มานพ ลี้โกมลชัย ลุกขึ้นมาสานฝันในวัยเกษียณด้วย “แพชชั่นสุดท้าย” ขอเป็นผู้กำหนดกฎเองนอกกรอบ OEM พร้อมทั้งสร้างเวที ปูทางให้คนรุ่นหลัง รังสรรค์ตำนานพลิกโฉมวงการข้าวไทยให้จรัสแสงเหมือนในดินแดนอาทิตย์อุทัย
กลุ่มบริษัทมโนยนต์ ที่ก่อตั้งโดย มาโนช ลี้โกมลชัย เมื่อกว่า 50 ปีก่อน อาจจะไม่เป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชนที่อยู่นอกแวดวงยานยนต์มากนัก เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุน อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาบริษัทญี่ปุ่น มโนยนต์เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีด้วยยอดขายรวมกันหลายหมื่นล้านบาทของบริษัทในเครือและบริษัทร่วมทุนกว่า 50 บริษัท
เบื้องหลังความสำเร็จของมาโนช มีน้องชาย มานพ ลี้โกมลชัย ช่วยดูแลงานฝั่งด้านโรงงานตั้งแต่ยุคเริ่มต้นเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ยกระดับกิจการจากการเป็นผู้ค้าอะไหล่ในย่านวรจักรและสวนมะลิ (อย่างไรก็ตามมานพกล่าวด้วยความถ่อมตัวกับ Forbes Thailand ว่าเขาเป็นเพียง “เฟืองจักร” ตัวหนึ่งเท่านั้น ขณะที่มีคนอีกหลายคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ)
“ตัวเขาเองมีความฝัน อยากจะสร้างโรงงานของตัวเอง ผมตอนนั้นจบม.ศ.5 อัสสัมชัญ บางรัก และกำลังจะเรียนต่อ พี่บอกไปไหม เราก็เชื่อมั่นในตัวเขา เราไม่รู้ ไม่มีพื้นฐานอะไรเลย เรียนศิลป์มาด้วยซ้ำ เขาบอกมันมีทางแบบนี้ มาทำโรงงานดีกว่า อย่าไปเรียน”
มานพเล่าประวัติการเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตของกลุ่มมโนยนต์ ที่เริ่มต้นจากการที่เขาถูกส่งไปศึกษาดูงาน และกินนอนอยู่กับประธานบริษัท ฟูรูฮาชิ ออโต้ อีเลคทริค พาร์ท ที่สนใจจะร่วมทุนเปิดโรงงานในไทยกับกลุ่มมโนยนต์เมื่อปี 2517
หลังจากใช้ชีวิตในดินแดนซามูไรเป็นเวลา 2 ปี มานพบินกลับไทยเพื่อเตรียมการสร้างโรงงาน ทว่ายังไม่ทันได้เริ่มต้นอะไรไปมากนัก ก็ได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของประธานบริษัทฟูรูฮาชิ ทำให้ฝ่ายไทยต้องล้มแผนการร่วมทุนและเดินหน้าโครงการผลิตแต่เพียงลำพัง แต่โครงการนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะขาดโนว์ฮาว
ไม่นานหลังจากนั้น รัฐบาลประกาศมาตรการบังคับใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (โลคอลคอนเทนต์) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ ส่งผลให้ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทญี่ปุ่น ต้องออกไปเชิญชวนผู้ผลิตชิ้นส่วนจากญี่ปุ่นให้เข้ามาตั้งโรงงานในไทย
- ธรรมนูญร้อยปี “กลุ่มสิทธิผล” ถอดความสำเร็จโฮลดิ้งหมื่นล้าน (ตอน 1)
- ภิญโญ พานิชเกษม YSS ท้าแข่งแต่งโช้คระดับโลก
หนึ่งในนั้นคือนิชชินเบรคซึ่งซูซูกิชักชวนให้เข้ามาตั้งโรงงานผลิตชุดเบรก นำมาสู่การจัดตั้ง บริษัท เอ็ม.เอ็น.อุตสาหกรรม จำกัด ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างนิชชินเบรคกับกลุ่มมโนยนต์เมื่อปี 2522 จากนั้นงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ญี่ปุ่นก็หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และขยายไปทำชิ้นส่วนอื่นๆ อาทิ หัวสูบ เสื้อสูบ และงานอะลูมิเนียมอื่นๆ
มานพซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธาน บริษัท นิชชินเบรค (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า บริษัทกำลังขึ้นโรงงานแห่งที่ 6 ที่นครราชสีมา และโรงหล่อเหล็กแห่งที่ 2 ที่ขอนแก่นในปีนี้ โดยมียอดขายเกือบ 9 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม รองประธานนิชชินเบรควัย 66 ปี ได้ “ รีไทร์” จากกิจการอื่นๆ ของกลุ่มมโนยนต์ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อหันมาบุกเบิกธุรกิจเครื่องสีข้าวและชุดหางเรือ (longtail shaft) ภายใต้กลุ่มบริษัทซีแอลพี ที่ถือหุ้นและบริหารงานโดยเขา ภรรยา และลูกๆ
สลัดกรอบ OEM เพื่อเดินตามความฝัน
“เราเป็น OEM มาทั้งชีวิต ก็แฮปปี้นะ 30-40 ปีเราโตมา ได้โนว์ฮาวได้อะไร แต่มันอยู่ในกรอบที่เขาวางไว้ให้ คุณจะออกนอกกรอบไม่ได้...”
มานพกล่าวถึงเหตุผลในการหันมาริเริ่มกิจการใหม่ในวัยเกษียณ ที่สลัดกรอบของ OEM มาเน้นงานวิจัยและพัฒนา และการทำการตลาดสินค้าของตนเอง โดยเริ่มจากสินค้า 2 กลุ่มหลักคือ เครื่องสีข้าว และชุดหางเรือทั้งแบบเกียร์ทดนอก (reduction) และต่อตรง
มานพในหมวกของซีอีโอกลุ่มซีแอลพีเปิดเผยว่า ธุรกิจเครื่องสีข้าวของเขามีจุดเริ่มต้นจาก “งานอดิเรก” ภายในโรงงานสมัยที่ยังดูแลโรงงาน ไดซิน ที่โคราช เนื่องจากความเป็นคนชอบงานทำงานนวัตกรรม ผนวกกับความต้องการให้พนักงานของบริษัทซึ่งมีจำนวน 2,000-3,000 คน ได้รับประทานข้าวสีสดใหม่ เหมือนคนญี่ปุ่นที่เขาเคยได้ไปสัมผัสมา เขาจึงให้ทีมงานวิศวกรรมของโรงงานมาทำการศึกษาร่วมกับอาจารย์ที่ทำวิจัยในเรื่องนี้ จนสามารถพัฒนาเครื่องสีข้าวที่ทำงานได้ดีในระดับหนึ่ง
“ตอนนั้นคอนเซปท์มันดีมากเลย คือเอาเครื่องสีข้าวไปตั้งไว้เลยที่หลังโรงงาน เช้าสีปุ๊บ เที่ยงได้กิน เราได้ทั้งวิตามิน ได้ทั้งความอร่อย ความนิ่ม ในราคาที่พอๆ กัน แล้วเราไปซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาแถวนั้น ได้ CSR ด้วย”
หลังจากซุ่มทำวิจัยและพัฒนาประมาณ 7 ปี บริษัท ซีแอลพี อินเตอร์เทรด จำกัด จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อเริ่มงานขายอย่างจริงจัง และเสริมทีมให้แข็งแกร่งขึ้นเมื่อได้ลูกสาวคนสุดท้อง วัชรา ลี้โกมลชัย เข้ามาช่วยงานของครอบครัวเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว
วัชรากล่าวว่า เนื่องจากคุณพ่อไม่ต้องการเดินตามโมเดลของธุรกิจร่วมทุนที่เคยทำมาในอดีต จึงเลือกใช้โมเดล “co-develop” หรือการร่วมพัฒนาสินค้า โดยแบ่งบทบาทกันให้ซีแอลพีเป็นผู้ผลิต
ขณะที่ในตลาด Taiwa Seiki Corporation ที่เป็น specialist และผู้นำในตลาดเครื่องขัดข้าวและเครื่องสีข้าวแบบหยอดเหรียญในญี่ปุ่น มีข้อตกลงจะเข้าไปขายเช่น จีน และไต้หวัน ซีแอลพีจะพิจารณาผลิตสินค้าให้ตามสเปกที่ Taiwa ต้องการภายใต้แบรนด์ของ Taiwa ขณะที่ในตลาดไทยและตลาดอื่นๆ ก็จะใช้แบรนด์และสเปกของบริษัทเอง
ด้วยเทรนด์ด้านสุขภาพ และนโยบายส่งเสริม “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” ของภาครัฐ วัชราเชื่อว่าตลาดเครื่องสีข้าว/เครื่องขัดข้าวไทย มีโอกาสตามรอยญี่ปุ่นและเติบโตจาก “หลักร้อย” มาเป็นหลักแสนเครื่องได้ในอนาคต ซึ่งในญี่ปุ่นนั้นชาวนารายย่อยจะมีเครื่องสีข้าวไว้ใช้เอง ทำให้สามารถลดการพึ่งพาโรงสีใหญ่
“...จากชาวนาทั้งหมดซึ่งมีอยู่ประมาณ 3-4 ล้านครัวเรือน นโยบายที่ออกมาก็คือจะต้องเทิร์นกลุ่มพวกนี้ให้เป็นสมาร์ทฟาร์เมอร์ 10-15% ก็คือประมาณ 3-4 แสนครัวเรือน เพราะฉะนั้น 3-4 แสนครัวเรือนเขาจะจับกลุ่มกัน อย่างเครื่อง 200 กิโลนี่มันไม่ใช่ 1:1 บ้าน เขาต้องแชร์กันอย่างน้อย 3-4 ครัวเรือน เพราะฉะนั้นตลาดของมันจริงๆ แล้ว ที่น่าจะเป็นไปได้ก็ประมาณ 1 แสนเครื่อง”
- กัมปนาท มานะธัญญา กล้าข้าวใหม่แห่ง “หงษ์ทอง”
- ศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ แห่ง ‘ธนสรรไรซ์’ เสือตัวใหม่วงการผู้ส่งออกข้าว
อย่างไรก็ตาม การผลักดันจากฝั่งผู้ผลิตอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เมื่อเร็วๆ นี้ซีแอลพีจึงเปิดตัวแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ ซีแอลพี ลีฟวิ่ง เพื่อเน้นเจาะตลาดคอนซูเมอร์ และมีการเปิดตัวเครื่องขัดข้าวรุ่นสำหรับใช้ในบ้านเมื่อมิถุนายนที่ผ่านมา ควบคู่กับการออกผลิตภัณฑ์ข้าวถุง 6 แบบ 6 เบลนด์เพื่อตอบโจทย์สุขภาพ
นอกจากนี้ยังมีโครงการสร้างศูนย์การเรียนรู้บนพื้นที่ 6 ไร่ ที่จังหวัดปทุมธานี และอีก 100 ไร่ที่โคราช โดยจะเป็นคอมเพล็กซ์ที่ประกอบด้วยแปลงข้าวและแปลงผักสาธิตนวัตกรรมเกษตร ให้คนเมืองได้เข้ามาใช้ไลฟ์สไตล์และเรียนรู้วิถีการทำการเกษตรยุคใหม่ รวมทั้งจับมือกับ Banana Leaf ซึ่งอนุญาตให้ซีแอลพีจัดวางเครื่องสีข้าวหยอดเหรียญไว้ที่หน้าร้านสาขา
ในส่วนของธุรกิจชุดหางเรือนั้นเกิดจากการชักชวนของฮอนด้า ผู้ผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์ซึ่งต้องการสนับสนุนผู้ผลิตชุดหางเรือที่มีคุณภาพ โดยที่ผ่านมาได้มีการส่งออกไปตลาดแอฟริกา และเพิ่งได้ตัวแทนจำหน่ายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจมารีนทางตอนใต้ของอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้ ตั้งเป้ารายได้จากธุรกิจหางเรือซึ่งเป็นตลาดส่งออก 60% เครื่องสีข้าวและสินค้าเกี่ยวกับข้าวอื่นๆ 40%
“เราก็แฮปปี้นะ คืออายุขนาดนี้เราก็อยากจะทิ้งเวทีอะไรดีๆ ไว้ให้กับรุ่นหลัง...” มานพกล่าว
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร
คลิกอ่านบทความฉบับเต็มของ “พลิกโฉมข้าวไทยให้จรัสแสง "แพชชั่นใหม่" ของ มานพ ลี้โกมลชัย” ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนกรกฎาคม 2562 ในรูปแบบ e-Magazine