ความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศไทย ‘ปรับกรอบความคิด รับเศรษฐกิจยุคใหม่’ - Forbes Thailand

ความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศไทย ‘ปรับกรอบความคิด รับเศรษฐกิจยุคใหม่’

ขณะที่ทุกฝ่ายยอมรับว่าในยุคปัจจุบันโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี แต่กรอบความคิดในการบริหารเศรษฐกิจกลับไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าได้รับการตอบสนองจากนโยบายเศรษฐกิจหลักๆ ของรัฐบาล

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทำให้การที่รัฐยังคงยึดถือผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีเป็นสรณะไม่สามารถสะท้อนความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศอีกต่อไป จะเห็นได้ว่า แม้การขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมจะเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง แต่การสำรวจรายได้ของครัวเรือนที่จัดทำโดยสำานักงานสถิติฯ ในหลายจังหวัดปรับลดลงอย่างน่าใจหาย เช่น หลายจังหวัดในภาคใต้รายได้ของครัวเรือนลดลงกว่าร้อยละ 20 เมื่อปี 2558 เทียบกับปี 2556 เป็นต้น ความเหลื่อมล้ำในโครงสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่เป็นผลมาจากความได้เปรียบของผู้คนจำนวนหนึ่งที่ถือครองสินทรัพย์ที่เป็นเครือข่ายหรือผูกขาด เช่น เครือข่ายการค้าสมัยใหม่ รวมถึงฐานข้อมูลออนไลน์ โครงข่ายในธุรกิจโทรคมนาคม หรือพลังงาน ที่ดิน ในบางย่าน เป็นต้น ยิ่งหากมองไปในอนาคตแล้ว ปัญหาเหล่านี้จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากปัจจัยดังต่อไปนี้
  • เทคโนโลยีที่จะเข้ามาทดแทนแรงงานทักษะรวมถึงวิชาชีพชั้นสูง จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงในเรื่องของรายได้และการประกอบอาชีพของคนที่มีรายได้จากค่าจ้างหรือเงินเดือน
  • การก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย ในขณะที่ระบบสวัสดิการต่างๆ ครอบคลุมประชากรส่วนน้อย
  • ข้อจำกัดของรัฐ ในการที่จะปกป้อง คุ้มครอง หรือช่วยเหลือประชาชนในหลายสาขา รวมทั้งปัญหาอำนาจการต่อรองของเกษตรกร การบริหารเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของคนส่วนใหญ่ได้
นโยบายที่สนใจแต่ตัวเลขภาพรวมไม่สามารถเข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง ดังเช่นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายรอบที่ใช้วงเงินเกือบ 1 ล้านล้านบาทในรอบหลายปีที่ผ่านมา การยกเว้นหรือให้ลดหย่อนภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุน แต่ที่สุดแล้วไม่สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชนที่ยากจนอย่างแท้จริง หากปล่อยไปเช่นนี้ ปัญหาเศรษฐกิจพื้นฐานจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และความเหลื่อมล้ำจะเป็นเงื่อนไขให้เกิดปัญหาทางสังคมและความขัดแย้งต่อไป จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการปรับกรอบความคิดในการบริหารเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยมีหลักการสำคัญดังนี้
  • ปรับเป้าหมายของการบริหารเศรษฐกิจให้มีตัวชี้วัดที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การใช้ค่ากลางของรายได้ของประชาชน (median income) ตัวชี้วัดเกี่ยวกับความยากจนเชิงสัมพัทธ์ (relative poverty) การใช้ตัวเลขรายได้ของพื้นที่ การถ่วงดุลตัวเลขรายได้ด้วยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชน เป็นต้น
  • การจัดทำนโยบายและโครงการต่างๆ จะต้องมีการประเมินผลกระทบต่อการกระจายรายได้ โดยเฉพาะผลกระทบกับประชาชนที่ยากจนด้วย จะต้องไม่คาดหวังว่านโยบายเพื่อแก้ปัญหาการกระจายรายได้จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือภายหลังการสร้างอัตราการเจริญเติบโตในภาพรวม
  • ให้ความสำคัญมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการแข่งขันทางการค้า ไม่ปล่อยให้เกิดการผูกขาดไม่ว่าจะโดยภาครัฐหรือเอกชน ต้องปรับกฎหมายต่างๆ ให้เอื้อต่อการเกิดธุรกิจใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างโอกาสให้ทุกคน
  • สัดส่วนค่าใช้จ่ายหรืองบประมาณของรัฐ จะต้องมารองรับระบบสวัสดิการทางสังคมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ควรวิเคราะห์เตรียมการไปสู่การที่ประชาชนจะมีหลักประกันรายได้ ขั้นพื้นฐาน (universal basic income) ในอนาคต
  • ต้องเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ เพื่อรองรับภาระต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งรวมถึงการทำข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อมิให้เกิดสภาพการแข่งขันการลดภาษีเพียงเพื่อหวังการดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการรายใหญ่ในโลก และเพิ่มอำนาจต่อรองในการจัดเก็บรายได้จากธุรกิจและธุรกรรมที่เกิดขึ้นทางออนไลน์และระหว่างประเทศ
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีการปรับกรอบความคิดเกี่ยวกับการบริหารเศรษฐกิจยุคใหม่ ก่อนที่ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำจะเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ปัญหาสังคมและการเมืองที่ยากต่อการแก้ไขในอนาคต หากประเด็นเหล่านี้ถูกนำมาเป็นหัวข้อหลักของการถกเถียงเกี่ยวกับอนาคตของประเทศและการกำหนดนโยบายสาธารณะ ก็จะเป็นแนวทางที่ดีในการรองรับความท้าทายในอนาคตของประเทศและก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้งและปัญหาการเมืองเก่าๆ ไปได้  
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
 
คลิกอ่านบทความทางธุรกิจที่น่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ มิถุนายน 2561 ในรูปแบบ e-Magazine