“Piggipo” แอพพลิเคชั่นตกผลึกจากความฝันของสามหนุ่มสาวก้าวขึ้นทำเนียบดาวรุ่งสตาร์ทอัพเนื้อหอมท่ามกลางเหล่านักลงทุน VC พร้อมหวังเงินทุนรอบใหม่ 70 ล้านภายในสิ้นปี เตรียมมุ่งหน้าสู่อาเซียน
ครอบครัวของสุพิชญา สูรพันธุ์ สนิทสนมคุ้นเคยกับ ศิราธร ธรรมประทีป และพงศ์ชัย ตั้งบวรวีรกุลเป็นอย่างดีสมาชิกทั้งหมดของบ้านยินดีให้สุพิชญา น้องคนสุดท้อง กั้นห้องเล็กๆ ด้านล่างไว้เป็นที่นั่งคิดงานกับเพื่อนๆ เพื่อเติมเต็มความฝันก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพภาพที่เห็นได้ในแต่ละวันคือ สามนักบุกเบิกนั่งถกกันด้วยบรรยากาศเฮฮาและคร่ำเครียดคละเคล้ากันไป สุพิชญามักเสนอความคิดสร้างสรรค์แบบหลุดโลก แต่ศิราธรแย้งกลับว่าเป็นไปไม่ได้ในเชิงธุรกิจ ขณะที่พงศ์ชัยดึงทั้งคู่กลับมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงพร้อมเป้าหมายที่ชัดเจน ท้ายที่สุด พวกเขาทั้งสามก็สามารถสร้างสรรค์ผลลัพธ์ที่น่าพอใจออกมานี่คือภาพเหตุการณ์ช่วงปี 2556 ก่อนที่แอพฯ “Piggipo”จะเปิดตัวขึ้น ตอนนั้นสุพิชญาในวัย 23 เต็มไปด้วยไอเดียธุรกิจ ศิราธรอายุ 25 ปี รอบรู้เรื่องการตลาด และพงศ์ชัยอายุ 26 เชี่ยวชาญด้านไอทีและการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทั้งสามตกลงร่วมใจตามล่าฝันที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพแม้ นับเป็นเวลา 3 ปีแล้วและผู้บุกเบิกทั้งสามก็ไม่ผิดหวังกับความพยายามที่ทุ่มเทลงไป เพราะ Piggipo แอพฯ ที่ช่วยบริหารการเงินให้กับบรรดาผู้ใช้บัตรเครดิตทั่วประเทศ กลายเป็นแอพฯ ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน VC (venture capital) เข้าร่วมทุน กลายเป็นอีกหนึ่งแอพฯ ของแวดวงฟินเทคที่น่าจับตาในขณะนี้ “จากวันแรกที่รวมตัวกัน เรายังมองไม่ออกว่าจะทำอย่างไรต่อ เราแค่ฝันไปเรื่อยว่าต้องการเป็นเพียงแอพฯ ที่แก้ปัญหาทางการเงิน ซึ่งเราไม่รู้จัก VC ด้วยซ้ำ แค่คิดว่าจะทำแอพฯ ให้รอดก่อน เราไม่เคยคิดอะไรใหญ่โต” สุพิชญา ตัวแทนของกลุ่มบอกกับ Forbes Thailand ในบ่ายวันหนึ่ง ณ Han-gar สถานที่บ่มเพาะต้นกล้าสตาร์ทอัพของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็กเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) บนตึกจามจุรีสแควร์ สามย่านจัดทัพลุย สุพิชญา ศิราธร และพงศ์ชัย มีสิ่งที่เหมือนกันคือ ฝันอยากมีธุรกิจส่วนตัว และ ความฝันนี้เองหลอมรวมพวกเขาเป็น “พลัง” ที่จะเดินไปข้างหน้าเพื่อพิชิตจุดหมายจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกันนั้น เกิดจากสุพิชญา บัณฑิตและมหาบัณฑิตจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศิราธร สาวออฟฟิศ จาก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งคู่เป็นเพื่อนรักและมีความคิดที่จะก่อตั้งสตาร์อัพขึ้นมาแต่ยังขาดผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีเข้ามาช่วยเหลือดังนั้น พวกเขาจึงตัดสินใจไปปรึกษากับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งบังเอิญเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจให้กับพงศ์ชัย บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่มีแนวคิดที่จะบุกเบิกสตาร์ทอัพเช่นเดียวกัน เพียงแต่ขาดเพื่อนร่วมทางที่เชี่ยวชาญด้านธุรกิจและการตลาด เมื่อเป็นเช่นนั้น ที่ปรึกษาของทั้ง 3 จึงให้พวกเขาได้พบกัน เนื่องจากความสามารถของทุกคนสามารถช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดของกันและกันได้ ณ จุดนี้เอง การเริ่มต้นของ 3 นักธุรกิจรุ่นเยาว์จึงเกิดขึ้น หลังจากการรวมตัว โจทย์แรกคือการค้นหาธุรกิจที่น่าสนใจและมีอนาคต โดยทั้งหมดเห็นพ้องกันว่า ต้องการทำสตาร์ทอัพที่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตประจำวันของผู้คนได้ และแล้วความคิดแวบหนึ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวของสุพิชญาคือ “การใช้บัตรเครดิต” และจากการสำรวจตลาด สุพิชญา พบว่า แอพฯ การบริหารการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตยังไม่มีผู้สร้างสรรค์ในตลาดเท่าใดนัก เมื่อมีคำตอบธุรกิจชัดเจน งานผลิตก็เริ่มต้นขึ้น สุพิชญารับผิดชอบดูแลภาพรวมทั้งหมดขณะที่การเขียนโปรแกรมของแอพฯ เป็นหน้าที่ของพงศ์ชัย สำหรับเรื่องการตลาดเป็นหน้าที่ของศิราธร อันเป็นบทบาทที่ท้าทายยิ่งนักศิราธรเล็งเห็นว่า เนื่องจากแอพฯ ของพวกเธอเกี่ยวข้องกับการเงิน ซึ่งทัศนคติของคนโดยทั่วไปมักมองว่าเป็นเรื่องซับซ้อนและเข้าใจยาก ดังนั้น หากต้องการให้แอพฯ เป็นที่รู้จักในคนหมู่มาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง จึงจำเป็นต้องทำแอพฯ ให้มีความสดใสและง่ายต่อการใช้งาน ซึ่งเมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ทั้งสามได้ทำการทดสอบกับคนรอบข้าง และผลตอบรับออกมาค่อนข้างดี จึงเกิดเป็น Piggipo แอพฯ ที่ช่วยบริหารการใช้บัตรเครดิต โดยสามารถแจ้งสถานการณ์การใช้จ่ายของผู้ถือบัตรตามเวลาจริง ยอดบัตรเครดิตทุกใบจะมารวมอยู่บนแอพฯ หรือกระทั่งช่วยคำนวณดอกเบี้ยบัตรเครดิต เพื่อช่วยวางแผนการใช้จ่ายอย่างรอบคอบ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในเดือนพฤศจิกายน 2556 แอพฯ Piggipo ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ภายในไม่กี่เดือนมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 1 หมื่นครั้ง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในฐานะแอพฯ น้องใหม่ที่ไม่เคยมีชื่อในวงการ อีกทั้งไม่มีเงินทุนและงบโฆษณาเหมือนกับสตาร์ทอัพอื่นๆ กลยุทธ์ที่พวกเขาใช้คือใช้สื่อออนไลน์ฟรีเพื่อให้เขาถึงกลุ่มคนให้มากที่สุด จุดเปลี่ยนของ Piggipo คือ หลังเขารวมโครงการ Dtac Accelerate ซึ่งตอนนั้น เรืองโรจน์ พูนผล หรือ “กระทิง” ที่รู้จักกันในวงการสตาร์ทอัพ อดีตผู้ก่อตั้งโครงการได้มาเป็นวิทยากรให้กับเหล่าสตาร์ทอัพของโครงการนี้ ที่นี่ ทั้งสามได้รับความรู้และประสบการณ์มากมาย “พี่กระทิงช่วย shape ความคิดของพวกเราเขาบอกว่าอย่าคิดเป็นเอสเอ็มอีเลย และสตาร์ทอัพไม่ใช่เอสเอ็มอี แต่มันโตด้วยการระดมทุน” สุพิชญากล่าว Piggipo ถูกเลือกเป็น 5 ทีมสุดท้ายเพื่อเข้าแคมป์ 3 เดือนและเฟ้นหาผู้ชนะเลิศ เมื่อวันตัดสินมาถึง ผลปรากฏว่า Piggipo ได้รางวัลชนะเลิศร่วมกับทีมแอพฯ “Claim Di” จากนั้นดีแทคได้ส่งสุพิชญาและศิราธรเข้าร่วมกับโครงการ Blackbox ณ Silicon Valley ประเทศสหรัฐฯ เป็นเวลาสองสัปดาห์ และที่แห่งนี้ พวกเขามีโอกาสได้พบเพื่อนๆ เหล่าสตาร์ทอัพจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งทำให้พวกเขาได้รับข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ จากดินแดนที่มี “ระบบนิเวศ” ของสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนวิธีคิด นวัตกรรมทางเทคโนโลยี หรือเงินทุนสนับสนุน จากการศึกษาเพิ่มเติม เธอพบว่า ประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านเผชิญหน้ากับปัญหาการจัดการการใช้จ่ายบัตรเครดิตเหมือนกับประเทศไทย ที่สำคัญที่สุดคือยังไม่มีแอพฯ ใดที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเหมือนกับ Piggipo ถ้าเธอทำได้จริง Piggipo จะเป็นแอพฯ แรกที่ทำหน้าที่จัดการบัตรเครดิตในเวทีระดับภูมิภาคการขยายไปตลาดต่างประเทศ ยังจะเป็นการเพิ่มศักยภาพของบริษัทไปในตัว เพื่อดึงเม็ดเงินก้อนใหม่จาก VC ต่างๆ ในปัจจุบัน เธอตั้งเป้าไว้ว่า ปลายปีนี้จะยกระดับสถานภาพ Piggipo จาก “seed round” เป็น “series A” โดยหวังจะระดมทุนก้อนใหม่ได้ราว 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 70 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับ VC หลายแห่ง โดยเฉพาะจากดินแดนซามูไรซึ่งกำลังมองหาโอกาสการลงทุนในภูมิภาคไม่เพียงรายได้จากเงินทุน VC เท่านั้น ปัจจุบัน มียอดดาวน์โหลดของแอพฯ Piggipo มากกว่า 2 แสนครั้ง ซึ่งโอกาสยังมีมหาศาล ตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ ปี 2558 จำนวนบัตรเครดิตทั้งของธนาคารพาณิชย์และไม่ใช่สถาบันการเงินมีราว 21.76 ล้านใบ นอกจากนี้ เธอยังพบว่า กลุ่มคนที่มีหนี้มากที่สุดคือ กลุ่มคนอายุ 36 ปีซึ่งความจริงแล้ว คนกลุ่มช่วงอายุนี้ ควรวางแผนทางการเงินให้ดีเพื่อเตรียมชีวิตในช่วงวัยเกษียณ ดังนั้นพวกเธอจึงรับอาสาจะทำหน้าที่มากกว่าการจัดการการใช้จ่ายบัตรเครดิต โดยขยายบทบาทเข้าสู่การจัดการการเงินในรูปแบบอื่นๆ เพื่อหวังจะสร้างอิสรภาพทางการเงินให้กับคนไทย “เป้าหมายในอนาคตของเราคือ เราอยากเป็นคนสร้าง total solution ทางการเงินไม่ว่าจะเป็นหนี้บ้านหรือหนี้รถ ให้กับคนไทย” สุพิชญากล่าวทิ้งท้ายคลิ๊กอ่านฉบับเต็ม "Piggipo อาาสาเป็น "เลขา" ทางการเงิน" ได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ October 2016 ในรูปแบบ e-Magazine