บทบาทในการสะสางปมปัญหาธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ของครอบครัวให้คลี่คลาย ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจใหม่ให้ผู้นำหญิงอย่างแคทลีน มาลีนนท์ มุ่งสร้าง TSE ให้เป็นกิจการด้านพลังงานทดแทนชั้นนำ ที่เปิดแนวรุกทั้งในไทยและต่างประเทศ
ด้วยภารกิจที่ต้องเข้ามาประคองธุรกิจของครอบครัวให้เดินหน้าได้ในยามคับขันเมื่อ 5 ปีก่อน ทำให้ แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ หรือ TSE ต้องสะสางสารพัดปัญหาในเวลาเดียวกัน ตั้งแต่การเจรจาปรับโครงสร้างสินเชื่อกับธนาคารเจ้าหนี้ ยังถูกกระหน่ำซ้ำด้วยปัญหาอื่นๆ ที่รุมเร้าเข้ามาพร้อมกันอย่างไม่ได้คาดหมาย ทั้งอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ทำให้โครงการที่ดำเนินการอยู่ต้องล่าช้าออกไป จนไม่สามารถทำรายได้ตามแผนที่วางไว้ ขณะเดียวกันต้นทุนการดำเนินธุรกิจกลับถีบตัวสูงขึ้น ตัวเลขผลประกอบการจึงติดลบ ทั้งยังมีเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับธนาคารเพื่อขอกู้เงินเพิ่ม มาลงทุนในโครงการใหม่ เพื่อนำไปต่อยอดให้บริษัทเติบโตอีกด้วย ครั้นเมื่อปมปัญหาค่อยๆ คลี่คลายและเริ่มเห็นรายได้ในปีต่อมา แคทลีนก็มุ่งหวังจะสร้างให้ TSE เติบโตอย่างยั่งยืนจนสามารถฉายแสงติดสามอันดับแรกของของผู้ประกอบธุรกิจ พลังงานทางเลือกในไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปีข้างหน้า ด้วยตัวเลขกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ราว 500 เมกะวัตต์ “ตอน นั้นที่เข้ามาทำ หวังเพียงทำให้บริษัทเดินหน้าต่อไปได้ พอเริ่มสะสางปัญหาต่างๆ ให้หลุดพ้นได้ก็เริ่มเห็นโอกาสที่จะขยายการเติบโตในอนาคตต่อไป” แคทลีนกล่าว ปัจจุบัน TSE ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยแบ่งธุรกิจของบริษัทได้เป็น 2 ประเภท คือ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ในระบบรางรวมแสง (โรงไฟฟ้า thermal) และธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบโฟโต้โวลตาอิกหรือโซลาร์เซลล์ (โรงไฟฟ้า PV) แคทลีนปูเส้นทางให้ TSE มุ่งขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทดแทนรูป แบบอื่นๆ ตามนโยบายการสนับสนุนการลงทุนในพลังงานทดแทนของภาครัฐ รวมทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการขยายปริมาณการผลิตไฟฟ้าให้เติบโตเฉลี่ยที่ 100 เมกะวัตต์ต่อปี “ขยายปริมาณผลิตไฟฟ้าปีละ 100 เมกะวัตต์เป็นตัวเลขที่เราทำได้ โดยเฉพาะปีนี้ก็สามารถทำได้แน่นอน” เธอกล่าว เพื่อให้ TSE สามารถติดสามอันดับแรกของผู้ประกอบธุรกิจพลังงานทางเลือกของไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนได้ในที่สุด เมื่อ มองไปที่โอกาสในการขยายตัวของธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยนั้น แม้ว่าการเติบโตของธุรกิจขึ้นอยู่กับนโยบายสนับสนุนของภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งเดิมสัดส่วนรายได้จะอยู่ในประเทศ แต่ด้วยภาวะที่นโยบายชะลอออกไป จึงมองว่าในปี 2560 TSE จะมีสัดส่วนรายได้ระหว่างในประเทศและต่างประเทศอยู่ที่ 50:50 อย่างไรก็ตาม แคทลีนเชื่อ ว่าในอีกไม่เกิน 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจพลังงานทดแทนจะเริ่มขับเคลื่อนได้ด้วยความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นผลจากที่ราคาต้นทุนถูกลงและเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น ล่าสุด จากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน หรือโซล่าร์ฟาร์ม สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตรที่มีนโยบายจะซื้อไฟฟ้าในปริมาณการ รับซื้อที่ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ต่อโครงการเป็นเป้าหมายรวมทั้งหมดที่ 800 เมกะวัตน์นั้น TSE ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ผ่านคุณสมบัติผู้เข้าร่วมขอใบอนุญาตรับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากโครงการรับซื้อไฟฟ้าโซล่าร์ฟาร์ม ส่วนราชการและสหกรณ์ในเฟสรวม 9 โครงการคิดเป็น 45 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เข้าระบบ (COD) ได้ภายในเดือนกันยายน 2559 ตามที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด ด้วยอายุสัญญาซื้อขาย 25 ปี และรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT (อัตรารับซื้อไฟฟ้าเป็นไปตามต้นทุนจริง หรือ Feed-in Tariff) ที่ 5.66 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ TSE มีเป้าหมายขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยรูปแบบการลงทุนจะดำเนินการผ่านบริษัทฯ ย่อย TSE Group International Pte Ltd ที่จดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า เริ่มจากเมื่อกลางปี 2558 ที่ TSE ลงหลักปักฐานแผงโซล่าร์เซลล์ ณ แดนอาทิตย์อุทัย โดยบรรลุข้อตกลงพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กับพันธมิตร 2 รายในประเทศญี่ปุ่น รวมกำลังการผลิต 25 เมกะวัตต์ ที่เริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่ต้นปี 2559 และสามารถทำรายได้ต่อปีอย่างน้อย 300 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าอีก 2-3 โครงการ กำลังการผลิตรวมกว่า 100-200 เมกะวัตต์ โดยมีทั้งรูปแบบโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโรงไฟฟ้าจากพลังงานประเภทอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ “ตั้งแต่ ปลายปีก่อนเราจ่ายไฟฟ้าจากโรงงานในญี่ปุ่นไปแล้ว 0.5 เมกะวัตต์ แต่ปีนี้จะเริ่มทยอยจ่ายไฟเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนน่าจะอยู่ที่ราว 20 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้วในอีก 1 ถึง 3 ปีข้างหน้านี้ ด้วยความร่วมมือที่มีกับพันธมิตร น่าจะขยายการเติบโตไปได้ถึง 300 เมกะวัตต์” บริษัทเริ่มศึกษาการทำโครงการผลิตไฟฟ้าจาก พลังงานน้ำ (hydropower) ในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว ได้กว่าหนึ่งปีแล้ว โดยมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างโครงการขนาดเล็กถึงขนาดกลาง หรือสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 10-30 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะได้เริ่มทำโครงการประมาณปี 2560 เรื่อง: ชญานิจฉ์ ดาศรี ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดีคลิ๊กอ่าน "แคทลีน มาลีนนท์ สร้าง TSE ให้สาดแสงสู่ Top 3" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 ในรูปแบบ E-Magazine