ตรีชฎา เพชรรัตน์ สตาร์ทอัพไบโอเทคเปลี่ยนโลก - Forbes Thailand

ตรีชฎา เพชรรัตน์ สตาร์ทอัพไบโอเทคเปลี่ยนโลก

การพลิกบทบาทครั้งสำคัญของ ตรีชฎา เพชรรัตน์ จากนักแสดงมืออาชีพที่สามารถสร้างชื่อในต่างประเทศสู่การแจ้งเกิดในฐานะนักวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ ปั้นธุรกิจการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมก่อตั้งบริษัทผลิตยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาตรฐานสากลด้วยความมุ่งมั่นในเป้าหมายการเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น

เมื่อสปอตไลต์ที่สาดส่องเริ่มส่งผลต่อความรู้สึก จากแสงแห่งความเจิดจรัสกลายเป็นแสงจ้าที่สว่างมากเกินไป พร้อมกับหมุดหมายในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ ตรีชฎา เพชรรัตน์ นักแสดงสัญชาติไทย ที่แจ้งเกิดสร้างชื่อเสียงในต่างประเทศจนได้รับรางวัล Person of the Year หรือผู้ทรงอิทธิพลในประเทศจีนหลายปี ตัดสินใจเดินตามความฝันและความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยการเริ่มต้นนับหนึ่งทั้งการศึกษาเฉพาะทางและก่อตั้งธุรกิจเต็มตัว “อินเรื่องนี้มาตั้งแต่เด็กที่รู้ว่าโลกนี้มีวิทยาศาสตร์อยู่จริง ซึ่งเมื่อก่อนเคยตั้งคำถามกับคุณย่าว่า ทำไมแผลถึงหายเร็วหลังจากทาน้ำผึ้ง เพราะทุกอย่างเกิดจากความสงสัยและตั้งคำถามตลอดเวลา โดยได้นำหลักการเหล่านี้มาใช้ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในวงการบันเทิงที่เคยตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงไม่สามารถทำงานในตลาดอินเตอร์ได้ เมื่อตั้งคำถามแล้วเราจึงกำหนดวิธีการไปให้ถึงเป้าหมายเหมือนการออกแบบทดลอง” ตรีชฎา เพชรรัตน์ กล่าวถึงความสนใจในหลักการและแนวทางของวิทยาศาสตร์ที่สามารถปรับใช้ในชีวิต ขณะที่การเบนเข็มเส้นทางการทำงานเริ่มต้นในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศจีนต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดได้กลายเป็นโอกาสให้ตรีชฎาได้พักงานบันเทิงในต่างประเทศ และรีสตาร์ทออกแบบเส้นทางชีวิตของตัวเองใหม่ ด้วยการลงเรียนคอร์สออนไลน์ภาควิชาประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) มหาวิทยาลัยมหิดลจนจบหลักสูตร และศึกษาต่อปริญญาโท สาขาพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลและพันธุวิศวกรรมศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุลมหาวิทยาลัยมหิดล “สมัยก่อนเคยคิดว่า ในท้ายสุดเราอาจจะกลับบ้านไปอยู่ที่ภูเก็ต เพราะชอบชีวิตเรียบง่าย และอยากกลับไปใช้ชีวิตที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าการเป็นดาราที่ต้องพยายามอยู่ในแสง ซึ่งถ้าไม่มีโควิด-19 ปอยคงถ่ายหนังอยู่ที่ฮ่องกง แต่เพราะโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เรามาทำโปรเจ็กต์นี้ โดยแม้จะเป็นงานที่ต้องใช้พลังงานและสละเวลาอย่างมาก แต่สิ่งที่ต่างออกไปคือ เราสามารถออกแบบงานเราได้ และความสุขที่ได้ร่วมงานกับทีมงานที่มี passion เดียวกับเรา รวมถึงทำงานกับนักวิจัยจำนวนมากในบริษัท” ตรีชฎาเล่าถึงโปรเจ็กต์ใหญ่ที่เกิดจากการปรับประสบการณ์การศึกษาดูโรงงานผลิตยาหรือนวัตกรรมทั่วโลกในช่วงที่เคยทำธุรกิจผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และต้องว่าจ้างโรงงานหรือบริษัทรับจ้างผลิต (OEM) เกือบ 10 ปี จนกระทั่งเล็งเห็นความพร้อมก่อตั้ง บริษัท ไบโอฟาร์มา แปซิฟิก จำกัด และ บริษัท ไบโอฟาร์มาเทค จำกัด ภายใต้กลุ่ม BIOMT รับวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ระดับโมเลกุลและรับผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบต่างๆ ตามความต้องการ เช่น เม็ดแคปซูลหรือแบบผงภายใต้มาตรฐาน GMP และอย. (ประเทศไทย) ซึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางการแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI เพื่อส่งเสริมการสร้างมาตรฐานใหม่ให้ประเทศด้านเทคโนโลยีชีวภาพ “ได้รับแรงบันดาลใจจากการเดินทางดูโรงงานทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ ทำให้เราเห็นมุมมองการสร้างโรงงานหรือสถานที่ผลิตยาที่ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก แต่เน้นการใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีล้ำสมัย ทำให้การผลิตมี capacity สูงมาก รวมถึงสถานที่ผลิตในต่างประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ใจกลางเมือง เราจึงคิดว่า คงจะเป็นประโยชน์ถ้าเราจะมีสถานที่ผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาตรฐานยากลางเมืองนั่นเป็นโจทย์แรกของเรา และการใช้พื้นที่ทุกจุดให้เป็นประโยชน์ โดยพาร์ตเนอร์ที่ร่วมเป็นเจ้าของคือ คุณโอ๋-ชลธิชา ชวาลเวชกุล เป็นผู้ออกแบบ production line หรือด้านวิศวกรรมเครื่องกลทั้งหมด เพราะจบทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการ (IE) เขาเป็นอัจฉริยะด้านนี้”

ปั้น BIOMT เทียบมาตรฐานสากล

ธุรกิจในฝันที่กลายเป็นความจริงไม่เพียงเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจฝ่าบททดสอบอันท้าทายได้สำเร็จ แต่ยังเป็นความภาคภูมิใจในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ซึ่งมีส่วนร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย โดยสามารถก่อตั้งบริษัทใจกลางเมืองใกล้สถาบันการศึกษา ซึ่งสะดวกในการเดินทางและเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยได้ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่จับต้องได้สร้างประโยชน์ให้กับคนทั่วโลก “ในระหว่างที่ตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตยาหรืออาหารเสริมเอง เราได้ศึกษาเทคโนโลยีและ R&D จนได้ไอเดียโปรเจ็กต์คอนเซ็ปต์การก่อตั้งบริษัทรับวิจัยพัฒนาและวิเคราะห์ด้วย จากเดิมแบ่งสัดส่วนให้ความสำคัญเท่ากัน แต่ขณะนี้เราได้ทุ่มเงิน ทุ่มใจ และทุ่มแรงไปกับการวิจัย 60% ซึ่งทุกวันนี้ไทยยังพึ่งพาเทคโนโลยีของต่างชาติมาก ไม่ใช่ว่าทรัพยากรบุคคลของไทยไม่เก่ง ในทางตรงกันข้ามนักวิทยาศาสตร์ไทยเก่งมาก แต่ปัญหาอยู่ที่ส่วนใหญ่ประเทศไทยจะเน้นผลการศึกษาวิจัยเป็นกระดาษ หรือ lab scale โดยไปไม่ถึงขั้น production หรือ commercial scale” ดังนั้น ในปัจจุบันกลุ่ม BIOMT แบ่งธุรกิจออกเป็น บริษัท ไบโอฟาร์มา แปซิฟิก จำกัด ทำหน้าที่รับผลิตเครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและยามาตรฐานสากลในระดับแล็บสเกลที่คำนึงถึงระดับโปรดักชันสเกลด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ที่เกิดจาก บริษัท ไบโอฟาร์มาเทค จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจวิจัยและพัฒนาประยุกต์ (applied research) 3 ด้านหลัก ได้แก่ การทดสอบเชื้อ การวิจัยทางคลินิก และการวิจัยเคมี “เราวางแผนให้ไบโอฟาร์มา แปซิฟิกสามารถผลิตยาได้ในอนาคต เช่น ยาทั่วไป ยาสามัญประจำบ้าน ยาอันตรายด้วยการยกระดับสถานที่ให้เป็นมาตรฐานสากล ระบบไร้สัมผัส และ workflow ต่างๆ โดยคนในองค์กรเรามากกว่า 70% เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศาสตราจารย์ และ professor ซึ่งการลงทุนในไบโอฟาร์มาเทคเราแบ่งเป็นเฟส โดยใน 5 ปีแรกเรามองตัวเองเป็นไบโอเทคสตาร์ทอัพใน New S-Curve ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องไฟแนนซ์เป็นหลัก แต่เน้นคอนเซ็ปต์ไอเดีย การทำให้ impact หรือกลายเป็นยูนิคอร์นในไบโอเทคโนโลยี” ตรีชฎายกตัวอย่างงานวิจัยของบริษัทด้านการทดสอบเชื้อ เช่น การศึกษาเชื้อจุลินทรีย์ Probiotics หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชีวิตสายพันธุ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพให้มีชีวิตอยู่หลังกระบวนการผลิตให้มากที่สุด เพื่อช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันและปรับสมดุลของร่างกายให้เกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจากนั้นการวิจัยทางคลินิกที่จะสร้างประโยชน์ต่อวงการแพทย์ในอนาคต ได้แก่ การพัฒนารูปแบบการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบแม่นยำและจำเพาะ โดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรมหรือข้อมูลในระดับโมเลกุลสำหรับการตรวจวินิจฉัยและการเลือกรูปแบบการรักษาที่ตรงจุดหรือ precision medicine ซึ่งมุ่งเน้นที่การรักษามะเร็งเต้านมเป็นโปรเจ็กต์แรก เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงทั่วโลกสูงสุด และมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นมาก

สร้างมายเซ็ตการทำงาน

ตรีชฎาย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัยที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำพร้อมสร้างประโยชน์ให้กับคนทั่วโลกด้วยการผสมทั้งศาสตร์ด้านหลักการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ และศิลป์ด้านการบริหารจัดการทางการเงินรวมถึงความต้องการในตลาด เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถต่อยอดเทคโนโลยีเป็นผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมได้ “เราต้องการให้นักวิจัยของเราเปลี่ยน mindset ให้ทุกคนคิดเผื่อการใช้งานในอนาคต เพื่อให้เกิดประโยชน์กับโลกเพราะถ้าสำเร็จจบในแล็บห้องเดียวอาจจะใช้เวลานานกว่าจะเกิดประโยชน์กับคนอื่น เนื่องจากสุดท้ายผู้ประกอบการต้องดัดแปลงให้เหมาะกับ production scale หรือข้อจำกัดทางการแพทย์ ถ้าสำเร็จแต่จับต้องไม่ได้จริงก็ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งบริษัทเราต้องทำตั้งแต่ต้นน้ำและคำนึงถึงปลายน้ำด้วย โดยต้องมีการเบลนด์ทั้งศาสตร์และศิลป์เข้ามา รวมถึงต้องมองตลาดให้ออกว่าสิ่งที่ทำมีตลาดรองรับและเป็นปัญหาของโลกหรือไม่” ขณะที่หลักการบริหารธุรกิจและทีมงานมุ่งเน้นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น หรือระดมสมองสร้างสรรค์จินตนาการกันอย่างเต็มที่ โดยออกแบบระบบการทำงานของบริษัทให้เป็นออนไลน์ทั้งหมด (paperless) และใช้คลาวด์เป็นระบบกลางในการจัดเก็บข้อมูล ทำให้ทีมงานสามารถทำงานได้ทุกที่และทุกเวลา เช่น ร้านกาแฟ Cafe Tabebuya ของบริษัทที่ใช้แทนห้องทำงาน หรือห้องประชุมเสมือนศูนย์รวมสภากาแฟสำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน รวมถึงทำเลที่อยู่ใจกลางเมืองและข้างสถาบันการศึกษาจึงทำให้มีนักวิจัย อาจารย์ นักศึกษา พนักงานบริษัท และบุคคลทั่วไปเข้าใช้บริการด้วย “เนื่องจากเราเป็นสตาร์ทอัพ ทำให้การทำงานของเราอิสระมาก อะไรที่ทีมของเราคิดขึ้นมา เรามองก่อนเลยว่าเป็นไปได้ หรือถ้าใครได้รับการปฏิเสธจากที่อื่น เราจะให้ลองมาคุยกัน ซึ่งโมเมนต์ที่นักวิทยาศาสตร์คุยกันสนุกมาก เหมือนจินตนาการกันออกมาก่อน หรือไม่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ก็ได้ แค่สงสัย ตั้งคำถาม และเห็นความเป็นไปได้ เพราะปอยชอบคนคิดนอกกรอบและเชื่อว่าความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด” ท้ายสุดตรีชฎา ยังสามารถนำศาสตร์และศิลป์จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาผสมผสานเป็นแนวทางการบริหารในปัจจุบัน รวมถึงการทำงานในต่างประเทศที่เสริมความเชื่อมั่นในพลังของความคิดนอกกรอบและทำลายข้อจำกัดของคำว่า “เป็นไปไม่ได้” โดยเฉพาะหากเป็นการทำงานที่เกิดจากความรัก หรือ passion นำทางสู่ความสำเร็จ พร้อมให้คำแนะนำและสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนกล้าที่จะก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลง “ปอยชอบคำว่า ททท หรือ ทำทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบพูดเสมอในองค์กร และการทำงานที่ดีที่สุดต้องกล้าพูดตรงๆ เพราะทีมงานก็จะไม่อ้อมค้อมที่จะสะท้อนความเห็นของเขา หรือบอกข้อผิดพลาดของงาน ไม่ปล่อยผ่าน ปอยอยากให้ทุกคนที่นี่มีสิทธิ์กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น โดยสิ่งที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคือ เราต้องทำทันที รวมทั้งปอยยังชอบคอนเซ็ปต์ humble หรือถ่อมตนแบบมีของ และวิธีการคิดว่าข้อจำกัดไม่มีจริง” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ กลุ่ม BIOMT
คลิกอ่านฉบับเต็ม และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมิถุนายน 2564 ในรูปแบบ e-magazine