2539 เป็นปีแรกในการเริ่มต้นธุรกิจของ สุระ คณิตทวีกุล ผู้ก่อตั้ง COM7 ก้าวสู่ผู้ประกอบการค้าปลีกอุปกรณ์ไอทีและสมาร์ทโฟนและสร้างธุรกิจสู่ผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทยเป็นเจ้าของร้าน BaNANA, Studio 7, BKK, Kingkong Phone, True Shop by Com7 และร้าน brand shop ต่างๆ โดยเฉพาะแบรนด์ดังในกลุ่มสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมที่มีสัดส่วนการขายอันดับต้นๆ ในกลุ่มอุปกรณ์ด้านไอทีและเทคโนโลยีใหม่ยุคดิจิทัล
ตลอด 24 ปีบนเส้นทางของ สุระ คณิตทวีกุล ผู้ค้าปลีก-ส่งอุปกรณ์ไอที COM7 สร้างตัวมาจากการเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายสินค้าด้านไอทีในห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า ก่อนจะรุกตั้งบริษัทเพื่อค้าส่งอุปกรณ์ไอทีในปี 2547 และปรับมารุกหนักในตลาดค้าปลีกและเป็นเจ้าอาณาจักรสินค้าไอทีมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท โดย ณ สิ้นปี 2562 COM7 มีรายได้รวม 33,429 ล้านบาท ยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกปีสะท้อนการเติบโตของตลาดได้อย่างชัดเจน แม้ในสถานการณ์โควิด-19 ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีต้องปิดบริการเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นกว่า 3 เดือน แต่ยอดขายยังคงเดินหน้ารายได้รวมของ COM7 ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2563 ทำได้กว่า 8,195 ล้านบาท เมื่อเทียบเฉลี่ยทั้งปีมีโอกาสทำรายได้สูงกว่าปี 2562 มันตอกย้ำว่า สถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถหยุดยอดขายสินค้าไอทีลงได้ ซึ่งปัจจัยหลักคงไม่ได้มาจากความพร้อมของผู้จำหน่ายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากปัจจัยหนุนสำคัญนั่นคือ ดีมานด์ของสินค้าไอทีที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ “COM7 ขายสินค้าจำเป็นด้านไอที ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ก ไอแพด และสมาร์ทโฟน รวมถึง accessory มีสินค้าครอบคลุมทั้ง items และ brand เรามีการปรับตัวให้ทันกับเทรนด์และสถานการณ์” สุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) COM7 เริ่มต้นบทสัมภาษณ์กับทีมงาน Forbes Thailand ด้วยการบอกว่า สินค้าด้านไอทีที่เขาจำหน่ายอยู่นั้นเป็นของจำเป็น มันตอกย้ำว่า คนกับไอทีเกี่ยวพันกันมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนที่หลายคนพูดว่า สมาร์ทโฟนเป็นอวัยวะที่ 33 ซึ่งทุกคนต้องมี และใช้มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน-คว้าโอกาสในวิกฤตโควิด-
“เมษายน 2563 หนักสุด เราคิดว่าจะทำอย่างไรให้มียอดขายได้มาก จึงทำหลายเรื่องแต่สิ่งที่เน้นคือ การขายออนไลน์ผ่านเว็บ www.bnn.in.th ของร้าน BaNANA และทำสำนักงานใหญ่ (ถนนสรรพาวุธ บางนา) เป็นคลังสินค้าชั่วคราว กระจายจัดส่งสินค้าให้ลูกค้า ทั้งใช้โลจิสติกส์ของตัวเองและเอาต์ซอร์ส” วิธีการนี้ทำให้ COM7 ยังคงมียอดขายต่อเนื่องได้แม้หน้าร้านค้าปลีกทุกแบรนด์ของบริษัทฯ จำเป็นต้องปิดบริการเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น “เราคอยมอนิเตอร์สินค้าตลอดเวลา เพราะปัจจุบันคนไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตนเอง บริษัทก็ไม่หยุดนิ่ง เช่นกัน สินค้าไอทีเติบโตอยู่แล้วจากการที่เกิด technology disruption เราต้องเสาะหาสินค้า เสนอเทรนด์ต่างๆ ให้ผู้บริโภคอยู่เสมอ พอโควิดเข้ามาภาพยิ่งชัดว่า คนอยู่บ้านใช้ชีวิตในช่วงโควิด สินค้าไอทียิ่งเป็นที่ต้องการ” นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ COM7 ตลอด 5 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งมันทำให้สุระคาดหวังยอดขายที่จะเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ได้แม้ต้องเผชิญสถานการณ์วิกฤตโรคระบาด สุระเล่าว่า ในช่วงที่ล็อกดาวน์ผู้คนถูกจำกัดให้อยู่บ้าน ร้านค้าทุกแห่งถูกปิด แต่ความต้องการสินค้าไอทีมีเข้ามาจำนวนมาก เมื่อนักเรียนต้องใช้ในการเรียนออนไลน์รวมทั้งกระแส work from home คนจำนวนมากต้องทำงานที่บ้าน ความต้องการอุปกรณ์เพื่อเชื่อมต่อกิจกรรม ทั้งการเรียนและการทำงานแบบออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “เป็นโอกาสที่เราอยู่ในธุรกิจนี้ และเป็นโอกาสในการนำเสนอเทคโนโลยีต่อเนื่องนั่นคือเรื่องของซอฟต์แวร์ที่เราสามารถเสนอบริการให้ลูกค้าเพิ่มเติมได้ และเทคโนโลยีก็จะเข้ามาอัพเดตทำให้ชีวิตผู้คนง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น”-ขายออนไลน์ “New Normal”-
ในขณะที่เทรนด์สินค้าไอทีพัฒนาไปสู่โปรดักต์ที่ตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของผู้คน พฤติกรรมตลาดก็เปลี่ยนแปลงไปแบบคู่ขนาน การซื้อสินค้าออนไลน์ที่แต่เดิมก็ถือเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจอยู่แล้ว เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งชัดเจนและโดดเด่นขึ้น ตามคำบอกเล่าของผู้บริหาร COM7 ที่ว่า “สถานการณ์บังคับทำให้เราขายออนไลน์ได้ แม้จะติดขัดในช่วงแรกก็พยายามทำทุกทางเพื่อให้เป็นไปตามลูกค้า เพราะเราไม่ได้เตรียมเรื่องนี้มาก่อน แต่พอผ่านเรื่องนี้มาได้เราก็ดีขึ้นมาก” สุระย้ำก่อนจะบอกว่า ช่วงแรกเขาค่อนข้างกังวล แต่พอเห็นการตอบรับของตลาดก็พบว่า มันคือโอกาสใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา เนื่องจากในอดีตยอดออนไลน์ที่ COM7 ทำได้ปกติไม่เคยถึง 100 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ประมาณ 60-70 ล้านบาท แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมายอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 400 ล้านบาท กลายเป็นโอกาสใหม่ทางการตลาดที่ชัดเจน แต่หลังจากห้างกลับมาเปิดตามปกติ ยอดขายออนไลน์ลดลงมาที่ 200-300 ล้านบาท ก็ถือว่ายังสูงต่อเนื่อง หากเทียบกลับไปที่ยอดเดิมซึ่งไม่ถึง 100 ล้านบาท ยอดการขายออนไลน์ที่ได้มาน่าจะเป็นอีกหนึ่ง new normal ที่เกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคเริ่มชินกับการซื้อในช่องทางใหม่นี้ ทางบริษัทฯ ก็หันมาปรับปรุงช่องทางการขายออนไลน์ให้ดีขึ้น “ก่อนเกิดโควิด เราตั้งเป้าเติบโต 10% สะดุดไปเดือนครึ่งในช่วงโควิด แต่เวลาที่เหลืออีก 7 เดือนยังมีความหวังว่าจะปิดยอดในสิ้นปีนี้เติบโตกว่าปีที่แล้วได้เอาชนะช่วงที่ปิดไป โดยทำยอดให้เป็นตามเป้าหมาย” สิ่งที่เกิดขึ้นนี้มาจากอานิสงส์การเพิ่มขึ้นของยอดขายออนไลน์ ซึ่งสุระเผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ทำให้บริษัทฯ มองว่า การขายออนไลน์จะทะลุเป้าหมายจากเดิมที่วางไว้ว่าภายในปี 2565 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า COM7 จะมีสัดส่วนยอดขายออนไลน์ 15-20% แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันเป้าหมายนี้อาจทำสำเร็จได้ในปีหน้า (2564) โดยสินค้าที่ขายดีสำหรับ COM7 มี 3 กลุ่มหลักคือ โทรศัพท์มือถือ (สมารท์ โฟน) คอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ต ซึ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมาปรากฏว่า คอมพิวเตอร์กับแท็บเล็ตขายดีกว่ามือถือ เนื่องจากคนอยู่บ้านใช้เพื่อทำงาน และเด็กๆ ต้องใช้เรียนหนังสือ โดยสินค้าทั้ง 3 ตัวหลักนี้ก็ขายดีในช่องทางออนไลน์เช่นเดียวกัน แต่หลังจากสามารถเปิดหน้าร้านได้ตามปกติ สินค้าขายดีก็ยังเป็นกลุ่มนี้ แต่ออนไลน์ขายดีในส่วนของไอแพดและคอมพิวเตอร์โดยทั้งสองตลาดมีกลุ่มลูกค้าต่างกัน-5G ความท้าทายใหม่-
บรรยากาศที่ห่างหายไปในการทำตลาดกลุ่มสินค้าด้านไอทีคาดว่าจะกลับมาในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่าสินค้าใหม่หลายรายจะกลับมาเปิดตัวกันเป็นส่วนใหญ่ “ผมคาดว่าปลายปีนี้จะคึกคักมากกว่าปกติ เพราะหลายแบรนด์จะมีการออกสินค้าเพื่อดึงยอดกลับมา บวกกับบริการ 5G ที่จะเข้ามาปลายปี เชื่อว่าจะมีอุปกรณ์ที่รองรับทยอยเปิดตัวออกมามากขึ้น” นั่นคือสิ่งที่ผู้บริหาร COM7 มอง ดังนั้นโจทย์ใหม่ของบริษัท ณ เวลานี้จึงไม่ใช่แค่เพียงการปรับตัวสู่ new normal จากสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังมีโจทย์ใหม่คือ 5G ที่ยืนรอโอกาสในระยะประชิดก็ว่าได้ “95% ของมือถือในปัจจุบันยังไม่รองรับ 5G เราจึงคาดว่าจะได้เห็นสินค้าปลายปีนี้แน่นอน หลายค่ายเริ่มโปรโมตคลื่นสัญญาณกันบ้างแล้ว” สุระมองด้วยสายตาของผู้ค้าอุปกรณ์ไอทีประสบการณ์ 24 ปีในธุรกิจนี้ เขาบอกว่า การแข่งขันในธุรกิจจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน เพื่อรองรับ 5G จะต้องคึกคักแน่นอน แต่ถ้าประเมินเบื้องต้นเฉพาะตลาดโทรศัพท์มือถืออย่างเดียว ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 50 ของอุปกรณ์ไอทีทั้งหมดในไทยมูลค่า 2 แสนล้านบาท ก็มีมูลค่าตลาดรวมราว 1 แสนล้านบาท เมื่อต้องเปลี่ยนถึงร้อยละ 95 ก็ใกล้เคียงแสนล้านเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ เป็นความท้าทายใหม่ของธุรกิจไอทีหลังโควิด-19 แต่จะร้อนแรงเพียงใดต้องรอดูจากกระแสตอบรับ เพราะไม่แน่ใจว่าวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาจะทำให้กำลังซื้อหดหายไปมากเพียงใด จากการที่หลายธุรกิจหยุดชะงัก ภาวะเลิกจ้าง ตกงาน และอีกหลายธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยว สถานบันเทิง และสถานบริการต่างๆ แต่ถึงกระนั้น สุระก็เชื่อว่าระลอกการเปิดตัวสัญญาณ 5G จะทำให้ตลาดมือถือเมืองไทยคึกคักได้อย่างแน่นอน แผนขยายสาขาดังกล่าวหมายความถึงการขยายเฉพาะในประเทศไทย ส่วนการขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน สุระบอกว่า ยังไม่ได้มองในส่วนนี้ เพราะเชื่อว่าแต่ละประเทศน่าจะมีผู้ค้าที่นำเข้าอุปกรณ์ไอทีไปจำหน่ายเป็นหลักอยู่แล้ว “ถ้าเราข้ามประเทศไป import สินค้าเข้ามาเหมือนกัน คงยากที่จะชนะผู้ค้า local และอีกประเด็นคือ เรามองว่าตลาดในประเทศยังมี room ให้เล่นได้ ยังเติบโตได้อีกมาก” ผู้บริหาร COM7 ยืนยันหนักแน่นว่า ชั่วโมงนี้เขามองตลาดในไทยเป็นหลักคลิกอ่านฉบับเต็มได้ที่ “สุระ คณิตทวีกุล รีสตาร์ทตลาดมือถือ “แสนล้าน”" จากนิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine