ปิยพร พรรณเชษฐ์ พลิกฟื้น “เอ็นพาร์ค” ทำกำไรให้ “ยู ซิตี้” - Forbes Thailand

ปิยพร พรรณเชษฐ์ พลิกฟื้น “เอ็นพาร์ค” ทำกำไรให้ “ยู ซิตี้”

ณ ห้วงเวลาที่ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เข้าซื้อหุ้นในบริษัท เนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เมื่อปี 2558 บริษัทมีผลขาดทุน 277 ล้านบาท หลังจากเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็นบมจ.ยู ซิตี้ โจทย์สำคัญคือการเปลี่ยนสถานะขาดทุนสู่กำไร ซึ่งนักบริหารหญิงผู้นี้คือซีอีโอผู้พลิกฟื้นสถานการณ์ได้ภายใน 3 ปี

การก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดภายใต้โจทย์ยาก ที่ต้องพลิกฟื้นบริษัทที่ประสบภาวะขาดทุนมาอย่างยาวนานให้กลับมามีกำไรได้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ ปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารวัย 52 ปีของบมจ.ยู ซิตี้ สามารถทำได้โดยใช้เวลาไม่นานเกินไปหลังจาก บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เข้าซื้อหุ้นในบริษัท เนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นพาร์ค เมื่อปี 2558 ก่อนหน้าที่ปิยพรจะเข้ามานั่งบริหาร 2 ปี หลังจากเธอเข้ามาเป็นซีอีโอที่ยู ซิตี้แล้วก้าวย่างแห่งการพลิกฟื้นสถานการณ์ดำเนินไปอย่างน่าสนใจ ปิยพรนัดพบทีม Forbes Thailand ที่โรงแรม ยู สาทร ในซอยงามดูพลี โรงแรม สไตล์รีสอร์ตกลางเมืองของบริษัท เธอกล่าวทักทายพร้อมแนะนำว่าโรงแรมนี้เป็นที่ชื่นชอบของแขกชาวเกาหลีและฮ่องกง โดยเฉพาะ ร้านอาหาร J’aime by Jean-Michel Lorain ซึ่งได้ดาวมิชลิน ทำให้มีลูกค้าเนืองแน่นแม้เป็นกลางวันวันธรรมดา ปัจจุบันพอร์ตหลัก 70% ของยู ซิตี้มาจากโรงแรม ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เดิมอย่าง “ยู” และ “อีสติน” และแบรนด์ใหม่ที่ได้มาจากการซื้อกิจการอย่างเครือ Vienna House และ arcona ในแถบยุโรปตะวันออก ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นกลุ่มออฟฟิศบิลดิ้ง ที่อยู่อาศัยและโรงเรียนนานาชาติ การจัดพอร์ตเหล่านี้มีความชัดเจนขึ้นหลังจากปิยพรเข้ามารับตำแหน่งในเดือนมกราคม 2560 ร่วมกับทิศทางของเครือบีทีเอสเองที่โยกย้ายพอร์ตอสังหาฯ ในเครือมาอยู่ในบมจ.ยู ซิตี้แทนเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ “ภารกิจที่ทางบอร์ดให้ direction มาโดยหลักการคือ พอร์ตนี้ต้องการให้ถือ long term และเน้นการใช้ synergy ร่วมกับพันธมิตรต่างๆ” ปิยพรเล่าถึงโจทย์ที่เธอได้รับ ซึ่งเป็นที่มาของการลงทุน 6.4 พันล้านบาท เพื่อซื้อกิจการ Vienna House และ Warimpex เมื่อปี 2560 ตามด้วยการลงทุนอีก 890 ล้านบาทเพื่อซื้อกิจการโรงแรมเครือ arcona ในปี 2562 ทำให้รวมแล้วยู ซิตี้มีโรงแรมในมือผ่านเครือเหล่านี้ 43 แห่ง (ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 แห่ง) “ตอนนี้โลกเปลี่ยนเร็วมาก เราไม่จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ step one ด้วยตัวเอง” ซีอีโอหญิงกล่าว แนวทางนี้ดูจะเป็นแนวทางของ บีทีเอสมาตั้งแต่แรก เมื่อบีทีเอสจับมือเซ็นสัญญาร่วมทุนก่อสร้างคอนโดมิเนียมร่วมกับบมจ.แสนสิริ 25 โครงการ มูลค่ารวม 1 แสนล้านบาทเมื่อปี 2558 และสัญญาก็ถูกโอนย้ายมาให้ยู ซิตี้ดูแลและรับผลกำไรในปี 2561 ด้วยการจัดพอร์ตภายในเครือและการตัดสินใจซื้อกิจการเพิ่ม ทำให้บมจ.ยู ซิตี้มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 5.4 หมื่นล้านบาท ทำกำไรสุทธิ 154.85 ล้านบาท ณ ไตรมาส 2/62 นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทเริ่มเห็นผลกำไร และหากไม่มีอะไรผิดพลาด ปี 2562 นี้ บมจ.ยู ซิตี้น่าจะประกาศกำไรได้อย่างเป็นทางการหลังจากโอนย้ายสินทรัพย์และอัดงบลงทุนให้บริษัทมั่นคงขึ้น
โครงการโรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ มูลค่าลงทุน 5 พันล้านบาท
ก้าวต่อไปของยู ซิตี้นั้นปิยพรกล่าวว่า จากลักษณะบริษัทที่เน้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทเช่าเพื่อรับรายได้ระยะยาว ทำให้ต้องใช้เงินลงทุนมาก นอกจากเร่งลงทุนด้วยวิธีเข้าซื้อกิจการแล้ว ยู ซิตี้ยังมีการพัฒนาเองเป็นบางโครงการในไทย เพื่อเสริมทัพและถ่วงสมดุลพอร์ต โดยโครงการที่จะพัฒนาเองจะเน้นเฉพาะที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ระยะยาวและเกิดขึ้นบนที่ดินในเครือบีทีเอส ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่พัฒนาแล้ว คือ โรงเรียนนานาชาติเวอร์โซ มูลค่าลงทุน 5 พันล้านบาท เปิดรับสมัครนักเรียนปีนี้เป็นปีแรก ออฟฟิศบิลดิ้งและโรงแรม เดอะ ยูนิคอร์น พญาไท มูลค่าลงทุน 9.5 พันล้านบาท สร้างเสร็จปี 2564 และโครงการโรงแรมบนศุลกสถาน (โรงภาษีร้อยชักสาม) มูลค่าลงทุน 3 พันล้านบาท จะสร้างเสร็จปี 2568 ส่วนโครงการอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างพิจารณาซึ่งบริษัทมีแลนด์แบงก์สำาคัญ เช่น ที่ดินราษฎร์บูรณะ 27 ไร่ ที่ดินคูคต 57 ไร่ และที่ดินย่านสุขสวัสดิ์ประมาณ 40-50 ไร่

เชื่อมต่อเอเชีย-ยุโรป

แม่ทัพหญิงของยู ซิตี้กล่าวย้อนถึงการตัดสินใจเลือกเทกโอเวอร์ Vienna House ซึ่งมีพอร์ตโรงแรมในมือส่วนใหญ่แถบยุโรปตะวันออก เช่น เยอรมนี โปแลนด์ ออสเตรีย เช็ก ฯลฯ เกิดจากการวิเคราะห์ตลาดทวีปยุโรปซึ่งเริ่มประสบภาวะเศรษฐกิจซบเซาแต่ยังมีโอกาสเป็นบางจุด จุดลงทุนหลักๆ ที่มักมีการลงทุนโรงแรมคือยุโรปใต้ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี ซึ่งการแข่งขันสูง ขณะที่เยอรมนีมีสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแรง รวมถึง ยุโรปตะวันออก อัตราราคาห้องพักระดับ 3-4 ดาวยังไม่สูงมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 4,000 บาทต่อคืน ซึ่งจะดึงดูดทั้งคนยุโรปท้องถิ่นและชนชั้นกลางในเอเชียที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น ทั้งนี้ ยู ซิตี้มีการร่วมหุ้นในบริษัท แอ๊บโซลูทโฮเต็ล เซอร์วิส ประเทศไทย จำกัด (AHS) เจ้าของเชนโรงแรมยู, อีสติน, ทราเวลลอดจ์ ซึ่งมีพอร์ตบริหารโรงแรมในเอเชียทั้งไทย อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ตะวันออกกลาง ฯลฯ การเทกโอเวอร์ แจึงเป็นการต่อจิ๊กซอว์ของยู ซิตี้ในทวีปยุโรป ที่จะทำให้บริษัทมีโอกาสมากขึ้นทั้งสองฟากโลกโดยแต่ละแบรนด์ในเครือมีสไตล์ที่แตกต่างกัน
สไตล์การตกแต่งของ Vienna House ที่ตอบโจทย์กลุ่มชนชั้นกลาง

จากนักบัญชีสู่ผู้บริหารอสังหาฯ

เส้นทางการทำงานก่อนที่ปิยพรจะรับตำแหน่งที่ยู ซิตี้นั้นเรียกว่าเป็นการต่อยอดประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเธอจบปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มทำงานในตำแหน่งผู้ตรวจสอบบัญชีที่ Coopers & Lybrand (PwC ในปัจจุบัน) ก่อนจะเลือกเรียนต่อ MBA ที่ University of New Hampshire และ MSc ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ MIT ซึ่งหลังจากเธอกลับจากเรียนต่อที่สหรัฐฯ เธอได้รับตำแหน่งทั้งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ควอลิตี้ เฮาส์ รองประธานฝ่ายที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน AIG ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีซีซี แลนด์ กรุ๊ป และ กรรมการผู้จัดการ เครือซิกซ์เซ้นส์ รีสอร์ท แอนด์ สปา/โซเนวา  “ความคิดสร้างสรรค์” และ “ธรรมาภิบาล” ในการบริหารยู ซิตี้ด้วย เพราะองค์กรที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ จะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ต้องเปิดพื้นที่ให้พนักงานริเริ่มนวัตกรรมใหม่ แต่ขณะเดียวกัน ต้องอยู่ภายใต้ความเป็นไปได้จริงและมีเหตุผล หากมีความยืดหยุ่นแล้วจะทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดี “พี่เชื่อว่าคนทุกคนจะต้องทำอะไรใหม่ๆ ทุกวัน ทำอย่างไรให้ดีขึ้น ไม่ว่าพี่เอง ไม่ว่าน้องๆ เอง ก็ควรทำอย่างนั้น ถ้าเรา run บริษัทเหมือนเมื่อวาน มันจะดึงดูดคนที่ชอบทำเหมือนเมื่อวานเข้ามาอยู่ด้วยกัน พอเจอดิสรัปชั่นก็คงลำบาก ดังนั้น พี่ชอบให้ลูกน้องถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำมีความหมายอะไรอย่าทำเพราะมันเคยชิน ถามว่าเราจะทำอะไรให้กับบริษัท ทำอะไรให้กับอนาคตของเรา” ปิยพรกล่าวทิ้งท้าย ภาพประกอบ: API
คลิกอ่านฉบับเต็ม "ปิยพร พรรณเชษฐ์ พลิกฟื้น “เอ็นพาร์ค” ทำกำไรให้ “ยู ซิตี้”" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2562 ได้ในรูปแบบ e-Magazine