สหรัฐฯ และลิเบีย...ตัวแปรสำคัญต่อแนวโน้มราคาน้ำมันโลก
ตั้งแต่กลุ่ม OPEC ตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมันลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อสิ้นเดือน พ.ย. 2016 ราคาน้ำมันก็ “วิ่ง” ขึ้นมาราว 20% มายืนเหนือระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล รับข่าวดีจากการบรรลุข้อตกลงลดการผลิตน้ำมันดิบเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี แต่สิ่งที่ตลาดยังไม่ได้ให้น้ำหนักมากเท่าที่ควร ก็คือแนวโน้มการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งจะช่วยชดเชยอุปทานน้ำมันดิบที่ลดลงจากกลุ่ม OPEC และอาจเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยประเทศที่น่าจับตามองนั้นได้แก่ สหรัฐฯ และ ลิเบีย
ลิเบียเป็นประเทศสมาชิก OPEC ซึ่งได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงลดการผลิตเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากลิเบียประสบปัญหาความไม่สงบในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันลดลงจากระดับปกติที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงก่อนปี 2010 มาอยู่ที่ราว 2-3 แสนบาร์เรลต่อวัน ในช่วงปี 2016 ทางกลุ่ม OPEC จึงยกเว้นการบังคับใช้โควต้าการผลิตกับลิเบีย และอนุญาติให้ลิเบียสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งหลังจากความขัดแย้งในประเทศเริ่มสงบลงในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตน้ำมันจากลิเบียก็ได้กลับมาเพิ่มขึ้นราว 4 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 6.9 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือน ม.ค.
ส่วนในสหรัฐฯ ราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้นตลอดปีที่แล้ว ได้ทำให้ผู้ผลิตหลายรายเริ่มกลับมาลงทุนขุดเจาะน้ำมันอีกครั้ง ซึ่งจะเห็นได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นถึงเกือบเท่าตัว (จากจุดต่ำสุดที่ 316 แท่นในเดือนพฤษาคม มาอยู่ที่ 591 แท่นในปัจจุบัน) การเพิ่มขึ้นของจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา ชี้ว่าระดับราคาน้ำมันในที่เกินกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลนั้น สูงเพียงพอที่จะทำให้ผู้ผลิตน้ำมัน Shale Oil ในสหรัฐฯ กลับมามีกำไรและเริ่มหันกลับมาลงทุนขุดเจาะน้ำมันเพิ่มขึ้น และทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มขึ้นราว 5 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นราว 9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปัจจุบัน กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ประเมินว่าปริมาณการผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่ในปี 2018 ที่ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าสูงสุดเดิมในปี 2015 ที่ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
Figure 1(ซ้าย): ปริมาณการผลิตน้ำมันจากลิเบียกลับมาเพิ่มขึ้น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน Figure 2(ขวา): ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5 แสนบาร์เรลต่อวัน
Source: Bloomberg, TISCO Economic Strategy Unit (ESU)
การผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ และลิเบีย ที่เพิ่มขึ้นมารวม 9 แสนบาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว (สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5 แสนบาร์เรลต่อวัน, ลิเบียเพิ่มขึ้น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน) นับเป็น 3 ใน 4 ของข้อตกลงการลดปริมาณการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันของกลุ่ม OPEC ซึ่งจะช่วยชดเชยอุปทานน้ำมันดิบที่หายไปจากตลาดโลก และอาจเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ตลาดน้ำมันโลกกลับสู่ภาวะ Oversupplied อีกครั้ง
นอกจากนี้ เรายังต้องจับตามองการประชุม OPEC ครั้งถัดไปในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ ซึ่งสมาชิกจะกลับมาหารือกันว่าจะต่ออายุข้อตกลงลดปริมาณการผลิตของกลุ่มต่อไปอีกหรือไม่ ซึ่งหาก OPEC ไม่สามารถตกลงกันได้ ราคาน้ำมันก็มีความเสี่ยงที่จะกลับมาลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี
TAGGED ON