บรรยากาศอันร่มรื่นด้วยแมกไม้เขียวขจีที่ปลูกแซมเหล่าอาคารเรียนบนพื้นที่กว่า 100 ไร่ย่านประชาชื่น คือสิ่งที่สร้างความประทับใจเป็นอย่างแรกให้ผู้มาเยือนมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ที่ซึ่ง Forbes Thailand นัดหมายกับ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ หลานของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย ที่สั่งสมประสบการณ์การสอนและการบริหารมาแล้วเกือบ 20 ปี ก่อนจะก้าวสู่ตำแหน่งอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
“ผู้ที่เข้ามาทำงานด้านการศึกษาคือผู้ที่มีอุดมการณ์ เพราะสมัยนั้นการทำธุรกิจจะเป็นเรื่องการค้าขายมากกว่าจะมาทำด้านการศึกษา” ดร.ดาริกาเล่าย้อนถึงสมัยที่ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ อดีตกรรมการหอการค้าไทย และอาจารย์สนั่น เกตุทัต ผู้เป็นพี่เขยของ ดร.ไสว และเป็นตาของ ดร.ดาริกา ที่ขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์ ร่วมกันก่อตั้ง มธบ.ขึ้นในปี 2511 สายเลือดนักการศึกษาส่งต่อมายังรุ่นสู่รุ่น จากอาจารย์สนั่นสู่อาจารย์สมศรีซึ่งเป็นลูกสาว ที่ต่อมาแต่งงานกับ ดำรง ลัทธพิพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทั่งปัจจุบัน ดร.ดาริกา คือผู้รับไม้ต่อในการสร้างบุคลากรเป็นฟันเฟืองของสังคม “เรื่องการศึกษาคือประเด็นหลักที่พวกเราในครอบครัวพูดคุยกันมาตั้งแต่เด็ก และเขาก็ฝากฝังมาตลอดให้กลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัย” ดร.ดาริกาเล่า ถึงจะถูกวางตัวให้เข้ามาช่วยดูแลธุรกิจการศึกษา ทว่าเธอกลับเลือกเรียนด้าน Chemistry with Management ที่ Imperial College , University of London ตามความชอบที่มีในสายวิทยาศาสตร์ และจบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยม จากนั้นไม่นานก็เรียนต่อ MBA ในสถาบันเดิม ก่อนจะกลับมาทำงานที่ มธบ.ในปี 2542 เมื่อครั้งหญิงสาววัย 27 ปี เริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งอาจารย์ รับผิดชอบวิชาภาษาอังกฤษและวิชาการเงิน "ความรู้สึกวันแรกที่สอนคือกลัวมาก...ไม่มั่นใจเลย ต้องทำการบ้านเยอะมาก” อธิการบดีหญิงเล่ากลั้วหัวเราะ อีกหลายปีถัดมา ก็เข้าไปเรียนรู้สายงานบริหารในสำนักอธิการบดี ดูแลด้านการเงินและ IT เป็นหลัก และเข้าไปเป็นที่ปรึกษาชมรมคอรัสซึ่งเป็นสิ่งที่เธอชื่นชอบมาตั้งแต่ 5 ขวบ เป็นการทำความคุ้นเคยกับสำนักกิจกรรมนักศึกษาไปด้วยในตัว ควบคู่ไปกับหน้าที่การงานที่ก้าวหน้า เธอก็เรียนต่อปริญญาโทและเอกด้าน IT ที่ University of New South Wales ประเทศออสเตรเลีย ท่ามกลางการแข่งขันอันเข้มข้นของมหาวิทยาลัยภาครัฐและเอกชน ที่สังคมคาดหวังให้ทำหน้าที่ผลิตบุคลากรคุณภาพมาขับเคลื่อนประเทศ กลยุทธ์ที่อธิการบดีมุ่งหมายจะให้ มธบ.เดินหน้าต่อจากนี้ เพื่อรักษาตำแหน่งหนึ่งในผู้นำมหาวิทยาลัยเอกชนอันดับต้นของไทย มีทั้งการใส่ความเป็นผู้ประกอบการเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนทุกคณะ ให้ผู้เรียนคิดและวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจอย่างรอบด้าน และในอนาคตจะเน้น “professional development” สร้างคนทำงานมืออาชีพป้อนองค์กร ตั้งเป้าจะปักธงในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในอีก 10 ปีข้างหน้า อาทิ ด้านสุขภาพ ธุรกิจการบิน ธุรกิจการท่องเที่ยวหรู เป็นต้น การสื่อสารภาษาจีน เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่ มธบ.ต้องการสร้างฐานให้แข็งแกร่ง จึงก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติจีนขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2552 เจาะตลาดจีนซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก และมีบทบาทสำคัญในกลุ่มประเทศ CLMV เปิดรับนักศึกษาจีนที่มีกำลังจ่ายและต้องการเรียนในเมืองไทย เน้นการเรียนการสอนภาษาจีนเป็นหลัก โดยอาจารย์เกือบ 100 คนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีน ที่นี่มีหลักสูตรเน้นด้านบริหารธุรกิจ การเงิน การท่องเที่ยว นิเทศศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ สร้างความเข้มแข็งด้วยการเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยจีน คือ Kunming University of Science and Technology และลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับอีกหลายแห่งเพื่อสร้างเครือข่าย แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาแห่งอื่น ที่โดยมากเป็นหลักสูตรภาษาจีนที่เปิดรับนักศึกษาไทย ค่าเล่าเรียนแต่ละภาคการศึกษาของวิทยาลัยนานาชาติจีนสูงกว่านักศึกษาไทยหลักสูตรปกติราว 3 เท่า (ตัวเลขที่พอจะเทียบเคียงได้ ปรากฏในเว็บไซต์ มธบ. ที่ระบุว่านักศึกษาชั้นปี 1 ภาคปกติ ปีการศึกษา 2559 มีค่าเล่าเรียนภาคการศึกษาละราว 27,750 – 42,850 บาท) ปัจจุบัน มีนักศึกษาจีนในวิทยาลัยจีนประมาณ 1,600 คน สร้างรายได้เป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของ มธบ. “ขณะนี้เราเป็นผู้นำในตลาดดังกล่าว มองจากสายตาคนจีนแล้วเราก็เป็นเบอร์หนึ่ง มีคนเคยถามว่าอยากไปเปิดต่างจังหวัดไหม แต่เราไม่อยากไปกว้างขนาดนั้น ขอสร้างที่นี่ให้มั่นคงยิ่งขึ้นดีกว่า” ดร.ดาริกาบอก เมื่อทำธุรกิจด้านการศึกษา จึงเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องถามถึงตัวเลขการลงทุน ซึ่ง ดร.ดาริกาเล่าว่า ดร.ไสวและอาจารย์สนั่น นำกำไรทุกบาททุกสตางค์ที่ได้จากมหาวิทยาลัยมาตั้งกองทุนให้ทายาทรุ่นต่อไปได้ใช้ประโยชน์ในการสร้าง มธบ.ให้ก้าวหน้า ดังนั้นจึงไม่ต้องอาศัยรายได้จากการดำเนินการเป็นตัวหลัก บางปีที่ผลดำเนินการไม่ดีแต่ต้องลงทุนเพิ่ม จึงไม่ได้เป็นภาระของครอบครัวมากนัก แต่ถึงที่สุดแล้วก็ต้องบริหารให้มหาวิทยาลัยยืนได้เอง เพราะหากใช้เงินกองทุนไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็อาจหมด ปัจจุบัน มธบ.ตั้งงบบริหารจัดการไว้ราวพันล้านบาทต่อปี ไม่นับการลงทุนเพิ่มเช่นโครงการโรงเรียนนานาชาติย่านกรุงเทพกรีฑา ซึ่ง ดร.ดาริกา ยังไม่สามารถให้รายละเอียด เพราะต้องให้ขั้นตอนการพูดคุยเสร็จสิ้นเสียก่อน ส่วนรายได้รวมของ มธบ.ในแต่ละปี อธิการบดีไม่ขอเปิดเผย แต่กล่าวว่าระยะหลังมานี้ ภาพรวมมหาวิทยาลัยเอกชนมีนักศึกษาไทยลดลง 4-5% เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยของรัฐมากขึ้น มธบ.จึงต้องมีตลาดจีนมาสนับสนุน อย่างไรก็ตามขณะนี้จะรุกตลาดไทยให้มากกว่าเดิม ภาพ : ชัยสิทธิ์ จุนเจือดีคลิ๊กอ่าน "ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ “ไม้ 3” ธุรกิจบัณฑิตย์" ฉบับเต็มได้ที่ Forbes Thailand ฉบับ APRIL 2016 ในรูปแบบ E-Magazine