให้มาสืบทอดธุรกิจนี้” เพราะตัวเขาเองมีความชื่นชอบในการเล่นเรือยอชต์และมีโอกาสได้ซึมซับประสบการณ์ตั้งแต่วัยเด็กเมื่อได้ออกไปล่องเรือกับบิดา แม้ไม่ได้มีความตั้งใจแต่แรกว่าจะได้มาพัฒนากิจการจนไปไกลถึงระดับภูมิภาคเช่นในวันนี้จากวันแรกถึงวันนี้ วริศพบว่าสิ่งที่ท้าทายและได้เรียนรู้กว่า 10 ปีที่ดูแลกิจการมา คือจำเป็นต้องมีความรู้และความพร้อมในการให้บริการ นอกจากนี้ต้องสร้างความเชื่อถือให้แก่ลูกค้า ตลอดจนต้องมีทีมงานที่มีความรู้และได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ภาพ: กิตติเดช เจริญพรคลิกอ่าน "วริศ ยงสกุล ค้าเรือยอชต์ให้โลดแล่น" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ มีนาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine