อเมริกาจะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ภายใต้ประธานาธิบดี Donald Trump ได้หรือไม่ และความเสี่ยงของไทยอยู่ตรงไหน
ถึงเวลาแล้วที่นาย Donald Trump จะเข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ หลังจากพิธีสาบานตนเมื่อวันที่ 20 มกราคม หลังจากนี้จะถือว่าเป็นการทดสอบว่าสิ่งที่นาย Trump เคยโฆษณาเอาไว้ระหว่างการหาเสียงจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ในช่วงระหว่างการหาเสียง นาย Trump ได้สัญญากับนักลงทุนเอาไว้หลายประการ อาทิ การเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ การปรับลดภาษีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล การนำงานกลับมาในสหรัฐฯ รวมถึงการลดกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น ดังนั้น สิ่งที่นักลงทุนจะจับตามองเป็นอย่างมากในระยะต่อไป จะเป็นช่วงเวลา 100 วันแรกของการเข้ามาทำงานของนาย Trump ว่าจะสามารถเอาเร่งการออกนโยบายออกมาได้มากน้อยเพียงใด
ในครั้งนี้ เราขอกลับไปมองย้อนอดีตด้านการเมืองของสหรัฐฯ ถึงความแตกต่างในเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีในแต่ละพรรคหากเราย้อนกลับไปดูในช่วง 69 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปี1947-2016) เราจะเห็นว่าอัตราการขยายตัวของ GDP สหรัฐฯ มีความแตกต่างกันโดยค่าเฉลี่ยของ GDP ภายใต้การนำประธานาธิบดีฝั่ง Democrat จะอยู่ที่ 3.84% ขณะที่ภายใต้การนำประธานาธิบดีฝั่ง Republican จะอยู่ที่ 2.67% นั่นหมายความว่าโดยภาพรวม ฝั่ง Democrat เห็นการขยายตัวในระดับที่สูงกว่าถึง 1.17%
ขณะที่หากมองเป็นรายไตรมาส ช่วง 277 ไตรมาสที่เราทำการวิเคราะห์นั้น เราจะเห็นว่า ประธานาธิบดีจากฝั่ง Republican เข้ามาบริหารประเทศเป็นจำนวน 144 ไตรมาส ซึ่งในจำนวนนั้น มี 41 ไตรมาส ที่เราเห็นเศรษฐกิจอยู่ในภาวะถดถอย (Recession) หรือคิดเป็นสัดส่วน 28.5% ขณะที่ในอีก 133 ไตรมาส เป็นการบริหารงานจากฝั่ง Democrat ซึ่งมีจำนวน 11 ไตรมาสที่เห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะถดถอย หรือคิดเป็นสัดส่วน 18.8% สถิติเหล่านี้แม้อาจไม่สามารถนำมาใช้กับเหตุการณ์ในปัจจุบันได้ดีมากนัก แต่เป็นการบอกว่าโดยปกติแล้วนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯ เห็นขยายตัวได้ดีกว่าภายใต้การบริหารของพรรค Democrat และอาจเป็นการบอกว่ารัฐบาลแบบ Democrat ที่เน้นการเอาทรัพยากรมาบริหารโดยรัฐ อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะให้ภาคเอกชนจัดการทรัพยากรเอง และรัฐเข้ามาช่วยในเชิงของการลดกฎเกณฑ์ อย่างนโยบายของ Republican
เป็นที่สังเกตว่า ไม่ว่าสหรัฐฯ จะถูกบริหารภายใต้พรรคใด เศรษฐกิจดูเหมือนจะมีความแข็งแกร่งด้วยตัวเอง หากเราตัดประเด็นเรื่องการเมืองของสหรัฐฯ ออกไป และมองแต่พื้นฐานของเศรษฐกิจ เราจะพบว่าสหรัฐฯ มีจุดแข็งในเรื่องของตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในปี 2016 สหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงถึง 2.2 ล้านตำแหน่ง และทำให้อัตราการว่างงานปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.7% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวัฏจักรเศรษฐกิจก่อน ๆ ที่ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดของเศรษฐกิจพัฒนาการดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ว่าแม้ว่าจะไม่มีนโยบายการคลังของนาย Donald Trump เข้ามาหนุน เศรษฐกิจก็น่าจะยังสามารถที่จะไปได้ ทำให้เรามองว่า น่าจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เพิ่มเติมได้ในปี 2017
ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักเอาไว้ คือ แม้ว่าสหรัฐฯ จะปรับตัวได้ค่อนข้างดี แต่การที่เศรษฐกิจอื่น ๆ ยังมีความเปราะบางอยู่นั้น ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ จะเป็นแบบค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป เนื่องจากเรายังอยู่ในโลกโลกาภิวัฒน์ที่ความเชื่อมโยงของโลกมีมากมาย ในปี 2017 แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดี ความเสี่ยงข้างหน้าที่เราจะติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นความเสี่ยงจากทั้งยุโรปที่จะมีประเด็นเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็น BREXIT หรือการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศหลัก ๆ ในยุโรปหลายประเทศ รวมถึงความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเงินของจีน จากการที่เงินทุนไหลออกจากจีนค่อนข้างมากและทำให้เงินทุนสำรองของจีนปรับลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา
ประธานาธิบดีTrump กับเศรษฐกิจไทย
ในช่วงพิธีสาบานตน นาย Trump ได้ชูนโยบายหลักที่เน้น “America First” หรือ มาเป็นแกนหลัก โดยย้ำว่าเขาจะนำการจ้างงานกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น ช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิต ป้องกันการค้าที่ไม่เป็นธรรม และปกป้องผลประโยชน์ในนโยบายระหว่างประเทศ ซึ่งก็เป็นการย้ำจุดยืนเดิมที่เน้นไปที่ชาตินิยม แน่นอนว่าหากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ แบบกีดกันถูกนำมาใช้จริง น่าจะเป็นนโยบายที่มีอิทธิพลในเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด ในปัจจุบัน เรายังไม่เห็นความชัดเจนในเรื่องนโยบายด้านนี้นัก แต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงในระดับสูง สำหรับในภูมิภาคเอเชียนั้น เวียดนาม และจีน มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ในระดับที่สูงที่สุด คือ 21% และ 18% ส่วนในกรณีของไทยนั้น สัดส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ใหญ่ประมาณ 11% ของการส่งออกทั้งหมด แม้ดูเหมือนว่าความเสี่ยงไทยจะไม่ได้อยู่ในระดับสูงนัก แต่หากประเมินจากความเสี่ยงจากความเชื่อมโยงทางอ้อม เราจะพบว่า ไทยพึ่งพาการส่งออกไปยังจีนกว่า 11% ของการส่งออกทั้งหมด ทำให้เราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบได้ หากมีการนำนโยบายกีดกันมาใช้
อีกหนึ่งประเด็นที่จะมีผลต่อไทย และเราได้เห็นผลนั้นไปเรียบร้อยแล้ว คือ การเคลื่อนไหวของตัวแปรในตลาดการเงิน โดยความหวังเรื่องนโยบายของ Trump ที่จะทำให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งนั้น ทำให้เงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้นมามาก ขณะเดียวกันยังทำให้เงินอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรปรับสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งนั่นหมายความว่าได้ทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจไทยได้ปรับเพิ่มขึ้น โดยทั้งปี 2017 ยังมีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะปรับสูงขึ้นได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะหากเฟดมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจเองจำเป็นที่จะต้องเตรียมรับมือกับประเด็นนี้เอาไว้
โดยสรุปแล้ว คำถามที่ว่า นาย Trump จะสามารถทำให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งหรือไม่นั้น ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองในช่วงการทำงาน 100 วันแรกของประธานาธิบดีคนใหม่ ทั้งนี้ แม้ว่านโยบายการคลังส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่หากนโยบายด้านการค้าออกมาในทิศทางที่กีดกัน เรามองว่า แม้จะทำให้สหรัฐฯ กลับขยายตัวได้ดีได้ แต่ก็จะเป็นเพียงระยะสั้นและไม่ใช่การขยายตัวที่ยั่งยืน เป็นเพราะเรากำลังอยู่ในโลกที่เป็นแบบโลกาภิวัฒน์ระดับสูง ซึ่งความเชื่อมโยงมันมากกว่าที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะกีดันผู้อื่น และเติบโตเพียงคนเดียว ตามคำกล่าวที่ว่า “When other sneezes, U.S. will catch a cold” หรือหากเศรษฐกิจอื่นจาม สหรัฐฯ ก็หลีกเลี่ยงการติดหวัดไปไม่ได้
TAGGED ON