ความสนใจในเรื่องเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ นักธุรกิจหนุ่มใหญ่วัย 61 ปีนำพาธุรกิจที่เขาสร้างขึ้นด้วยมือให้เติบโต ก้าวขึ้นเป็น 1 ใน 3 บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าระบบและอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีในไทยที่เป็นดาวรุ่งในสายตานักลงทุน
SIS นั้นถูกกล่าวถึงว่า เป็นหุ้น low profile ที่ high profit ทำให้ราคาหุ้นจาก 15.80 บาท เมื่อปลายเดือนกันยายน ปี 2563 ล่าสุดวิ่งมาอยู่ที่ 32.75 บาท (ราคาปิด 5 ตุลาคม ปี 2564) เพิ่มขึ้นมากกว่า 100% แน่นอนราคาที่วิ่งขึ้นสะท้อนความน่าสนใจลงทุนในบริษัทนี้ ซึ่งมาจากพื้นฐานธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่องมาอย่างมั่นคง ทำให้ SIS เป็นที่สนใจของนักลงทุนกระทั่งราคาพุ่งทะยานขึ้นกว่าเท่าตัว
“ผมไม่ค่อยรู้เรื่องหุ้น ราคาที่ปรับขึ้นน่าจะมาจากมุมมองของนักวิเคราะห์ที่ประเมินเรา สำหรับผมแล้วบางอย่างคาดไม่ถึงว่าบริษัทจะทำได้ แต่ในที่สุดมันก็เป็นได้ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์” สมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SiS กล่าวกับทีมงาน Forbes Thailand อย่างถ่อมตัวในการให้สัมภาษณ์ถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจและการเติบโตของ SiS ที่กลายเป็นหุ้นเด่นกลุ่มธุรกิจไอทีที่ราคาพุ่งทะยานขึ้นมาอย่างเงียบๆ ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
ฐานแกร่งดีมานด์ไอทีพุ่ง
หลายคนมองว่า เพราะเป็นธุรกิจไอทีและเทคโนโลยีจึงเติบโตได้ในช่วงวิกฤตโรคระบาด เนื่องจากคนต้องเปลี่ยนวิถีการทำงานจากอยู่ออฟฟิศมาสู่การทำงานที่บ้าน work from home กลายเป็นวิถีใหม่ที่มาแรง
และนี่คือ การเพิ่มขึ้นมหาศาลของความต้องการสินค้าด้านไอที เพราะคนต้องเปลี่ยนการทำงานแยกตัวเว้นระยะห่าง ทำงานออนไลน์ ประชุมและสัมมนาแบบ virtual ทำให้ความต้องการสินค้าด้านไอทีเพิ่มขึ้น ทั้งสำหรับผู้ใช้ในครัวเรือนและองค์กรที่ต้องจัดหาอุปกรณ์ให้พนักงานเพื่อให้การทำงานที่บ้านไม่สะดุด
“Productivity ไม่ได้ลดลงเลยแถมเพิ่มขึ้น เพราะการทำงานที่บ้านทำให้คนเริ่มงานแต่เช้า ตัดปัญหาการเดินทาง และทำงานต่อเนื่องไปถึงช่วงเย็นและค่ำ เพราะไม่ต้องเดินทางอีกเช่นกัน นอกจากนี้ พวกเขายังได้ประชุมกันมากขึ้น พูดคุยติดตามงานกันมากขึ้น เพราะอยู่กันคนละที่” ผู้บริหาร SiS ยืนยัน แต่เขาก็มองว่า นี่เป็นการปรับตัวที่จะต้องเกิดอยู่แล้วในอนาคต เพียงแต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้มันเกิดเร็วขึ้น
สมชัยเล่าว่า ธุรกิจของเขาแม้จะเป็นด้านไอทีที่ดูเหมือนไร้ข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยี แต่ก็ต้องปรับตัวเมื่อตัดสินใจให้พนักงาน work from home เพราะต้องเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือด้านไอทีให้พร้อมสำหรับการทำงานจากภายนอก ทั้งที่เขาเตรียมการที่จะปรับตัวในลักษณะนี้มาก่อนหน้าแล้ว แต่เมื่อเกิดขึ้นจริงก็วุ่นวายในการจัดเตรียมอุปกรณ์อย่างไม่คาดคิด นั่นแสดงให้เห็นว่า ความต้องการสินค้าไอทีเพิ่มขึ้นมาก เมื่อทุกบริษัทจำเป็นต้องปรับตัวโดยให้พนักงานทำงานจากที่บ้านหรือที่อื่นๆ
WFH เปลี่ยนตลาด
แม้สมชัยจะโอนอ่อนตามความต้องการของพนักงานที่อยากทำงานที่บ้านมากกว่ามาออฟฟิศในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด แต่เขาก็ปรับเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ประเมินจากคำแนะนำของ Gartner ที่ปรึกษาบริษัทที่มองจากมิติของการทำงานว่า กลุ่มแรก อย่างไรก็ต้องมาทำงานที่ออฟฟิศ เช่น พนักงานโกดังจัดของก็ต้องมาจัดของที่โกดังทำที่บ้านไม่ได้ หรือพนักงานบัญชีต้องมารับเรื่องการวางบิล เก็บเช็คเข้าแบงก์ต้องทำที่ออฟฟิศฯ
แต่กลุ่มแรกที่ต้องทำในออฟฟิศอย่างเดียวมีไม่เยอะราว 10% หรืออย่างคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากเป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์ไอที คอลเซ็นเตอร์ที่ต้องคอยตอบปัญหาลูกค้าเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องมีอุปกรณ์พวกนี้ประกอบการทำงานจึงทำจากที่บ้านไม่ได้ เพราะต้องมีอุปกรณ์เมื่อลูกค้าโทรมาสอบถามเรื่องการใช้งาน จึงต้องมาเบิกอุปกรณ์ใช้ขณะให้บริการ
กลุ่มที่ 2 สมชัยเรียกว่า ออฟฟิศเฟิร์ส เดิมกลุ่มนี้ต้องอยู่ออฟฟิศทั้งวัน เพราะจำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศ แต่ในสถานการณ์แบบนี้ถ้าไม่ให้ work from home เขาจะไม่พอใจ สุดท้ายก็เจรจาว่า สรุปต้องมาออฟฟิศอาทิตย์ละวัน
กลุ่ม 3 คือ โฮมเฟิร์ส พนักงานกลุ่มนี้อยู่บ้านทำงานที่บ้านเลย ซึ่งสมชัยบอกว่ายังมีอุปสรรคบ้าง สำหรับผู้บริหารบางคนที่ไม่สบายใจว่าลูกน้องทำงานที่บ้านทำจริงหรือเปล่า อยากเห็นหน้าเห็นการทำงานที่ออฟฟิศมากกว่า
“ความจริงผู้บริหารใหญ่ๆ เรารู้แล้ว พวกเราเดินทางต่างประเทศ ไม่อยู่ออฟฟิศไม่เห็นเป็นปัญหาก็ยังทำงานได้ แต่ก็ห่วงคนที่ยังไม่ปรับตัว รู้สึกว่าไม่เห็นลูกน้องไม่สบายใจ” เขาอธิบายพร้อมยกตัวอย่างว่าโดยเฉพาะคนอายุเยอะจะกังวลเรื่องนี้มาก ขณะที่เด็กรุ่นใหม่บอกไม่ต้องเฝ้าหรอกให้ดูที่ output แทน แต่ตอนนี้ไม่มีทางเลือกคนติดเป็นหมื่นคนต่อวันจึงต้อง work from home กันเกือบ 100%
สมชัยบอกว่า การปรับตัวของบริษัทต่างๆ เรื่องการใช้ออฟฟิศเปลี่ยนไปมาก ถ้าเป็นบริษัทใหม่เพิ่งเปิดมาแนวนี้ประหยัดเลย เช่าพื้นที่เล็กๆ ไว้เจอกันหรือใช้โคเวิร์กกิ้งสเปซ
“ผมมีที่พัทยาเช่าออฟฟิศมานาน จู่ๆ เจ้าของจะขายตึก ทำให้เราต้องวิ่งวุ่นหาสำนักงานใหม่ แต่ HR ทักว่า อาจไม่จำเป็น เพราะปกติพนักงานที่สาขาก็ไม่ค่อยอยู่ออฟฟิศ ส่วนใหญ่ออกไปพบลูกค้า
เลยมาคุยว่าเราไม่มีได้ไหมลองดู พัทยาไม่มีออฟฟิศมา 2 ปีไม่มีปัญหาเลย ประชุมกันที่ Starbucks จองห้องประชุมแค่ซื้อกาแฟคนละแก้วใช้ห้องประชุมได้หลายชั่วโมง แต่ผมแนะว่า ให้ใช้ business center จะดูดีกว่า แต่ทีมงานบอกแบบนี้ดีกว่าได้ดื่มกาแฟด้วย ผมก็ตามใจ”
ป้อนเทคโนโลยีองค์กร-ผู้บริโภค
เขาเล่าเรื่องการปรับตัวอย่างตื่นเต้นกับผลลัพธ์ใหม่ก่อนจะหันมาพูดถึงธุรกิจของ SiS ว่า “ธุรกิจหลักของเราคือ หาเทคโนโลยีมาให้กับผู้ใช้ ช่วงต้นๆ แพง เน้นขายองค์กรเป็นส่วนใหญ่ computer ตัวเป็นแสน ขายเน้นธุรกิจอย่างเดียว เทคโนโลยีมาให้องค์กร PC server ต่อมาเมื่อผู้ผลิต PC ขยายตลาดเจาะกลุ่มใช้ที่บ้าน ด้วยความพร้อมผู้ใช้เพิ่มเรื่อยๆ จึงเน้นการขายเข้าบ้าน ซึ่งตลาดขยายตัวมาก” เขาบอกว่า SiS ขยายตลาดรีเทลมาหลายปีแล้วตามเทรนด์ของซัพพลายเออร์ และมาขยายมากในช่วงหลังเมื่อผู้บริโภคสนใจสินค้าเทคโนโลยีมากขึ้น
SiS เริ่มทำตลาดรีเทลหลังก่อตั้งบริษัทมา 4-5 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540-2541 โดยเริ่มทำตลาดเครื่องพีซีหรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะครั้งแรกยี่ห้อคอมแพคตระกูลพรีซาริโอ เป็นเครื่องราคาถูกเน้นผู้ใช้ที่บ้าน เริ่มขายเข้าบ้านตลาดเติบโตมาเรื่อยๆ เทคโนโลยีอัปเดตมาตลอ
“พอดีเราชอบด้วย สมัยก่อนเป็นเรื่องใหม่ เราชอบตั้งแต่เด็ก เรียนมาสายนี้ได้ทำงานสายนี้มีความสุข มีเพื่อนทำด้วยกันมาตั้งแต่ต้น” จากความชอบกลายเป็นธุรกิจ ทำให้สมชัยให้เวลากับการทำงาน SiS อย่างไม่จำกัด หลายคนอาจเรียกมันว่า เป็นการทุ่มเท แต่สำหรับเขาเทคโนโลยีคือความท้าทาย คือ สิ่งที่เขาต้องการเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจและมันช่วยทุกคน แม้เราจะตื่นเต้นแต่ถ้าไม่สามารถเอามาช่วยธุรกิจก็ไม่เกิดประโยชน์มันเป็นเรื่องยากเหมือนกัน การเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยธุรกิจ แต่เมื่อทำได้ก็ยิ่งสนุก เอาเข้ามาใหญ่ จากงานอดิเรกเป็นงานจริงได้ทดลองของใหม่ เทคโนโลยีใหม่อย่างที่ต้องการตลอดเวลา” สมชัยบอกอีกว่า
เขาสนุกกับการทำงานตรงนี้ ด้วยความสนใจเรื่องเทคโนโลยี เรื่องคอมพิวเตอร์ และระบบไอทีใหม่ๆ ที่อัปเดตตลอดเวลา สมัยก่อนเขาใช้เงินส่วนตัวในการซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีมาทดลองใช้ แต่ทุกวันนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของงานเขาไม่ต้องใช้เงินส่วนตัวซื้อ แต่ใช้งบบริษัทมาทำให้สิ่งที่สนใจ ทั้งสนุกและได้งานไปในเวลาเดียวกัน
หลักคิดของสมชัยเขามองว่า เทคโนโลยี คือ สิ่งที่ต้องนำมาทำประโยชน์กับองค์กรหรือผู้คนได้ เพราะหากเทคโนโลยีก้าวล้ำแค่ไหน ถ้าเอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้ก็ไม่มีความหมาย ดังนั้น เขาจึงเน้นเรื่องการนำเทคโนโลยีมาช่วยธุรกิจต่างๆ ทุกครั้งที่นำเข้าเทคโนโลยีใหม่หรือระบบไอทีที่ล้ำหน้าเขาคิดเสมอว่า ต้องนำมันมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ซึ่งสมชัยมักจะเน้นไปที่องค์กรขนาดเล็ก อยากให้เข้าถึงเทคโนโลยีที่มาช่วยให้งานเร็วขึ้น สะดวก รวดเร็ว และประหยัด
ภาพ: กิตติเดช เจริญพร