“More Than Sugar” คือคำนิยามของกลุ่มเกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์เรชั่น หรือ KTIS ที่เป็นมากกว่าบริษัทน้ำตาล และฉายภาพชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ในทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลศิริวิริยะกุล มหาเศรษฐีจังหวัดนครสวรรค์
อากาศร้อนอบอ้าวด้วยอุณหภูมิที่เฉียด 40 องศาเซลเซียสไม่เป็นอุปสรรคต่อทีมงาน Forbes Thailand ที่จะเดินทางมุ่งหน้าสู่จังหวัดนครสวรรค์เพื่อพูดคุยกับสมาชิกครอบครัวศิริวิริยะกุลทั้ง 3 รุ่น ซึ่งรวมไปด้วยหทัยรุ่นที่ 2 ประพันธ์และดารัตน์รุ่นที่ 3 และดร.สายสิริ รุ่นที่ 4 สำหรับประพันธ์นั้น เขาติดโผ 50 อันดับมหาเศรษฐีไทยจัดโดย Forbes เป็นครั้งแรกในปี 2557 ในอันดับที่ 27 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวมราว 3.06 หมื่นล้านบาท จากนั้นในปี 2558 เขารั้งอันดับที่ 29 จากการถือครองทรัพย์สินรวมราว 3.02 หมื่นล้านบาท
ครอบครัวศิริวิริยะกุลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มากกว่า 78% ใน บมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) ซึ่งปัจจุบันจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีมูลค่าหลักทรัพย์ ตามราคาตลาด (market cap) ประมาณ 2.72 หมื่นล้านบาท (3 พฤษภาคม 2559) หากนับกำลังการผลิตน้ำตาลในโลกแล้ว บราซิลเป็นประเทศผู้ผลิตอันดับ 1 ตามด้วยอินเดียอันดับ 2 และไทยอันดับ 3 ทว่า โรงงานน้ำตาลที่มีกำลังการผลิตสูงสุดของโลกกลับตั้งอยู่ในไทย ซึ่งเป็นโรงงานของกลุ่ม KTIS นั่นเอง
บรรยากาศการพูดคุยกับครอบครัวนักการค้าในวันนั้นอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจสมาชิกทั้ง 4 รุ่นต่างร่วมกันเล่าขานถึงตำนานการต่อสู้ตั้งแต่ความยากจน ทำธุรกิจล้มลุกคลุกคลาน มีหนี้ก้อนโต จนถึง “ความรักและสายใย” ของครอบครัวทำให้ชนะอุปสรรคทั้งปวง สามารถพลิกผืนดิน 6 พันไร่ที่แห้งแล้งและเวิ้งว้างในอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ให้กลายเป็น “KTIS Complex”
รุ่น 2 บุกเบิก
หทัยและจรูญเป็นคนไทยเชื้อสายจีนอพยพมาจากประเทศจีนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว สองสามีภรรยาผู้ตั้งรกรากอยู่จังหวัดนครสวรรค์ ตัดสินใจแยกตัวออกมาอยู่อย่างอิสระหลังแต่งงานทำธุรกิจโชห่วยเล็กๆ ที่ชื่อ “แพ่ซ่งง้วน” ทิ้งธุรกิจเรือขนส่งสินค้าของพ่อสามีไว้เบื้องหลัง แม้เบื้องต้นเส้นทางค้าขายพบเจออุปสรรคมากมาย แต่ด้วยความอดทนและอดออมของพวกเขาและทายาท ทั้ง 9 คน ได้ผ่านพ้นทุกปัญหาไปได้ด้วยดี
“สอนลูกเป็นคนดี สอนตั้งแต่เล็ก 9 คนเลี้ยงง่าย กินน้ำผักไปโรงเรียนให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาทุกคน...เด็กต้องฝึกตั้งแต่ เล็ก สมองจะได้ดี ตอนนั้นไม่คิดเรื่องธุรกิจใหญ่โต สอนให้ลูกซื่อสัตย์ ขยัน อดทนไม่ยุ่งกับบุหรี่ เหล้า และการพนัน” หทัยย้อนอดีตให้พวกเราฟัง ปัจจุบันหทัยอายุ 84 ปียังแข็งแรงและเล่าเรื่องได้อย่างแม่นยำ
10 ปีผ่านไปธุรกิจโชห่วยก็เริ่มเติบโตซึ่งหทัยยกความดีความชอบให้ลูกคนที่ 2 คือประพันธ์ ที่เป็นแรงหลักช่วยธุรกิจโชห่วยครอบครัว ขยายขอบเขตการค้าขายไกลถึงอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และครอบคลุมภาคเหนือตอนล่าง กลายเป็นร้านโชห่วยที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัด โดยมี “น้ำตาลทราย” เป็นสินค้าที่สร้างความมั่งคั่งให้กับตระกูลศิริวิริยะกุล
วันหนึ่งในปี 2510 ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตหลังเข้าซื้อโรงงานรวมผลซึ่งจะปิดตัวลงโดยร่วมลงขันกับยี่ปั๊วคนอื่นๆ ในจังหวัดในฐานะหุ้นใหญ่ของโรงงานและกลายเป็นจุดเปลี่ยนของตระกูลศิริวิริยะกุลที่เข้ามาทำธุรกิจในอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายอย่างครบวงจรในเวลาต่อมา
รุ่น 3 ขยายงาน
ประพันธ์ ในฐานะรุ่นที่ 3 ของครอบครัวได้เข้ามามีบทบาทในการฟูมฟักธุรกิจน้ำตาลทรายให้เติบใหญ่ขยายอาณาจักรไปด้วยดี จนกระทั่งเศรษฐกิจฟองสบู่แตกปี 2540 เกิดวิกฤตค่าเงินบาทตกต่ำทำให้หนี้ที่กู้เป็นสกุลดอลลาร์เมื่อบวกดอกเบี้ยเข้าไปจากราว 4,000 ล้านบาทดีดตัวขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาท และบริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการประนอมหนี้ในเวลาต่อมา
ชีวิตที่เปลี่ยนไปของประพันธ์และอาณาจักรน้ำตาลกับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นได้เป็นแรงขับสำคัญจนกระทั่งฟื้นธุรกิจสู่อุตสาหกรรมน้ำตาลครบวงจร ทั้งการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ การเปิดโรงงานที่ต่อเนื่องกับน้ำตาล อาทิ โรงงานผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวจากชานอ้อย, โรงงานผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล, โรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลจากชานอ้อย, โรงงานปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตปุ๋ยชีวภาพและสาร ปรับปรุงดิน เป็นต้น และจนในปี 2557 บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบัน KTIS มีธุรกิจในเครือประกอบด้วยโรงงานหลัก 10 โรง มีกำลังการผลิตน้ำตาลทรายสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 5.5 หมื่นตันอ้อยต่อวัน เป็นโรงงานน้ำตาลที่มีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในโลก ด้านยอดขายแตะ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2557 และมีจำนวนพนักงานเป็น 3,500 คน
“เหนื่อยมาตลอดแม้เสาร์อาทิตย์ก็ยังต้องเซ็นงานอยู่ที่บ้านสนุกกับงานมาตลอดเราแฮปปี้ จากปี 40 ถึง 57 เป็นเวลาหลายปีเราไม่กลัวกับหนี้มากมายที่เกิดขึ้นอย่างไรก็ยังสู้” ประพันธ์ กล่าว
ปัจจุบัน ประพันธ์อายุ 64 ปี เขาบอกว่าไม่เคยคิดที่จะนำ KTIS เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯมาก่อน เนื่องจากเป็นครอบครัวคนรุ่นเก่าสมาชิกหลายคนยังหวงแหนความเป็นเจ้าของ ธุรกิจแต่เปลี่ยนความคิดหลังลูกสาวและหลานสาวชักชวนและตอบตกลงในที่สุด
รุ่น 4 ต่อยอด
ความท้าทายแห่งรุ่น 4 คือภารกิจผลักดันให้กลุ่ม KTIS เติบโตด้วยวิสัยทัศน์แบบคนรุ่นใหม่ หนึ่งในผลงานอันโดดเด่นคือการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2557
“เรื่องนี้ทำให้พวกเราร้องไห้เสียน้ำตามาด้วยกันหลายครั้งเพราะต้องเจออุปสรรคหลายอย่างเราต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้ไม่ใช่การเอาธุรกิจครอบครัวไปขายทิ้ง” ดร.สายศิริ ศิริวิริยะกุล วัย 31 ปี ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และการสื่อสารองค์กร กลุ่ม KTIS ที่มาพบกับพวกเราในฐานะตัวแทนรุ่น 4 ของศิริวิริยะกุลที่มีด้วยกันกว่า 20 คน เริ่มเรื่อง
จุดเริ่มต้นของการนำบริษัทของครอบครัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ มี ศิรอาภา (บุตรสาวของประพันธ์) เป็นผู้จุดประกายที่ชักชวนให้ ดร.สายศิริ มาช่วยกันทำให้เป็นความจริงในการนำธุรกิจครอบครัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งสองต่างทำการบ้านอย่างหนักทั้งในแง่โครงสร้างองค์กร กฎหมาย ฯลฯ รวมทั้งศึกษาข้อดีข้อเสียอย่างละเอียดเพื่อนำข้อมูลทุกอย่างไปเสนอให้สมาชิก หลายสิบคนของศิริวิริยะกุลได้ทราบและนำไปพิจารณาก่อนตัดสินใจ
“ตอนนั้นคุณย่าตั้งใจฟังมาก คุณประพันธ์ก็ช่วยคิดทุกคนในบ้านช่วยกันระดมสมองเพื่อดูว่าสิ่งที่ลูกหลานเสนอนั้นดีหรือไม่ดีเราประชุมกันหลายครั้งมาก จนในที่สุดทุกคนก็เห็นด้วยอย่างคุณประพันธ์ก็มองว่าเมื่อโลกเปลี่ยนกลุ่ม KTIS ต้องปรับตัวไม่อย่างนั้นเราอาจช้าไปในขณะที่คนอื่นขยับตัวเร็วกว่า” ดร.สายศิริเล่า
หลังจากเป็นบริษัทมหาชนแล้ว Sumitomo Group ที่เป็นคู่ค้ากันมานานหลายสิบปีก็ได้เข้ามาเป็น strategic partner นอกจากนี้ Nissin Sugar ซึ่งเป็นเทรดเดอร์น้ำตาลเกรดพรีเมียมรายใหญ่ก็เข้ามาจับมือกับกลุ่ม KTIS ด้วยเช่นกัน ทั้งหมดล้วนส่งผลดีในแง่การนำองค์ความรู้ทางการผลิตและเทคโนโลยีของ สองบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกของญี่ปุ่นมาปรับใช้ รวมทั้งได้เครือข่ายการตลาดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันสมาชิกรุ่น 4 เริ่มทยอยเข้ามาเป็นฟันเฟืองเพื่อสร้างให้กลุ่ม KTIS เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นได้มากกว่า “น้ำตาล”
คืนกำไรสู่สังคมแบบ KTIS
“เราได้จากสังคมเราก็ต้องคืนสู่สังคมซึ่งคืนอะไรก็ไม่เท่าคืนด้วยการศึกษา” ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ ผู้ เป็นลูกคนที่ 3 ของหทัยที่เข้ามาช่วยดูแลด้านการศึกษาซึ่งเปรียบเสมือน CSR ของกลุ่ม KTIS เอ่ยอย่างภาคภูมิใจไม่เพียงแต่ให้ทุนการศึกษานักเรียนผู้ขาดโอกาสทว่า ตระกูลศิริวิริยะกุลได้แปลงที่ดินที่จรูญซื้อเก็บไว้ให้กลายเป็นผืนไร่แห่ง การศึกษาเพื่อให้เยาวชนเข้ามาร่ำเรียนเก็บเกี่ยวความรู้ธุรกิจการศึกษาของ กลุ่ม KTIS เกิดจากความคิดของจรูญและหทัยที่เห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะ ช่วยให้คนได้รับโอกาสต่างๆ จรูญจึงตัดสินใจเริ่มก่อตั้งโรงเรียนขึ้นเมื่อแรกเริ่มความตั้งใจจนกระทั่ง ก่อกำหนดเป็น วิทยาลัยอาชีวศึกษาวิริยาลัยนครสวรรค์ และ มหาวิทยาลัยเจ้าพระยา ในปัจจุบัน
มหาวิทยาลัยเจ้าพระยาเปิดสอน 6 คณะในระดับปริญญาตรี เช่นบริหารธุรกิจ นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ ปัจจุบัน นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยเจ้าพระยาต่างกระจายไปทำงานในหลายสาขาอาชีพ และมีไม่น้อยที่เลือกทำงานในกลุ่ม KTIS ถึงอย่างนั้นดารัตน์ก็ไม่ได้มองว่ามหาวิทยาลัยเจ้าพระยาเป็น corporate university แต่เห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาที่สร้างบุคลากรคุณภาพให้สังคมมากกว่าจะป้อน เข้ากลุ่มธุรกิจ KTIS เป็นหลัก
“ผมเองก็บริจาคเงินเดือนเข้ามหาวิทยาลัย เราพอกินพอใช้แล้วก็ต้องเอื้อประโยชน์ให้คนอื่นด้วย” ประพันธ์กล่าวด้วยรอยยิ้มอย่างมีความสุข