ศิริวิมล-วิลาสินี กิตะพาณิชย์ ทุ่มหัวใจพลิกผืนดินสู่ไร่เกษตรอินทรีย์ - Forbes Thailand

ศิริวิมล-วิลาสินี กิตะพาณิชย์ ทุ่มหัวใจพลิกผืนดินสู่ไร่เกษตรอินทรีย์

สองพี่น้องทายาทรุ่นที่ 3 เจ้าของอาณาจักร บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของประเทศ เลือกทำตามฝันตัวเอง หันหลังให้ธุรกิจกงสีของครอบครัวสู่เจ้าของไร่รื่นรมย์ฟาร์มเกษตรอินทรีย์กว่า 500 ไร่

สองพี่น้องดีกรีนักเรียนนอก ศิริวิมล กิตะพาณิชย์ ในวัย 31 ปี ผู้เป็นน้องสาว และ วิลาสินี กิตะพาณิชย์ พี่สาวผู้ร่วมอุดมการณ์ในวัย 34 ปี คือทายาทของ วีรศักดิ์ และ ฉวี กิตะพาณิชย์ เจ้าของอาณาจักร สมบูรณ์ กรุ๊ป ที่ทำยอดขายในปี 2560 กว่า 8 พันล้านบาท มีสินทรัพย์ใกล้ๆ หมื่นล้าน พวกเธอเลือกทำตามฝันของตัวเอง ด้วยการบุกเบิกที่ดินของครอบครัวใน .งิ้ว .เทิง .เชียงราย สู่ไร่รื่นรมย์ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่กินพื้นที่กว่า 500 ไร่

จากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เป็นเพียงพื้นที่รกร้าง สองพี่น้องใช้เวลาทุ่มเทแรงกาย แรงใจ พลิกผืนดินว่างเปล่าให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรเชิงสร้างสรรค์ มีร้านอาหาร และไร่เกษตรอินทรีย์แปลงใหญ่ มีกิจกรรมด้านการเกษตร ด้วยแนวคิดการเรียนรู้ความสมดุลการใช้ชีวิตจากธรรมชาติ และวิถีชีวิตที่เปี่ยมไปด้วยความพอเพียงและยั่งยืน

ศิริวิมล หรือแอปเปิลผู้เป็นน้องสาวเริ่มบทสนทนาอย่างเป็นกันเอง เธอคือหัวเรือใหญ่ประจำไร่ ที่เป็นคนลงมือในขั้นตอนการผลิตทั้งหมดภายในไร่ เป็นผู้นำแนวคิดและทำให้เห็นเป็นตัวอย่างให้กับคนในชุมชน เกษตรกรในพื้นที่บริเวณรอบๆ ไร่ ให้หันมาเห็นคุณค่าของพืชผักที่ปลอดสารพิษ

ด้วยความที่ครอบครัวมีที่ดินอยู่ในจังหวัดเชียงรายราว 200 ไร่ (ปัจจุบันซื้อที่เพิ่มขยายเป็น 500 ไร่) จึงยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ passion ของเธอเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น ซึ่งที่ดินที่คุณพ่อเธอซื้อเก็บไว้ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้วกว่า 200 ไร่ ยังเป็นที่รกร้างไม่มีใครบูรณะดูแล

บรรยากาศภายในไร่ โซนที่พักแบบกระโจม ให้บริการนักท่องเที่ยว

ช่วงแรกเราได้ไปหาองค์ความรู้ ไปเรียนรู้โมเดล 1 ไร่ 1 แสน ไปกินไปอยู่ราวๆ 1 ปี พอผ่านไป 1 ปี ก็เกิดความคิดที่อยากจะสอนในสิ่งที่เราได้เรียนรู้มา แต่เพราะเป็นแค่ผู้หญิงตัวเล็กๆ จะมีใครมาเชื่อเรา เลยคิดว่าเราต้องทำให้เห็นเป็นโมเดลบนพื้นที่ของเราก่อน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้เดินไปขออนุญาตคุณพ่อว่า ขอไปต่อยอดปรับปรุงที่ดินในเชียงราย ตอนแรกคุณพ่อก็เป็นห่วง สุดท้ายก็ยอมศิริวิมลเล่าพร้อมเผยว่า คุณพ่อไม่เคยว่าหรือให้ไปมุ่งมั่นสานต่อธุรกิจครอบครัวเลย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพวกเธอเอง

ด้าน วิลาสินี หรือเชอร์รี่พี่สาวที่ปัจจุบันดูแลด้านมาร์เก็ตติ้งทั้งหมดของไร่รื่นรมย์เล่าเสริมว่า เมื่อน้องสาวตัดสินใจจะไปทำไร่รื่นรมย์ที่เชียงราย เธอก็พร้อมที่จะติดตามไปเพื่อซึบซับในสิ่งที่น้องสาวเธอกำลังทำ

 

สร้างวิถีแห่งออร์แกนิกให้เป็นไลฟ์สไตล์

วิลาสินีบอกว่า แผนการโปรโมทไร่ของเธอคือต้องการให้คนรับรู้ว่าเกษตรอินทรีย์มันไม่ใช่แค่เรื่องเกษตร และสามารถเปลี่ยนคำว่าออร์แกนิกให้เป็นไลฟ์สไตล์ได้ คนในเมืองรู้สึกว่าสามารถใกล้ชิดธรรมชาติได้ในแบบของตัวเอง ขณะที่คนทำการเกษตรจะรู้สึกว่าผู้บริโภคอยู่ใกล้เขามากกว่าที่คิด

จากช่วงแรกของการบุกเบิกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มาถึงวันนี้ศูนย์การเรียนรู้เกษตรเชิงสร้างสรรค์ ร้านอาหาร ไร่เกษตรอินทรีย์ของสองพี่น้องกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ขนาดใหญ่ มีร้านอาหารที่คล้ายๆ เป็น Food Lab สำหรับปรุงวัตถุดิบที่ได้จากไร่เกษตรอินทรีย์ สู่อาหารออร์แกนิกในสไตล์ครีเอทีฟจากฝีมือเชฟที่มีความร่วมมือกัน มีที่พักท่ามกลางธรรมชาติ มีกิจกรรมเวิร์กช็อปที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมแบบยั่งยืน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในกรุงเทพฯ กว่า 99% ที่มาเวิร์กช็อป

ศิริวิมลเล่าต่อว่า จะพยายามไม่ให้ออร์แกนิกไลฟ์สไตล์อยู่แค่เวลาที่มาในไร่รื่นรมย์ แต่สามารถมีออร์แกนิกไลฟ์สไตล์แม้อยู่ในกรุงเทพฯ หรือที่ใดๆ ก็ตาม ขณะที่เธอเห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ที่เป็นออร์แกนิก ตอนนี้อาจยังเป็นแค่แฟชั่น เป็นนโยบาย แต่สุดท้ายแล้วจะกลายเป็น norm เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องกินอาหารที่ปลอดภัย

อย่างคอร์สเวิร์กช็อป เหมือนเขาได้มาสัมผัสกับบรรยากาศและอยู่กับธรรมชาติจริงๆ มาค้นหาตัวเองว่าเขาอยากทำอะไร เช่น เรามีเวิร์กช็อปด้านแฟรนไชส์ ให้เขาเรียนรู้เรื่องต้นชา ซึ่งเขาก็จะได้สูตรที่เป็นของตัวเองกลับไปพัฒนาเป็นธุรกิจหรือไปชงกินเองที่บ้าน

 

สู่โมเดลเกษตรและท่องเที่ยวยั่งยืน

เมื่อถามถึงแผนธุรกิจในแบบไร่รื่นรมย์ วิลาสินีผู้เป็นพี่สาวที่ดูแลเรื่องมาร์เก็ตติ้ง เผยว่า หนึ่งในแผนธุรกิจที่ทำอยู่คือการทำเป็นแพ็กเกจเวิร์กช็อปแบบ 3 วัน 2 คืน รวมทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าองค์ความรู้ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ และรถไปรับไปส่ง มีอย่างเดียวที่ลูกค้าต้องซื้อเองคือค่าเดินทางมาเชียงราย ซึ่งเธอบอกว่าได้ผล เพราะลูกค้าจะได้ประสบการณ์จากสิ่งที่เขาชอบ และกลายเป็นลูกค้าประจำที่ไร่

รายได้หลักๆ ของไร่รื่นรมย์มาจากการทำการเกษตรเป็นหลัก และเตรียมให้บริการคล้ายๆ กับ contract farming เน้นกลุ่ม B2B มากขึ้น ทางไร่จะให้พื้นที่ปลูก ให้วัตถุดิบที่ certified ออร์แกนิก และรับซื้อในแบบ fair trade price ขณะเดียวกันจะเน้นเรื่องการท่องเที่ยว และการผลิตมากขึ้น รวมถึงเตรียมพร้อมเรื่องการแปรรูปวัตถุดิบในไร่ให้มีมูลค่าเพิ่ม เก็บได้ยาวนาน ต่อไปสินค้าจะเป็นตัวนำ 60% และการผลิต 40% เรากำลังทำโรงงานแปรรูปผลผลิตในไร่ คาดว่าจะเสร็จราวปี 62”

ภารกิจประจำวันของศิริวิมลยามเมื่ออยู่ที่ไร่ เธอแนะให้ชาวบ้านเรียนรู้ถึงการทำเกษตรแบบยั่งยืน

เมื่อถามถึงคุณพ่อ ศิริวิมลบอกว่าคุณพ่อเกษียณประมาณ 2 ปีแล้ว ทั้งพ่อและแม่ย้ายไปอยู่ที่เชียงราย ขณะที่ในสมบูรณ์ กรุ๊ปยังมีผู้บริหารที่เป็นเครือญาติของครอบครัวในรุ่นต่างๆ ที่มีความเป็นมืออาชีพ และเชี่ยวชาญในตัวธุรกิจช่วยกันบริหาร

จริงๆ แล้วเราพี่น้องเคยคุยกันว่าให้สุดท้ายแล้วถ้าไม่มีใคร หรือเกิดอะไรขึ้น เราก็ไม่เคยลืมสมบูรณ์ กรุ๊ป เพราะคือที่มาของเราเราไม่มีทางลืมความเป็นตัวตนของเราได้ ถ้าวันหนึ่งเราทำให้ไร่รื่นรมย์อยู่ตัวแล้ว เราอาจกลับไปช่วยธุรกิจครอบครัวก็ได้ อนาคตยังไม่มีใครรู้ แต่ถ้ามีคนที่เหมาะสมอยู่แล้วเราก็สนับสนุนเต็มที่ ซึ่งทั้งพ่อและแม่เองก็เคารพการตัดสินใจของเราศิริวิมลกล่าว

ภาพ: กิตติเดช เจริญพร

   
ติดตามอ่านฉบับเต็ม "ศิริวิมล-วิลาสินี กิตะพาณิชย์ ทุ่มหัวใจพลิกผืนดินสู่ไร่เกษตรอินทรีย์" ได้ที่ นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2561 สังคมสูงวัย