“เมื่อไหร่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยให้รู้แล้วรู้รอดไป!” ผมว่าหลายๆ คนที่ติดตามตลาดการเงินอย่างใกล้ชิดอยากให้ความไม่แน่นอนที่ทำให้ตลาดเงินผันผวนอย่างมากในช่วงนี้จบลงเสียที ทำให้รู้สึกเริ่มเซ็งและเบื่อหน่ายกับลีลาการเล่นตัวของธนาคารกลางที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Federal Reserve ของสหรัฐอเมริกาหรือที่รู้จักกันสั้นๆ ว่า “เฟด” ก็ต้องยอมรับว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในตอนนี้เข้าเป้าของเฟดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ที่ร่วงมาอยู่ที่ 5.1% หรืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวได้ถึง 3.7% ทำให้เหตุผลในการไม่ขึ้นดอกเบี้ยเริ่มหาได้ยากขึ้นทุกที
แม้หลายฝ่ายจะชี้แจงว่าทิศทางของเงินเฟ้อนั้น ยังไม่กระเตื้องขึ้น เฟดจึงยังไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในช่วงนี้ แต่งานวิจัยของปรมาจารย์ชั้นนำในสหรัฐฯ เองก็ชี้ให้เห็นว่า ผลจากดอกเบี้ยนั้นใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าจะส่งไปยังเงินเฟ้อ ดังนั้นจึงไม่ควรรอให้เงินเฟ้อวิ่งเข้าเป้าหมายก่อนขึ้นดอกเบี้ย ในทางกลับกัน ดอกเบี้ยต้องขึ้นก่อนเงินเฟ้อวิ่งออกจากกรอบถึง 2 ปีด้วยกัน (เป็นเหตุผลว่าทำไม ธนาคารกลางทุกที่ถึงต้องทำคาดการณ์เศรษฐกิจล่วงหน้าให้แม่นยำที่สุด) ผลจากความกลัวเพราะไม่รู้ว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเมื่อไหร่ส่งผลให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเหวี่ยงตัวเหมือนรถไฟเหาะตีลังกา เมื่อตอนต้นปีเราบ่นกันเรื่องบาทแข็งทำให้ผู้ส่งออกแข่งขันได้ยาก แต่ตอนนี้เรากลับมานั่งกุมหัวกับเงินบาทอ่อน จนกังวลว่าจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหม่ในเอเซีย (ซึ่งคงไม่เกิดขึ้นครับ ไม่ต้องกังวล) ค่าเงินมาเลเซียนริงกิตที่อ่อนค่าลงประมาณ 19% เมื่อเทียบกับเมื่อปลายเดือนเมษายน ในขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนลงไปกว่า 10% จากเดือนเมษายน และแม้จะมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง แต่อัตราที่บาทอ่อนค่าลงนั้น เรียกได้ว่าเกาะกลุ่มอยู่กลางๆ กับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคและตลาดเกิดใหม่ จริงๆ แล้ว เราเคยมีประสบการณ์กับความไม่แน่นอนของเฟดมาก่อนครับ และผลกระทบกับเราก็คล้ายกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปีนี้อย่างไม่ผิดเพี้ยนเลยทีเดียว ยังจำช่วงนั้นกันได้ไหมครับ? ปีนั้นเป็นปีที่เงินบาทแข็งที่สุดในรอบกว่า 10 ปี (ถึงขนาดมีการขู่ปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติกันเลยทีเดียว) และก็เป็นปีที่ค่าเงินบาทกลับลำกระทันหันปรับตัวอ่อนค่าลงถึง 13% ในเวลาไม่กี่เดือนต่อมา พอนึกออกแล้วใช่ไหมครับ? ใช่แล้วครับ นั่นคือปี 2556 เป็นปีแรกที่เฟดสอนให้เรารู้จักศัพท์เทคนิคเฉพาะกาลว่า “QE Tapering” หรือการลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่รู้จักกันภายใต้ชื่อมาตรการ “คิวอี” ครั้งนี้ก็เช่นกันครับ เฟดกำลังส่งสัญญาน mixed signals เกี่ยวกับจังหวะดอกเบี้ย จะขึ้นหรือไม่ขึ้น เกือบจะขึ้นแล้วแต่ก็ไม่แน่ใจ ทั้งหมดนี้เป็นบังคับให้ตลาด price in เพื่อสะท้อนผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยครั้งรอบใน 7 ปีให้หมดก่อนการขึ้นดอกเบี้ยจริงๆ ครั้งแรก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดผลกระทบและความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจนโยบายการเงินครั้งที่สำคัญที่สุดในรอบทศวรรษก็ว่าได้ (เชื่อเถอะครับ นี่พยายามลดความผันผวนลงแล้ว) นี่คือกลยุทธ์บริหาร “ความคาดหวัง” ของตลาด หนึ่งในกลยุทธ์หลักของธนาคารกลางใหญ่ๆทั่วโลกยุคหลังวิกฤติซับไพรม์ (ประเทศไทยก็เริ่มใช้ครับ แต่ยังไม่เข้มข้นมาก) เอาละครับ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้นั้นจะคาดเดาค่อนข้างยาก ผมต้องขอใช้คำว่า “คาดเดา” เพราะแม้การวิเคราะห์มาถึงจุดนี้จะใช้ข้อมูลเศรษฐกิจบวกรวมไปกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่สะท้อนพฤติกรรมและกลยุทธ์ของเฟดเอง ที่สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ในแง่การตัดสินใจของ FOMC ขึ้นอยู่กับการคาดเดาวิธีคิดของกรรมการแต่ละท่าน ซึ่งไปไกลกว่าสิ่งที่วิชาเศรษฐศาสตร์จะบอกได้ (ยกเว้นแต่ว่าถ้าจะสามารถเจอกรรมการแต่ละท่านตัวต่อตัวได้และพึ่งเครื่องมือจากจิตวิทยามาช่วยวิเคราะห์) หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม FOMC ในวันที่ 16-17 เดือนกันยายนนี้ ความผันผวนในตลาดเงินและอัตราแลกเปลี่ยนก็จะเริ่มสงบลง ค่าเงินก็จะวิ่งอยู่ใกล้ๆ 36-36.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ คำถามต่อไปที่ตลาดจะให้ความสนใจคือแนวโน้มระยะยาวของดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ เพราะแม้การขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกจะเป็นหัวใจสำคัญของการจับจังหวะอัตราแลกเปลี่ยนในตอนนี้ แต่ดอกเบี้ยของสหรัฐ ในระยะยาวจะต้องใต่กลับไปอยู่ในระดับประมาณ 3.5-4.0% ดังนั้น เมื่อมีการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกแล้ว ตลาดก็จะให้ความสนใจใน path ของดอกเบี้ยในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าว่าจะปรับขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็วขนาดไหน แต่หากเฟดไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม FOMC เดือนกันยายนนี้ เฟดก็จะใช้กลยุทธ์เดิมที่เคยใช้เมื่อตอนประกาศลดปริมาณการทำคิวอี (QE Tapering) ในปี 2556 ซึ่งคือการส่งสัญญานต่อเนื่องเพื่อบริหารความคาดหวังของตลาดเพื่อนำเข้าไปสู่การประชุม FOMC ในวันที่ 16-17 เดือนธันวาคม เพื่อให้ตลาดสะท้อนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดก่อนที่จะประกาศการขึ้นดอกเบี้ยจากมติที่ประชุม FOMC ในเดือนธันวาคม โดยการขึ้นดอกเบี้ยที่จะประกาศนั้น อาจไม่เกิดขึ้นทันทีแต่มีการแจ้งระยะเวลาล่วงหน้าที่ชัดเจนเพื่อลดความผันผวนในวันแถลงข่าว ในคราวที่เฟดประกาศ QE Tapering ก็เช่นกัน เฟดเลือกที่จะประกาศในเดือนธันวาคมว่าจะลดปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์เริ่มในเดือนมกราคมปีถัดมา ส่งผลให้ตลาดตอบสนองน้อยกว่าที่หลายๆ ฝ่ายคาดด้วยระยะเวลาที่ได้เพิ่ม ครั้งนี้เฟดเองก็อาจจะใช้กลยุทธ์เช่นเดิมอีกครั้งเพราะทราบถึงการตอบสนองของตลาดแล้วในระดับหนึ่ง ทำให้เราอาจเห็นเงินบาทไหลไปไกลถึง 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสิ้นปี อย่างที่เห็นนี่แหละครับ ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนโลกรวมทั้งค่าเงินบาทในปัจจุบันนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นหลัก สรุปกันง่ายๆ ก็คือ เมื่อพูดกันในเรื่องค่าเงิน ดอกเบี้ยสหรัฐฯ เป็นจานหลัก ส่วนปัจจัยที่เหลือเป็นแค่จานเรียกน้ำย่อย และจากหลักนี้ก็ใกล้จะเสิร์ฟเต็มทีแล้วละครับ ข้อคิดเห็นที่ปรากฎในบทความนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใดดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน)
ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ
ธนาคาร ทหารไทย จำกัด (มหาชน) - See more at: http://forbesthailand.com/_preview_article_detail.php?article_id=563#sthash.HRHcL00a.dpuf