บุญชัย เบญจรงคกุล Lifelong Philanthropy นักธุรกิจหัวใจแบ่งปัน - Forbes Thailand

บุญชัย เบญจรงคกุล Lifelong Philanthropy นักธุรกิจหัวใจแบ่งปัน

กว่า 40 ปีบนถนนสายธุรกิจ ประสบการณ์ในฐานะผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ “ดีแทค” ยังทรงคุณค่าในการส่งต่อกิจการ แต่นอกเหนือไปกว่านั้นการมีหัวใจนักแบ่งปันของ บุญชัย เบญจรงคกุล เป็นอีกจุดเด่นของประธานค่ายมือถือแห่งนี้ ทำให้ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยสีสันและเป็น Lifelong Philanthropy ด้วยการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์แห่งความดีให้กับสังคม

ความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในความดี ไม่เอาเปรียบ และรู้จักแบ่งปันคือ อุดมการณ์ด้านบวกที่เชื่อว่าหลายคนตั้งใจ แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถก้าวเดินด้วยแนวคิดนี้ได้อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับ บุญชัย เบญจรงคกุล แขกรับเชิญของ Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคมปีนี้ ซึ่งนำเสนอด้วยธีม Hero of Philanthropy เศรษฐีใจบุญในแง่มุมที่ต่างออกไป ไม่ใช่การบริจาคหรือทำมูลนิธิช่วยผู้ยากไร้ แต่เป็น philanthropy ในบริบทของการแบ่งปัน การส่งต่อแนวคิดที่ดี สร้างคน สร้างพลังบวก ช่วยต่อยอดสังคม จรรโลงให้คนมีจิตสาธารณะรู้จักการอยู่อย่างแบ่งปัน เกื้อกูล ร่วมกันพัฒนาชีวิต สังคมและประเทศชาติ “งานที่ทำเพื่อสังคมไม่มีวันเกษียณ ผมพบว่ามันเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกหลาน ทำให้พวกเขาไม่เป็นคนเกเร สามารถเติบโตขึ้นมาทำงานและช่วยเหลือสังคมได้” เป็นเหตุผลลึกๆ ในใจของบุญชัยกับโครงการเสริมพลังบวกให้กับสังคมที่เขาทำมานานนับ 10 ปี ส่วนประสบการณ์ที่มีมายาวนานกว่า 40 ปีในธุรกิจทำให้เขายังคงส่งต่อแนวคิดและมุมมองในการทำธุรกิจให้ทีมบริหารมืออาชีพนำไปสานต่อในรูปแบบและวิธีการสมัยใหม่ บุญชัย เบญจรงคกุล

12 ปีสำนึกรักบ้านเกิด

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเป็นหลักคิดของบุญชัย คือ การจะทำอะไรก็ตามต้องมีความพร้อม ต้องเริ่มต้นที่ตัวเองแข็งแรงก่อน “ผมต้องอยู่รอดและแข็งแรงก่อนจะไปช่วยคนอื่น นี่ก็เป็นที่มาว่าทำไมผมถึงคิดช่วยเด็กๆ ด้านการศึกษา และโครงการสำนึกรักบ้านเกิด แม้ชื่อจะบอกว่าสำนึกรักบ้านเกิด แต่หากน้องๆ ยังไม่พร้อม ยังไม่แข็งแรงเขาก็คงจะกลับไปช่วยบ้านเกิดยังไม่ได้ ต้องทำตัวเขาเองให้แข็งแรงก่อน” ด้วยมุมมองนี้เองทำให้โครงการสำนึกรักบ้านเกิดเน้นสร้างเสริมให้เด็กๆ เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งก่อนจะกลับไปพัฒนาถิ่นกำเนิดของตนเอง โครงการสำนึกรักบ้านเกิดของบุญชัย เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากการที่เขาได้มีส่วนช่วยงานภาครัฐในการแก้ปัญหา “ตกเขียว” หรือปัญหาที่มีการนำเด็กๆ จากภาคเหนือมาทำงานกลางคืนและขายบริการ “ผมทำสำนึกรักบ้านเกิดมาทั้งสิ้น 12 รุ่น เป็นเวลา 12 ปีก่อนจะหยุดไปตอนที่ผมเกษียณเมื่อ 7 ปีก่อน แต่ก็ได้สร้างเสริมเยาวชนให้มีความรู้ มีการศีกษา และมีใจช่วยเหลือสังคมมาได้กว่า 1,000 คน กระจายไปหลายวงการ” บุญชัยสรุปสั้นๆ ถึงโครงการสำนึกรักบ้านเกิดที่เขาทำอย่างจริงจังมาตลอด 12 ปี และถึงแม้จะยุติโครงการกองทุนส่งเสริมเรื่องการศึกษาไปแล้ว บุญชัย เบญจรงคกุล แต่เขายังคงรักษาโครงการสำนึกรักบ้านเกิดไว้ เพื่อต่อยอดงานช่วยสังคมในด้านต่างๆ โดยทำควบคู่ไปกับโครงการร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งเริ่มแรกเป็นรายการที่ทำผ่านสถานีวิทยุ FM 96 ต่อมาได้ปรับเป็นการใช้คลื่นวิทยุของตำรวจในการประสานเหตุการณ์ความช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งยังคงทำอยู่จนถึงปัจจุบัน และจะทำต่อไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ผู้คนยังต้องการความช่วยเหลือ

ร่วมด้วยช่วยกันทุกที่

โครงการร่วมด้วยช่วยกัน เป็นแนวคิดของการแบ่งปันช่วยเหลือกันในสังคมผ่านทุกช่องทางที่สามารถทำได้ โดยมีทีมงานอาสาสมัครเป็นคนกลางคอยประสานงานเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ รับแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 1677 ซึ่งบุญชัยบอกว่า ปัจจุบันมีอาสาสมัครในโครงการนี้กว่า 4,000 คน ทุกคนอาสามาทำงานด้วยใจ  ซึ่งเขามองว่ากำลังพลตำรวจในไทยมีไม่เพียงพอต่อปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ที่มีผู้คนอยู่อาศัยมากกว่า 20 ล้านคน บุญชัย เบญจรงคกุล ซึ่งขณะนี้เขานำ 2 โครงการมารวมกัน ทั้งร่วมด้วยช่วยกันและสำนึกรักบ้านเกิดมาดำเนินการผ่าน “มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด” และเว็บไซต์ www.rakbankerd.com ซึ่งนอกจากทำเรื่องการช่วยเหลือชุมชนแล้ว ยังทำเรื่องพัฒนาการเกษตรในโครงการ “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” ซึ่งเป็นการจัดประกวดเกษตรกรดีเด่นด้านนวัตกรรมการเกษตรต่างๆ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

สร้างเสริมเกษตรกรยุคใหม่

เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด นับเป็นการสร้างแหล่งเรียนรู้และสร้างสรรค์ให้กับคนในภาคเกษตรได้อย่างเท่าทันเทคโนโลยี เพราะไร้ข้อจำกัดเรื่องสถานที่และเวลา เนื่องจากเป็นเว็บไซต์จึงสามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง เขาเน้นส่งเสริมเรื่องการเกษตรเพราะมองว่า คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ในภาคเกษตรและไทยก็เป็นประเทศเกษตรกรรม จึงต้องให้ความสำคัญพัฒนาภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง และเป็นแนวคิดที่ดำเนินตามรอยพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ท่านสอนเรื่องเกษตรด้วยทฤษฎีเกษตรผสมผสาน ให้ประชาชนสามารถหาเลี้ยงชีพและสร้างความร่ำรวยได้ในเส้นทางของการเป็นเกษตรกร เขามองว่าการพัฒนาลักษณะนี้จะทำให้ได้เกษตรกรรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่อายุน้อยๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย สามารถพัฒนาเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ขับเคลื่อนภาคเกษตรของไทยให้ทันสมัยขึ้น บุญชัยทำสิ่งเหล่านี้ด้วยใจที่คิดอยากจะสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีให้กับแผ่นดินไทย เขาทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจและไม่ได้หวังผลตอบแทนเป็นตัวเงิน

เชื่อมงานศิลป์สู่รากเหง้าอาเซียน

การพูดคุยในวันนั้นทำให้รู้ว่าประธาน กรรมการและผู้ก่อตั้ง ดีแทค ผู้นี้ทำอะไรเยอะมากในแง่ของการแบ่งปัน และดูเหมือนจะยังไม่มากพอสำหรับเขา ซึ่งมีความฝันใหม่ที่สืบต่อมาจากความชื่นชอบในงานศิลปะที่เป็นอีกศาสตร์ที่เขารักและทุ่มเท ถึงขั้นสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะไทยร่วมสมัย MOCA Bangkok ขึ้นเมื่อปี 2555 กว่า 9 ปีแล้วที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นสถานที่แสดงผลงานศิลปะของเหล่าศิลปินทั่วฟ้าเมืองไทย แต่มาวันนี้บุญชัยกำลังคิดไกลไปอีกขั้น เขาต้องการให้งานศิลปะเป็นสื่อถ่ายทอดประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องเส้นทางของประวัติศาสตร์ที่จะเชื่อมโยงอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว หลังจากหลายปีมานี้ได้เห็นความแตกต่างและความพยายามช่วงชิงผลประโยชน์ของชาติอาเซียนด้วยกันชัดขึ้นเรื่อยๆ “ตอนนี้ผมเริ่มคิดว่า อยากสลายความเป็นคนมาเลเซีย คนไทย คนลาว คนเขมร ให้น้อยลง กลับมาเป็นคนสุวรรณภูมิเหมือนเดิมเป็นเมืองแห่งการค้าที่รุ่งเรืองเหมือนในอดีต ความเป็นหนึ่งเดียวกันจะทำให้เราไม่ต้องเสียทหารในเหตุการณ์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” เขาเล่าว่า รู้สึกสะเทือนใจเมื่อ ครั้งหนึ่งเคยไปส่งมอบโรงเรียนที่สร้างให้กับชุมชน แต่เขากลับต้องรีบเดินทางออกจากพื้นที่ก่อนค่ำเพื่อป้องกันเหตุร้าย เนื่องจากในพื้นที่จังหวัดปัตตานียังมีผู้ก่อการร้าย ซึ่งเจ้าหน้าที่บอกเขาว่า ต้องรีบกลับก่อนค่ำ เพราะคนเหล่านี้พูดไม่รู้เรื่อง พวกเขาต้องการแบ่งแยกดินแดน บุญชัย เบญจรงคกุล บุญชัยพยายามเชื่อมโยงงานศิลปะเพื่อจะย้ำว่าประวัติศาสตร์ที่ยาวไกลถึง 3,000 ปี ผู้คนในแหลมทองแห่งนี้ล้วนมาจากที่เดียวกันทำมาหากินบนดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ “ผมยังอยากเห็นสุวรรณภูมิของ Southeast Asia ที่อยู่รอดได้ด้วยตัวเอง เรามีประชากรรวมกันหลายร้อยล้านคน เราสามารถยืนอยู่ด้วยตัวเองได้ ทำไมต้องไปอยู่บนความขัดแย้ง” เป็นอีกความใฝ่ฝันของเจ้าสัวผู้หลงรักงานศิลปะ และอยากให้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการประสานรอยร้าวของสังคม สร้างการรับรู้และการยอมรับในอดีตอันรุ่งเรืองซึ่งเป็นที่มาเดียวกันของประเทศอาเซียนในลุ่มแม่น้ำโขง สร้างสังคมแห่งการแบ่งปัน “ผมเชื่อว่าจากการทำเรื่องรักบ้านเกิด ร่วมด้วยช่วยกัน Smart Farmer ทำให้น้องๆ มีงานทำและเป็นตัวของตัวเอง อย่าไปเป็นลูกน้องเขาเลย ทำอะไรก็ได้มีตัวอย่างเป็นพันๆ ให้เลือก” บุญชัยกล่าวสรุป พร้อมกับเผยอีกโครงการที่เขากำลังพัฒนา ซึ่งจะมองว่าเป็นการทำเพื่อตัวเองก็ไม่ผิด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายคนที่ครอบครองที่ดินจำนวนมากกำลังถูกภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าไล่ล่าหลังจากได้รับการยกเว้นลดภาษี 90% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หากผู้ถือครองปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่านานถึงระยะเวลาที่ภาษีกำหนดพวกเขาอาจต้องเสียภาษีที่ดิน 100% เท่ากับมูลค่าที่ดิน ซึ่งหลายคนเริ่มเตรียมตัวบ้างแล้วแต่อาจยังมองภาพทางออกไม่ชัดเจนนัก เจ้าสัวบุญชัยเปิดแนวคิดแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยโครงการพัฒนา “ไร่เบญจรงคกุล” เนื้อที่ 800 ไร่ ที่ อ. พระพุทธบาท จ. สระบุรี ให้เป็นสวนป่าแนวคิดใหม่ มีการจัดแลนด์อาร์ตที่สวยงาม ถนนรายล้อมด้วยพันธุ์ไม้ดอก “ผมจะทำเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการพัฒนาพื้นที่เกษตรช่วยแก้ปัญหาที่รกร้างว่างเปล่าได้ และพร้อมแบ่งปันความรู้ เปิดให้คนมาเรียนรู้ลองใช้ชีวิตในไร่ เพื่อ inspire ให้นำไปใช้กับที่ดินของตน และพร้อมจะส่งต่อองค์ความรู้เรื่องนี้กับทุกคน” บุญชัยเผยและว่าโครงการไร่เบญจรงคกุลและพิพิธภัณฑ์ธรรมชาตินี้ คาดว่าจะเปิดให้ชมได้ในปี 2565 เป็นอีกแนวทางของการคิดเพื่อแบ่งปัน บุญชัยยังเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตอีกมากมายที่เขาได้พบและกลั่นกรองมาเป็นแนวคิดของการแบ่งปัน ทุกประสบการณ์ที่เขาผ่านมาล้วนเป็นบทเรียน เขาค่อยๆ พิจารณาและนำมาพัฒนาเป็นโครงการต่างๆ ซึ่งแน่นอนเริ่มจากตัวเอง แต่ขณะเดียวกันก็มองเพื่อส่วนรวม ผสมผสานสองเรื่องเข้าด้วยกัน ทำสิ่งที่ชอบและแบ่งปันสิ่งที่ดีให้กับสังคมได้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงบนวิถีธรรมชาติ กลับคืนสู่สามัญในโลกที่นับวันคนจะถวิลหาการหวนคืนสู่ธรรมชาติมากขึ้น เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาโลกให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ เบญจจินดา
คลิกอ่านบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine