การตัดขายพื้นที่โรงแรมปาร์คนายเลิศออกไปบางส่วน เมื่อปี 2559 ด้วยมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ถูกกล่าวถึงต่อเนื่องมาหลายปี แม้ผู้สืบทอดกิจการของตระกูลฯ จะยืนยันหนักแน่นว่า ที่ดินและสิ่งก่อสร้างอันเป็นคุณค่าหลักของปาร์คนายเลิศยังคงเดิม วันนี้วิชันและเป้าหมายนั้นเริ่มเห็นภาพชัดเจนในยุคของ ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร
สวนขนาดกลางเป็นพื้นที่หลักของที่ดิน 20 ไร่ ที่เรียงรายด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่นับร้อยต้นเขียวครึ้มให้ร่มเงาทั่วบริเวณบางต้นอายุกว่า 100 ปี เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นตามชื่อ “ปาร์คนายเลิศ” ที่ดินผืนใหญ่บนทำเลทองระหว่าง ถ. วิทยุ ถึง ซ. สมคิด เชื่อมต่อทำเลเพลินจิตและชิดลมเป็นสวนที่ถูกรังสรรค์ต่อเนื่องมาตั้งแต่รุ่นบุกเบิกกว่า 100 ปีก่อน จากต้นสกุล นายเลิศ เศรษฐบุตร วันนี้ยังคงเอกลักษณ์อันร่มรื่นท่ามกลางตึกสูงที่รายรอบ ซึ่งเจ้าของยืนยันว่าจะคงสภาพสวนแห่งนี้ได้ดังเดิม แม้จะมีการพัฒนาใหม่ในพื้นที่แต่สวนนายเลิศจะยังเป็นองค์ประกอบหลักที่โดดเด่นและเป็นหนึ่งเดียว แม้ว่ามูลค่าที่ดินทำเลนี้จะสูงกว่าทองคำหลายเท่า หากเทียบจากราคาประมูลขายที่ดินสถานทูตอังกฤษแปลงที่ 2 (ที่อยู่ใกล้กัน) เมื่อปี 2561 ซื้อขายที่ตารางวาละ 2 ล้านบาท พื้นที่ 20 ไร่ของปาร์คนายเลิศที่ยังครอบครองโดยเจ้าของเดิมแปลงนี้ย่อมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท (เมื่อปี 2561) นี่เฉพาะค่าที่ดินยังไม่รวมสิ่งก่อสร้าง โดยเฉพาะเรือนไม้สักขนาดใหญ่ พิพิธภัณฑ์บ้านปาร์คนายเลิศ อายุกว่า 105 ปี (สร้างปี 2458) และเครื่องใช้โบราณที่ประเมินค่าไม่ได้ ไม่น่าแปลกใจที่แม้จะมีแผนพัฒนาโครงการในพื้นที่ แต่เจ้าของยังคงยืนยันจะรักษาคุณค่าความเป็น “ปาร์คนายเลิศ” ไว้ดังเดิม “มันเริ่มจากเราอยากพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้ตอบสนองตามที่คุณยาย (ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ) พูดไว้ว่า อยากให้ปาร์คนายเลิศเป็นไลฟ์สไตล์ที่ complete มีที่กิน-ที่อยู่-หลับนอนให้ครบวงจร แต่ตอนนี้เรามีไม่ครบ กินมาแล้ว แต่นอนกับอยู่ยังไม่มา เล็กเลยอยากทำพื้นที่ตรงนี้ให้ครบอยากให้ ecosystem มัน complete กิน-อยู่-หลับนอน ตามที่คุณยายเคยพูดไว้” น้องเล็ก-ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายเลิศกรุ๊ป ตอบคำถามทีมงาน Forbes Thailand ถึงแผนพัฒนาโครงการโรงแรมและเรสซิเดนซ์ล่าสุดในชื่อ “อมัน นายเลิศ กรุงเทพฯ” (Aman Nai Lert Bangkok) บนที่ดินผืนงามแห่งนี้ พัฒนา 3 โครงการเฉียดหมื่นล้าน โครงการอมัน นายเลิศ กรุงเทพฯ เป็นโครงการลงทุนของปาร์คนายเลิศ โดยมีกลุ่มอมัน (Aman) เข้ามาเป็นเชนบริหารทั้งส่วนของโรงแรมและเรสซิเดนซ์ ในสัญญา 30 ปี ซึ่งเปิดตัวผ่านสื่อต่างๆ ไปเมื่อเดือนกันยายน 2563 ณพาภรณ์ ทายาทสาวเจเนอเรชั่น 4 ของบ้าน “นายเลิศ” ผู้บริหารหลักกิจการนายเลิศกรุ๊ปในไทยเล่าว่า นั่นเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากเริ่ม presale มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ด้วยสัญญาแบบ leasehold หรือเช่าระยะยาว 30 ต่อ 30 ปี ในราคา สูงสุด 800,000 บาทต่อตารางเมตร สำหรับเรสซิเดนซ์ที่ชื่อว่า “อมัน นายเลิศ เรสซิเดนเซส กรุงเทพฯ” (Aman Nai Lert Residences Bangkok) เรสซิเดนซ์หรูบนอาคาร 36 ช้นั จำานวน 42 ยูนิต ที่สร้างบนพื้นที่กว่า 3 ไร่ บริเวณมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือของแปลงที่ดิน (ติดกับ ซ. สมคิด) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566 “โครงการอมัน นายเลิศฯ เราลงทุนไปกว่า 6 พันล้านบาท” ณพาภรณ์เผยและว่านี่เป็น 1 ใน 3 โครงการที่อยู่ในแผนพัฒนา2-3 ปีข้างหน้า นอกจากโครงการอมัน นายเลิศฯ แล้ว เธอยังเตรียมพัฒนาอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ความสูง 30 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 20,000 ตารางเมตร “นายเลิศทาวเวอร์” บนพื้นที่ 10 ไร่ ริม ถ. สุขุมวิท ซ. สุขุมวิท 62/1 โครงการนี้มูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท และอีกโครงการคือ แผนพัฒนาที่ดินริมหาดหัวหินเนื้อที่ 7 ไร่ ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งบ้านพักตากอากาศของครอบครัว ขึ้นเป็นรีสอร์ต “นายเลิศ บีชวิลล่าส์” โดยอยู่ระหว่างการออกแบบ นั่นหมายความว่าก้าวย่างสำคัญของทายาทสาววัย 40 ของปาร์คนายเลิศคือ การเป็นนักพัฒนาที่ดินเช่นเดียวกัน แต่จะเพิ่มคุณค่าความทันสมัยด้วยความพร้อมจากประสบการณ์และที่ดินหลายแปลงของครอบครัวมีศักยภาพเหมาะสม เริ่มต้นไม่นานได้เห็นการตอบรับค่อนข้างดี “เราแค่เชิญเน็ตเวิร์กของอมันและของเราเองมาชมพื้นที่จริงตรงนี้ แค่บอกเล่าให้เพื่อนๆ เข้ามาชมโครงการ คนที่เข้ามาก็รู้สึกดี แฮปปี้ เรามีพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุงที่อื่นไม่มีแบบนี้อีกแล้ว ตรงนี้เป็นปอดของกรุงเทพฯ ดีใจที่คนเห็นคุณค่าตรงนี้ เรามีแค่ 42 ยูนิตเท่านั้น ขายเป็น leasehold เป็นโครงการที่ exclusive มากๆ คนที่สนใจตรงนี้เขารู้ว่าเขาอยากได้อะไรในชีวิต พูดตรงๆ เล็กไม่ต้องพูดมากเลย พอเขามาดูตรงนี้แล้วอืม...เอา” เธอเล่าพร้อมเสียงหัวเราะก่อนจะบอกว่า “โชคดีค่ะที่ว่าเล็กมาต่อยอดตรงนี้ของครอบครัว เขาสร้างให้เล็กไว้เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว เล็กมาต่อยอด คงสภาพและเก็บสิ่งที่ปู่ย่าตายายทำเอาไว้พัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ” เดินหน้าขยาย 4 กลุ่มธุรกิจ ภายใต้ความสดใสของสุภาพสตรีร่างเล็กสมชื่อ “น้องเล็ก” เต็มไปด้วยความมั่นใจและบุคลิกผู้นำ เธอยอมรับว่า ตัวเองเปลี่ยนไปมากเมื่อเทียบกับช่วงที่กลับมาเมืองไทยใหม่ๆ ตอนนั้นด้วยวัยที่เพิ่งเรียนจบ ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์เรียกให้เธอกลับมาทำงานเธอก็กลับมาแต่ยังไม่ทำงาน “ตอนนั้นยังเที่ยวอยู่ ปาร์ตี้ทุกวัน” เธอเล่าพร้อมรอยยิ้มสดใสตามสไตล์สปอร์ตเกิร์ลที่กระฉับกระเฉง ชัดเจน และมั่นใจ เธอย้อนอดีตความเป็น “น้องเล็ก” เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนว่า “ปาร์ตี้เป็นหลัก ใช้ชีวิตอย่างนั้นอยู่ประมาณ 8 ปี ตัวมาโรงแรมมาทานข้าวกับคุณยาย มาคลุกคลีเดินเล่นในโรงแรมไม่ได้มาทำงานหรอก ไม่ได้ manage อะไร เพราะเรายังติดเที่ยวอยู่ตอนนั้นอายุ 22 พอเที่ยวจนเบื่อมาเริ่มทำงานจริงจังในช่วงอายุ 28-29” พอเธอเริ่มต้นทำงานครอบครัวก็จัดให้เธอเรียนรู้งานทุกอย่าง “ตอนนั้นมาเป็นลูกน้องป้าเป๊ก (พิไลพรรณ สมบัติศิริ) ป้าเป๊กให้เริ่มตั้งแต่แม่บ้าน ไปดูแผนกแม่บ้าน ยูนิฟอร์มซักรีด ดูตั้งแต่ bottom up ดู purchasing, marketing และ PR วนอยู่หลายแผนกจนครบ loop” นั่นคือประสบการณ์เริ่มแรกในธุรกิจ hospitality โรงแรมปาร์คนายเลิศของณพาภรณ์ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดรับผิดชอบดูแลธุรกิจของนายเลิศกรุ๊ปในไทยทั้งหมด ความเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งมาพร้อมความรับผิดชอบ แต่อีกส่วนคือ เปลี่ยนโดยความตั้งใจและสนุกกับการทำงาน เต็มที่กับสิ่งที่ทำเหมือนเรื่องการใช้ชีวิต ที่เธอมักพูดเสมอว่า การใช้ชีวิตต้องบาลานซ์ระหว่างการทำงาน ความชอบ และชีวิตส่วนตัว “เล็กสนุกและชอบ รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนแต่ก็ยังเป็นคนเดิมนี่แหละ เปลี่ยนด้วยวัย ด้วยประสบการณ์ อะไรที่เล็กเอาสิ่งต่างๆ ยุคก่อนมาผสมผสานกรองให้อยู่ยุคนี้มันทำให้ตัวเล็กเปลี่ยน แต่ก่อนเล็กอาจจะเป็นเด็กและอาจคิดว่าตัวเองเจ๋งมาก กลับมาอยากเปลี่ยนทุกอย่าง อยากเปลี่ยนคนอื่น แต่มันไม่ใช่โลกความจริง” เธออธิบายจากประสบการณ์จริงโดยยอมรับว่า “การเปลี่ยนคนอื่นมันยาก เราก็เลยกลับมาเปลี่ยนที่ตัวเอง พอเรา unlock ตรงนี้ได้แล้วมันก็สนุก แล้วเราก็ชัดเจนว่าอยากทำอะไรให้ที่นี่ เลยไม่เที่ยว มาทำงานก็เป็นซีอีโอที่รับฟังคนมาก ไม่ใช่ one-man show” ณพาภรณ์เลิกเที่ยวหันมาทำงานจริงจังตอนอายุ 32 หลังจากเริ่มต้นทำงานเต็มตัวครั้งแรกเธอยังไม่รู้ว่าชอบอะไร และยอมรับว่า blank ไป 2 ปี วันนี้น้องเล็ก-ณพาภรณ์คือ ผู้บริหารหลักนายเลิศกรุ๊ป เป็นทายาทรุ่น 4 ของครอบครัวที่จะนำพาแบรนด์ “นายเลิศ” ให้ก้าวต่อไปข้างหน้าภายใต้ 4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ real estate, hospitality, cultural management และ education “ตอนนี้เล็กกำลัง focus ไปที่การศึกษา อยากสร้างคนให้มีคุณภาพมีความรู้ อยากเสริมทักษะการบริการไม่ได้อิงโรงแรมจ๋า แต่อยากเสริมด้านบริการที่พรีเมียม” แม้จะบอกว่าเป็นธุรกิจการศึกษา แต่เนื้อแท้ก็ยังคงอยู่ในธุรกิจบริการ นั่นคือสถาบันสอนการบริการระดับพรีเมียม “นายเลิศบัตเลอร์” (Nai Lert Butler) ซึ่งจัดอบรมไปแล้ว 2 รุ่น “เราไม่ได้สอนว่า เสิร์ฟอย่างไร แต่จะสอนว่าต้องนั่งอย่างไร พรีเซนต์อย่างไรให้ตัวเองดู proud กับตัวเอง ก่อนที่จะมาบริการให้คนอื่น” เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่นายเลิศบัตเลอร์ร่วมกับสถาบันบริติชบัตเลอร์สหราชอาณาจักร ซึ่งฝึกอบรมการบริการแบบ luxury service “เล็กเห็นว่าเมืองไทยธุรกิจพรีเมียม ไฮเอนด์ต่างๆ เปิดมาเยอะมาก โรงแรม 5 ดาว ห้องอาหารหรูหราแบงก์อยากมี concierge มี PA ส่วนตัว โรงหนังก็อยากให้หรูหรา ทุกอย่างหรูหมด เล็กก็เลยอยากจะเสิร์ฟ software คือ คน อยากให้คนมีคุณภาพพร้อมกับโปรดักต์เหล่านี้” สถาบันนี้เปิดมาได้ 2 ปีแล้ว จัดอบรมไป 4 รุ่น graduate ไป 126 คน รับรุ่นละไม่เกิน 40 คน ใช้เวลา 5 วันในการอบรมเพื่อเตรียมความพร้อม พัฒนาบุคลิกภาพบริการ และมาตรฐานที่เป็นสากลจากสถาบันบริติชบัตเลอร์ของอังกฤษ แต่เป็นการผสมผสานกับบริการที่ละเมียดละไมแบบไทย เรียกว่า ผนวกความเป็นสากลและไทยสไตล์ไว้ในบริการระดับพรีเมียมให้ลงตัว และได้มาตรฐานแบบเวิลด์คลาส ก่อนจบการพูดคุยในวันนั้น ณพาภรณ์สรุปทิ้งท้ายว่า “เล็กค่อนข้างชัดเจนว่าอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร และเพราะอะไร การที่เล็กมาอยู่ตรงนี้คุณแม่ให้ตำแหน่งเป็นซีอีโอของกรุ๊ปแล้ว เล็กอยากจะทำให้ปาร์คนายเลิศอยู่คู่ประเทศต่อไปอีกหลายๆ เจเนอเรชั่นแบบมีคุณภาพ” เธอบอกว่า ไม่อยากที่จะอยู่ไปเรื่อยๆ แบบไม่มีคุณภาพ อยากอยู่แบบมีเหตุผลและมีคุณค่า “เล็กอยากให้นายเลิศเป็นแบรนด์ที่ทั่วโลกสัมผัสแล้ว เออ...เป็นแบรนด์ที่เจ๋งที่ดีก็เลยชัดเจน และสิ่งที่เล็กทำทุกอย่างไม่ว่าที่ร้านอาหารมา เมซอง หรือสร้างโปรเจ็กต์อมันนายเลิศฯ 6 พันล้าน เล็กให้ความสำคัญเท่ากัน” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร และ นายเลิศกรุ๊ปคลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนมกราคม 2564 ในรูปแบบ e-magazine