บริษัท ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ACG บริษัทดีลเลอร์รถยนต์รายแรกและรายเดียวในปัจจุบัน ที่นำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าในนาม บริษัท ฮอนด้ามะลิวัลย์ จำกัด โดยเป้าหมายของ ภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์ คือเตรียมขับเคลื่อน ACG ขยายสาขาไปทั่วไทย พร้อมทั้งปั้นศูนย์บริการซ่อมให้กับรถยนต์ทุกยี่ห้อ
มิถุนายน 2562 ภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์ ได้นำบริษัท ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ ACG ซึ่งถือหุ้นในบริษัทดีลเลอร์รถยนต์นำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai และอีก 1 ปีต่อมาได้ย้ายหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เป็นบริษัทดีลเลอร์รถยนต์รายแรกและรายเดียวในประเทศไทยที่ทำได้สำเร็จ ทั้งที่ในช่วงแรกตั้งบริษัทเมื่อ 26 ปี ก่อนประสบปัญหาขาดทุนติดต่อกันถึง 13 ปี บมจ. ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง หรือ ACG เป็นบริษัทโฮลดิ้งถือหุ้นใน บริษัท ฮอนด้ามะลิวัลย์ จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้า มีสาขา 10 แห่งในจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ภูเก็ต และกระบี่ จังหวัดละ 2 สาขา โดยสาขามะลิวัลย์ (สำนักงานใหญ่) จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่โชว์รูม 2,400 ตารางเมตร และพื้นที่ศูนย์บริการ 8,200 ตารางเมตร ซึ่งในปีที่ก่อสร้างนั้นนับว่ามีพื้นที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับรถยนต์ทุกยี่ห้อในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังถือหุ้นใน บริษัท ออโตคลิก บาย เอซีจี จำกัด ทำธุรกิจซ่อมรถยนต์แบบเร่งด่วน (Fast Fit) ซึ่งมีแผนเปิดดำเนินการปลายปี 2563 ธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์มีรายได้จากการขาย ซ่อมบริการ นายหน้าประกันภัยและนายหน้าเช่าซื้อ โดยสัดส่วนรายได้ร้อยละ 80 มาจากการขายรถยนต์ อีกร้อยละ 20 จากการซ่อมบริการและอื่นๆ แม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยแต่มี margin ดีกว่า จากข้อมูลดังกล่าวภานุมาศจึงขยายกิจการมาทำธุรกิจ Fast Fit นับจาก 2547 กิจการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 รายได้รวม 3,124 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 54 ล้านบาท เติบโตจากปี 2561 ที่มีรายได้และกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,413 ล้านบาท และ 28 ล้านบาท ตามลำดับ ภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮอนด้ามะลิวัลย์ จำกัด เริ่มทำธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์ ขณะอายุ 24 ปี หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำงานเป็นโบรกเกอร์บริษัทหลักทรัพย์ 1 ปี จึงกลับมาทำงานที่บ้าน เนื่องจากเป็นบุตรคนโตและบิดาต้องการให้มาสานต่อกิจการก่อสร้างของครอบครัว แต่เจ้าตัวอยากทำงานด้านอื่น กระทั่งในปี 2534 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงประกาศโฆษณา บริษัท ฮอนด้า คาร์ส์ (ประเทศไทย) จำกัด รับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งในนั้นมีจังหวัดสุรินทร์ด้วย เขาจึงสมัครไปทั้งที่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ต้องแข่งขันกับพ่อค้ารายอื่นๆ ที่ต่างมีประสบการณ์ทางธุรกิจอีก 10-20 ราย ขณะที่ภานุมาศอายุน้อยสุดและเพิ่งเรียนจบ วันนี้ในวัย 50 ปีเศษ ภานุมาศยังจำเหตุการณ์ในปี 2534 ได้ดี คราวที่ Mr. Sho Minekawa ตำแหน่ง Vice President ฝ่ายขายไปสัมภาษณ์ที่บ้านเขาสามารถตอบคำถามได้ทั้งหมดว่า ฮอนด้า คาร์ส์ มีทุนจดทะเบียนเท่าไร ใครถือหุ้นกี่เปอร์เซ็นต์ กำลังการผลิตเดือนละกี่คัน มาร์เก็ตแชร์เท่าไร รถรุ่นไหนขายดี ผู้บริหารญี่ปุ่นถึงกับแปลกใจต้องเข้าใจว่าในสมัยนั้นข้อมูลไม่ใช่หาได้ง่ายๆ เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสดังเช่นปัจจุบัน นั่นเป็นเพราะว่าที่นักธุรกิจหนุ่มไปตามเรื่องที่ฮอนด้าบ่อยๆ และบริเวณที่นั่งรอมีหนังสือโปรไฟล์ของบริษัทซึ่งเขาก็อ่านและจำได้ หลังสัมภาษณ์เสร็จคนเป็นพ่อเอ่ยปากกับฝั่งฮอนด้าโดยให้ลูกชายเป็นล่ามว่า “ผมมีทุนให้ลูกทำ เขาเพิ่งเรียนหนังสือจบถ้าคุณให้ลูกผมทำ เขาทำให้คุณ 40-50 ปี พูดแค่นั้นเอง อีก 2 อาทิตย์ฮอนด้าตอบตกลง” ภานุมาศเล่ากลั้วหัวเราะขาดทุนสะสม 13 ปี
แม้เป็นบริษัทขายรถยนต์ในต่างจังหวัด แต่ภานุมาศให้ความสำคัญกับการวางระบบบัญชีแบบมืออาชีพ แรงบันดาลใจมาจากการถูกหน่วยงานรัฐด้านภาษีเชิญพบในปีแรกที่ทำธุรกิจ เพราะจัดทำบัญชีภาษีอากรไม่ถูกต้อง เพื่อแก้ปัญหาข้างต้นเขาจึงติดต่อบริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นมี 5 แห่ง โทรศัพท์ติดต่อ 4 แห่ง ทุกแห่งปฏิเสธหมด เพราะเป็นบริษัทขนาดเล็ก มีรายที่ 5 รับทำและวางระบบให้ พนักงานของบริษัทบัญชีพูดคำหนึ่งว่า สำนักงานไม่รับวางระบบบัญชี 2 เล่ม เราทำเล่มเดียวแล้วใช้การบริหารเสียมากก็บริหารให้เสียภาษีน้อยลง และบอกว่าการจัดทำบัญชีให้ถูกต้องจะทำให้บริษัทเติบโตได้ในอนาคต ซึ่งผู้ก่อตั้ง ACG เห็นด้วยและยึดในหลักการนี้มาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ ทว่า หลังจากนั้นไม่นานก็เจอพิษวิกฤตเศรษฐกิจ และปี 2540 ประเทศไทยเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งยอดขายรถน้อยลง ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง เป็นช่วงเวลาที่ยากจะลืมเลือน “ผมใช้ทุนของทางบ้าน ไม่ได้มีเงินกู้มากมาย รถยนต์ขายลดลงมากกว่า 90% บางปีขายได้ไม่ถึง 20 คัน ขณะที่ปัจจุบันวันเดียวขายได้มากกว่า 20 คัน ธุรกิจแบบผมไม่มีบัญชี เขาจะดูความสำเร็จจากยอดขาย cash flow ผมมองผลประกอบการเป็นหลัก...ผมขาดทุนตลอดมา 13 ปี เริ่มทำธุรกิจตอนอายุ 26 ปี อายุ 40 ปีเพิ่งปริ่มๆ ไม่ใช่ว่าฮอนด้าไม่ดี แต่เป็นตัวผมที่ทำธุรกิจ ลองนึกว่า fail ขนาดไหน ผมบอกแฟนเสมอ คนเราจะเก่งขึ้นต้องเจอความล้มเหลวมาก่อน” ภานุมาศกล่าวและเสริมว่า “ผมขายรถยนต์ฮอนด้า รถเก๋งขายได้น้อยไม่เหมือนพิกอัป หลังต้มยำกุ้งบริษัทขาดทุนสะสมเกินกว่าทุนที่มีอยู่ ทางบัญชีบอกว่าธุรกิจนี้ไม่สามารถดำเนินอยู่ได้ auditor เองจะไม่เซ็นให้...ตอนนั้นโทษตัวเองมาตลอด เรามีโอกาสดีกว่าคนอื่นแต่ไม่สามารถฉวยโอกาสตรงนั้นไว้ เรานี่แย่จริงๆ ทำธุรกิจแล้วขาดทุน ก็พยายามต่อสู้มาตลอด แต่สิ่งหนึ่งที่ยึดมั่นคือ การทำบัญชีให้ถูกต้อง”ขยายอาณาจักร
ใครที่มีโอกาสไปใช้ศูนย์บริการของฮอนด้ามะลิวัลย์ (บริษัทซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจหลักของ ACG) อาจประหลาดใจในความหรูหราโอ่อ่า เช่น ศูนย์บริการที่สำนักงานใหญ่ในส่วนของมุมรับรองที่มีห้องเธียเตอร์ มุมอาหาร เครื่องดื่ม กาแฟ ไอศกรีมไว้รับรองลูกค้า มีมุมชาร์จโทรศัพท์ สัญญาณไวไฟให้ลูกค้าสามารถท่องเน็ตอย่างเพลิดเพลินระหว่างรอรับรถ ทั้งหมดนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ด้วยบริการดังกล่าวทำให้ฮอนด้ามะลิวัลย์ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ซึ่งภานุมาศบอกว่า เขาจะนำโมเดลนี้ไปใช้ใน บริษัท ออโตคลิก บาย เอซีจี จำกัด บริษัทที่เพิ่งเปิดใหม่ทำธุรกิจให้บริการซ่อมรถยนต์ ปัจจุบันฮอนด้ามะลิวัลย์ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้า ส่วนออโตคลิกเป็นการให้บริการซ่อมรถยนต์ทุกแบรนด์ ทั้งนี้ประเทศไทยมีรถยนต์ประมาณ 20 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นรถยนต์ฮอนด้า 1 ล้านคันเศษ อีก 18-19 ล้านคัน ซึ่งเป็นลูกค้าอีกกลุ่ม เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่กว่า แต่บริษัทยังไม่เคยเข้าถึง เมื่อจะมาทำธุรกิจซ่อมรถยนต์จึงเกิดคำถามเสมอว่ามั่นใจแค่ไหน “Fast Fit คือธุรกิจใหม่ของ ACG แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเดิมที่เราทำอยู่ทุกวัน เดิมเราอาจยุ่งอยู่กับ 5,000-7,000 item แต่พอเราทำ Fast Fit อาจเหลือ 100-200 item ประเภทชนิดชิ้นส่วนอะไหล่ การ manage น่าจะง่ายขึ้น งานบริการ margin ค่อนข้างสูง scale การลงทุนต่างกัน มองว่าโอกาสไปได้อีกเยอะเราอยากให้บริษัทเติบโตไป ต้องใช้คำว่ารถยนต์ 1 คันหากเดินดูรอบรถยนต์อะไรทำได้เราจะเข้าไปทำ” ปี 2561 ฮอนด้ามะลิวัลย์ข้ามแดนจากอีสานมาเปิดสาขาที่ภูเก็ต หลังจากกลุ่มอนุภาษวิวิธการของตระกูลหงษ์หยก ยุติการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าในจังหวัดภูเก็ตและพังงา และบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) แต่งตั้ง บจ.ฮอนด้ามะลิวัลย์ ให้เป็นตัวแทน ภานุมาศบอกว่า ก่อนตอบรับเขาใช้เวลาคิดอยู่นาน เพราะอยู่ห่างจากถิ่นเดิมถึง 2,000 กิโลเมตร แต่ด้วยความที่มั่นใจว่าการมีรายงานการเงินและการกำกับกิจการที่ดี ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถทำธุรกิจได้ เป้าหมายต่อไปคือ การขยายศูนย์จำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งทำธุรกิจซ่อมรถยนต์แบบเร่งด่วนในนามบริษัท ออโตคลิก บาย เอซีจี จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมการ “ตั้งใจว่าจะเปิดให้ได้ปีละ 10 สาขา และทุกภูมิภาค เรากำลังศึกษาอีกธุรกิจ การที่เราเป็นดีลเลอร์รถยนต์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เป็นรายแรกแสดงว่าอย่างน้อยเราก็สอบผ่านเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี...เรามีความเข้าใจ เชี่ยวชาญระบบพวกนี้ มีทีมงานที่พร้อม ต่อไปจะรับทำระบบเหมือนกับพวก solution software system ขายให้กับศูนย์รถยนต์ทั่วไป ตอนนี้ธุรกิจรถยนต์ส่วนใหญ่ในไทยเป็น family business และ family management ยังไม่มืออาชีพ เราอยู่ตรงนี้เหมือนได้ใบเซอร์ฯ เรากำลังศึกษาจะเอาระบบพวกนี้เข้าไปในธุรกิจไอที” ภาพร่างอนาคตที่อยากเห็นคือ บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่นคงโดยเหตุผลที่นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อครั้งหนึ่งพนักงานที่เขาไว้ใจไปทำตัวอย่างที่ไม่ดี พอตักเตือนก็ลาออกยกทีมภายใน 2 ชั่วโมง “ผมทำธุรกิจมาร่วม 20 ปี ปัญหาวนเวียนอยู่อย่างนี้ เข้าๆ ออกๆ ผมคิดได้อย่างหนึ่งเพราะขนาดธุรกิจเล็กเกินไป คนที่อยู่แต่ละส่วนคิดว่าตัวเองมีความสำคัญ ผมคิดว่าไม่เป็นไรจะทำให้บริษัทใหญ่ขึ้น เมื่อพนักงานมากขึ้นบทบาทของแต่ละคนจะเล็กลง และจะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ตอนนั้นลูกคนโตเพิ่งเกิด คิดว่าพอผมอายุ 60 ปี ลูกอายุ 15 ปี...หากวันหนึ่งเราหมดแรงที่จะทำ ลูกยังไม่โต ในฐานะพ่อจะทำอย่างไรให้มีระบบปกป้องเพื่อไม่ให้ลูกถูกรังแก" ทั้งนี้เขายังได้ทิ้งท้ายเป้าหมายในการนำบริษัทระดับไปประเทศไม่ได้จำกัดแค่ภูมิภาคอีสานหรือใต้ “ถ้าคนเราตามองดาว เท้าติดดิน จากอีสานไปภูเก็ต 2,000 กม. เหมือนอีกประเทศหนึ่ง ถ้าวันนั้นเราแข็งแรง มีโอกาสมากพอ การไปต่างประเทศก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินคิด” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร สถานที่: ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต แห่งภูมิภาคอาเซียน (SEAC)คลิกอ่านฉบับเต็ม "ภานุมาศ รังคกูลนุวัฒน์ ขับเคลื่อน ACG ทะยานทั่วไทย" และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2563 ในรูปแบบ e-magazine