ในปีนี้ เงินบาทแข็งค่ารวดเร็วกว่า 9% จากต้นปี ขณะที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเงินบาทเปลี่ยนแปลงเฉลี่ยเพียง 4.4% ต่อปี สาเหตุสำคัญหนึ่ง คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลอย่างมากในปีนี้ โดยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ที่น่าสังเกตคือ ในปีที่แล้ว ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเช่นกันถึง 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 12 % ของ GDP แต่เงินบาทในปีที่แล้วกลับแข็งค่าขึ้นเพียง 0.7% เท่านั้น ดังนั้น ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงอาจไม่ใช่ตัวแปรเดียวที่มีผลต่อค่าเงินบาท
ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลจะมีผลให้เงินบาทแข็งค่า เนื่องจากมีเม็ดเงินที่ไหลเข้าไทยในภาคเศรษฐกิจจริงมากกว่าไหลออก และในทางกลับกัน ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่า แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ของไทยกลับไม่ได้สอดคล้องกับทฤษฎีทุกช่วงเวลา ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ช่วงปี 2010-2013
(หมายเลข 1 ในภาพที่ 1) บัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลลดลงอย่างต่อเนื่องและเข้าสู่ภาวะขาดดุลในที่สุด ซึ่งตามทฤษฎี เงินบาทควรค่อยๆ อ่อนค่าลง แต่ข้อมูลกลับชี้ว่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และมีเพียงช่วงปลายปี 2013 เท่านั้นที่เงินบาทอ่อนค่าตามทฤษฎี
ข้อสังเกตหนึ่ง คือ นโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีอิทธิพลต่อเงินบาทเช่นกัน โดยในช่วงเวลานั้น สหรัฐฯ ประสบวิกฤตซับไพรม์ และธนาคารกลางของสหรัฐฯ ต้องใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในประเทศ และมีเงินบางส่วนไหลออกจาสหรัฐฯ เข้าสู่ตลาดเกิดใหม่และไทย ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และด้วยเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ทำให้การค้าขายของไทยในตลาดโลกชะลอลงและเป็นผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลลดลงด้วย
อิทธิพลของดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเงินบาทลดลงอย่างชัดเจนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
(หมายเลข 2 ในภาพที่ 1) เนื่องจากไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงต่อเนื่องขณะที่เงินบาทกลับผันผวนขึ้นลงโดยตลอด และหากเปรียบเทียบกับดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
(เส้นสีน้ำเงินในภาพ) จะพบว่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามเงินดอลลาร์มาโดยตลอด โดยเฉพาะในปีนี้ ความเชื่อมั่นของนายโดนัล ทรัมป์ ที่ตกต่ำลงอย่างมาก ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า และฉุดให้เงินบาทและเงินสกุลเอเชียส่วนใหญ่แข็งค่าขึ้นมาก (ภาพที่ 2)
ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงอาจไม่ได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทโดยตรง แต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อเงินทุนไหลเข้าไทยในตลาดพันธบัตร โดยประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมาก คือ ประเทศนั้นมีการออมมากกว่าการลงทุนค่อนข้างมาก สะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่พึ่งพิงต่างชาติและเศรษฐกิจในประเทศยังเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำ เป็นช่องทางทำกำไรจากส่วนต่างผลตอบแทนและเงินเฟ้อที่ต่ำของนักลงทุนได้ นอกจากนี้ หากเปรียบประเทศเป็นบริษัท ประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงจึงเหมือนกับบริษัทที่มีเงินสดหมุนเวียนในบริษัทปริมาณมาก ทำให้มูลค่าของบริษัทในตลาดสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงทางบัญชี ทำให้ประเทศที่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงเช่นไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนในรูปพันธบัตรด้วย
เมื่อกลับมาพิจารณาดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเทียบกับภูมิภาคพบว่า ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียรองจากสิงคโปร์และไต้หวัน (ภาพที่ 3) ทำให้ประเทศเหล่านี้มีเม็ดเงินไหลเข้าในตลาดการเงินเป็นปริมาณมาก ซึ่งน่าจะทำให้ประเทศเหล่านี้มีค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นมาก แต่ด้วยเงื่อนไขเรื่องนโยบายการเงินของประเทศทั้งสองที่กำหนดเป้าหมายไว้ที่อัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ที่อัตราเงินเฟ้อเช่นไทย ทำให้ค่าเงินของทั้งสองประเทศไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ขณะที่เงินบาทกลับแข็งค่ามากและแข็งค่าที่สุดในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจไม่ได้เกินดุลมากเท่ากับปีนี้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการนำเข้าที่คาดว่าจะเร่งตัวจากราคาน้ำมันที่ค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้รองรับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคการท่องเที่ยว
ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยทำให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง เนื่องจากจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันในราคาที่สูงขึ้น การวิเคราะห์ความอ่อนไหว (sensitivity analysis) พบว่า หากราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ /บาร์เรลจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะเกินดุลกว่า 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้ ลดลงเหลือเพียง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์เท่านั้น โดยสาเหตุที่คาดว่าจะราคาน้ำมันจะค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ การลดกำลังการผลิตน้ำมันในตลาดโลกของกลุ่มโอเปก แต่ด้วยราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นแรงจูงใจให้สหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตเช่นกัน
นอกจากนี้ การใช้สนามบินของไทยที่เกินกว่าศักยภาพมานานกว่า 2 ปีอาจทำให้ไทยไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ทั้งหมดในอนาคต โดยในเวลานี้ สนามบินนานาชาติหลักของไทย 5 แห่งซึ่งรองรับการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 95% ถูกใช้เกินกว่าศักยภาพ ทำให้ศักยภาพของสนามบินจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือเม็ดเงินที่ไหลเข้าประเทศได้ อีกทั้งตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา รายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติต่อหัวคงที่ที่ระดับ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนมาโดยตลอด ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวถูกจำกัดและเป็นปัจจัยทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ได้เกินดุลมากนักด้วย
ดังนั้น แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งหรืออ่อนค่าโดยตรง แต่เป็นปัจจัยสนับสนุนการตัดสินใจของนักลงทุนพันธบัตร และในปี 2018 นี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจเกินดุลลดลง ซึ่งจะช่วยให้ความน่าสนใจลงทุนของตลาดพันธบัตรไทยลดลง และเป็นเหตุให้เงินบาทไม่ได้มีปัจจัยกดดันให้แข็งค่ามากนัก