จอมทรัพย์ โลจายะ คว้าโอกาสหมื่นล้าน “พลังงานทดแทน” - Forbes Thailand

จอมทรัพย์ โลจายะ คว้าโอกาสหมื่นล้าน “พลังงานทดแทน”

หลายคนที่ทำธุรกิจแล้วประสบภาวะขาดทุน ด้วยการแข่งขันสูงหรือตลาดชะลอตัวก็ตาม หากวันหนึ่งธุรกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งก็คงเพลิดเพลินกับโอกาสรอบใหม่แต่กับ จอมทรัพย์ โลจายะ นักธุรกิจไทยผู้เติบโตต่างแดนกลับมองว่า เขาต้องรีบขายกิจการออกไปแล้วหันไปจับธุรกิจใหม่ที่มีรายได้มั่นคงกว่า

จอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น เจ้าของบริษัทพลังงานน้องใหม่มาแรงคือ นักธุรกิจผู้เติบโตในต่างแดนรายนั้น เขาใช้ชีวิตวัยเด็กที่ Los Angeles สหรัฐอเมริกา อยู่ต่างประเทศ 21 ปีก่อนจะกลับมาเริ่มต้นธุรกิจในไทย การลงทุนครั้งแรกของเขาไม่ถึงกับผิดพลาด เพราะขณะนั้นวัสดุ “อิฐมวลเบา” กำลังมาแรงและมีคู่แข่งในตลาดน้อย แต่ทว่าหลังจากเขาลงทุนไปเพียง 2 ปี มีผู้เห็นโอกาสเหมือนเขาและเข้ามาสู่ธุรกิจนี้มากเกินไปจนเกิดสงครามราคาเพราะสินค้าล้นตลาด ทำให้ บมจ. ซุปเปอร์บล๊อก กิจการที่เขาลงทุนครั้งแรกประสบภาวะขาดทุนยาวนานต่อเนื่องถึง 8 ปี การลงทุนในซุปเปอร์บล๊อกเริ่มต้นในปี 2547 ด้วยเม็ดเงิน 200 ล้านบาท “ตอนนั้นมองว่าวัสดุน่าจะดี เศรษฐกิจเริ่มฟื้น เราเข้าไปซื้อ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จากบริษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ซึ่งตอนนั้นซุปเปอร์บล๊อกมีหนี้อยู่ 500 กว่าล้านบาทเราซื้อหุ้นไป 200 ล้านบาท แล้วไปปรับโครงสร้างหนี้ ตัดดอกเบี้ยค้างชำระ ยอดหนี้เหลือ 300 ล้านบาท เคลียร์หนี้อยู่ 3 เดือน” จอมทรัพย์ย้อนอดีตการลงทุนครั้งแรกของเขากับทีมงาน Forbes Thailand “พอเราขยายคู่แข่งก็ขยายเหมือนกันช่วงนั้นเศรษฐกิจ pick up นโยบาย work หมด วันนั้นคนจะสั่งของต้องรอ 6 เดือนและต้องจ่ายเงินเราก่อน” แต่ช่วงเวลาที่หอมหวานมันสั้นเกินคาด เพราะในปี 2549 ตลาดอิฐมวลเบาจากที่เคยมีเพียง 2 แบรนด์คือ “ซุปเปอร์บล๊อก” ของเขา และ “คิวคอน” ของ บมจ. ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ ในกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ กลับมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มอีก 2-3 ราย ทำให้กำลังการผลิตอิฐมวลเบาล้นตลาด จากเดิมที่ 2 รายมีกำลังการผลิตรวมกันที่ 7 ล้านตารางเมตร ซึ่งมากอยู่แล้วเพราะความต้องการของตลาดน่าจะอยู่ที่ 4 ล้านตารางเมตรเท่านั้น ทำให้เกิดสงครามราคา จากที่เคยขายได้ 240 บาทต่อตารางเมตร มีกำไรราว 20% ราคาตกต่ำกว่า 110 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 130 บาทต่อตารางเมตร ซุปเปอร์บล๊อกจึงประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่อง  

พลิกวิกฤตมองหาโอกาสใหม่

“ผมสู้กับซุปเปอร์บล๊อกที่ขาดทุนอยู่ 8 ปี โชคดีเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โรงงานของคู่แข่ง น้ำท่วมไป 3 โรง กำลังการผลิตหายไป 3 ส่วน แต่ซุปเปอร์บล๊อกยังผลิตได้เต็ม ซัพพลายหายไปราคากลับมาเท่าปีแรกๆ แต่ผมมองแล้วอนาคตต้องกลับมาแข่งขันดุเดือดอีก เมื่อคู่แข่งปรับปรุงโรงงานเสร็จ” เขาเผยมุมมองก่อนที่จะตัดสินใจขายโรงงาน เมื่อคู่แข่งได้พาร์ตเนอร์ใหญ่เครือซิเมนต์ไทยเข้ามาร่วมทุน “ผมประเมินแล้วอย่างไรเราก็สู้ไม่ได้ จึงตัดสินใจขายโรงงาน ก็เลือกขายให้กับคนที่ใหญ่พอๆ กันคือ ปูนนก หรือปูนกลาง” ซึ่งในวันนี้ได้เปลี่ยนเป็น อินทรีซุปเปอร์บล๊อก ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง ซึ่งเขามองว่ามีกำลังเพียงพอที่จะรับมือกับคู่แข่งได้ “เกมเปลี่ยน” จอมทรัพย์อธิบายเพียงสั้นๆ ถึงสิ่งที่เขาคิดขณะนั้นคือในปี 2556 ที่ตัดสินใจขายโรงงาน ได้เงินเข้ามาในปี 2557 “เรามองโอกาส เรียนรู้สิ่งที่ทำมา ตอนทำอฐิมวลเบาผมอายุ 32-33 ทำมาก็เริ่มเรียนรู้ว่าทุกอย่างมีความสำคัญในแง่ธุรกิจต้องดูให้ครบภาพ ก็คิดว่าเงิน 200 กว่าล้านบาท เราอยากทำธุรกิจที่ไม่ต้องมีการแข่งขันในด้านราคา” เพราะถ้าไปแข่งราคาเจอยักษ์ใหญ่ก็สู้ไม่ได้ “เราอยากทำธุรกิจที่ไม่มีปัญหาแรงงาน” เพราะตอนนั้นแรงงานเริ่มหายาก และอีกเหตุผล “เราอยากทำธุรกิจที่ไม่มีปัญหาในการเก็บเงิน” เพราะวันนั้นถ้าขายอิฐมวลเบา 8 ก้อนเก็บเงินไม่ได้ก้อนเดียวก็ขาดทุนแล้ว เขาจึงมองหาธุรกิจที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บเงิน คำตอบที่ได้คือ “ธุรกิจสัมปทาน” แต่สัมปทานอะไรล่ะที่ยังพอมีโอกาสเข้าถึงได้ และในที่สุดเขาก็เลือกพลังงานทดแทนเพราะปัจจัยหลักคือ สัญญาเป็นธุรกิจสัญญาคล้ายๆ สัมปทาน การเข้าไปขายไฟให้รัฐไม่ต้องมีการแข่งขันเรื่องราคา ไม่ว่าโรงใหญ่หรือโรงเล็กเมื่อได้สัมปทานแล้วขายราคาเท่ากันหมด แข่งกับตัวเองเท่านั้น “เราอยากทำมาก แต่วันนั้นยังไม่มีการให้ใบอนุญาต ทำสัมปทานต้องมีใบอนุญาตขายไฟ เรามีเงินอยู่ 200 กว่าล้าน เราก็วิ่งไปหาธุรกิจที่เขาหาไฟฟ้าอยู่ คล้ายๆ ตอนที่ทำอิฐมวลเบา เราก็มองไปซื้อโรงไฟฟ้า 3 เมกะวัตต์ ได้โรงเล็กๆ ที่ปราจีนบุรี” ที่โซลาร์ฟาร์มปราจีนบุรีคือ จุดเริ่มต้นของซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี เขาเข้าไปซื้อกิจการโรงไฟฟ้าเล็กๆ แห่งนี้แล้วค่อยๆ เรียนรู้ พร้อมกับมีความคิดว่าอยากขยาย เพราะมองเห็นอนาคตที่สดใสรออยู่ข้างหน้า “จุดนั้นใช้โอกาสที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เราซื้อมาได้แล้วก็เพิ่มทุนและระดมทุน แต่ตอนนั้นยังไม่เปลี่ยนหมวด เพราะยังมีบริษัทเล็กๆ ของเราที่ทำคอมพิวเตอร์รายได้ไฟฟ้ายังไม่แซงธุรกิจเล็กๆ นั้น” วันที่จอมทรัพย์เริ่มต้นธุรกิจพลังงานจึงยังคงดำเนินการในนาม บมจ. ซุปเปอร์บล๊อก ยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บมจ. ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น ชื่อหลักทรัพย์ Super โดยเปลี่ยนชื่อและหมวดธุรกิจในช่วงปี 2560-2561 หลังจากลงทุนในธุรกิจพลังงานไปได้ปีกว่า

ขึ้นเบอร์ 1 การผลิต Solar Energy

“จังหวะมาพอดี รัฐบาลปล่อยโซลาร์ค้างท่อ เราก็วิ่งไปหาคนที่เขามีใบอนุญาตเวลานั้น ขอไปร่วมลงทุนกับเขา จาก 3 เมกะวัตต์ในวันนั้นภายใน 3 ปีเราขยายขึ้นไปเป็น 600-700 เมกะวัตต์” ความหวังบนถนนสายพลังงานของจอมทรัพย์เริ่มมีภาพที่ชัดขึ้น “จากที่เราเป็นอะไรที่เล็กสุดกลายเป็นว่าวันนี้เรามีกำลังการผลิตในแง่พลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (เกือบ 700 เมกะวัตต์)” เขาไม่ลืมเน้นว่าหมายถึงกำลังการผลิตเท่านั้น ส่วนการขายไฟเนื่องจากเขามาทีหลัง รายได้จึงเป็น FIT หรือ feed-in tariff (อัตราซื้อขายไฟฟ้าที่ผู้ผลิตไฟฟ้าได้รับประโยชน์ตอบแทนจากการป้อนไฟฟ้าเข้าระบบ) ไม่ได้เป็น adder หรือกลุ่มผู้ขายไฟฟ้าไว้ในระบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า ซึ่งจะได้ประมาณ +8 บาท +5 บาท “ของเราจะเป็นราคา flat rate 5.66 บาท” เมื่อตั้งหลักมั่นคง จอมทรัพย์ใช้ความได้เปรียบในการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ เดินหน้าแผนระดมทุนรอบใหม่ โดยในปี 2562 เขาได้จัดตั้งกองทุน EIF อินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ หรือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) เป็นกองทุนพื้นฐานพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะนี้เทรดอยู่ในตลาดฯ โดยการดึงการผลิต solar energy จำนวน 118 เมกะวัตต์ จากพอร์ตที่มีอยู่ 700 กว่าเมกะวัตต์ เข้าไปตั้งแยกเป็นกองทุน “ตัวนี้ทำกับหลักทรัพย์บัวหลวงเป็นที่ปรึกษาและเป็นคนดูแล ปีที่แล้วเราก็ขายไปประมาณ 8.6 พันล้านบาท ได้ราคาค่อนข้างดี แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าลง แต่ผู้ถือหน่วยตอนซื้อไอพีโอยังได้ return ที่ 10% แต่ถ้าซื้อตอนนี้จะได้ประมาณ 7% ราคาตอนนี้อยู่ที่ 11 บาท”  

เรือธงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

เขาแจกแจงต่อไปว่า ทุนที่ได้มาแบ่ง 4 พันล้านบาทจ่ายคืนให้กับธนาคารกรุงเทพ ส่วนที่เหลือราว 4.6 พันล้านบาท นำไปลงทุนพลังงานทดแทนที่เวียดนามซึ่งเติบโตด้วยดี เขาบอกว่า ปี 2562 ซุปเปอร์ฯ สามารถจ่ายไฟเพิ่มเติมในเวียดนาม 286.2 เมกะวัตต์ “พูดง่ายๆ เราเอาออกไป 118 เมกะวัตต์ เอาเงินส่วนหนึ่งไปทำ 286 เมกะวัตต์ และใช้หนี้ด้วย ยังมีเงินเหลือไปขยายอีกส่วนวันนี้เรากำลังสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามอีก 550 เมกะวัตต์ จะเสร็จปลายปีนี้และขึ้นไป 700 กว่าเมกะวัตต์ ก็จะได้กำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เป็นเบอร์ 1 ในเวียดนาม” การขยายธุรกิจเป็นไปอย่างก้าวกระโดดภายในเวลา 3 ปี ซุปเปอร์ฯ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ทั้งในไทยและเวียดนาม รายได้จากหลักร้อยก้าวกระโดดขึ้นมาเป็น 7,757 ล้านบาทในปี 2562 และสิ้นปี 2563 คาดว่าจะทำได้ราว 8 พันล้านบาท และขยับเป็น 1 หมื่นล้านบาทในปี 2564 จากนั้นจะเป็น 1.3 หมื่นล้านบาท และจะเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากผลิตเพิ่มตามสัมปทานระยะยาว 20 ปี แต่ในวันนี้มีรายได้หลักของซุปเปอร์ฯ กว่า 80% มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ลงทุนไปจำนวนมากทั้งในไทยและเวียดนาม เขายังคงให้น้ำหนักการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผลตอบแทนจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมจะดีกว่า แต่การเริ่มต้นที่ยากและต้องรอเวลาในการวัดลมอีก 2 ปี อาจทำให้การเติบโตไม่เร็วตามที่ต้องการ “Return จากลมดีกว่าแต่ก็ยากกว่า วันนี้เราทำ wind อยู่ในเวียดนาม 4 โครงการรวม 421 เมกะวัตต์ กำลังสร้างอยู่ยังไม่ได้จ่ายไฟ ในส่วนนี้จะแบ่งเป็น 171 เมกะวัตต์สร้างเข้าไปในทะเลราว 2-3 กิโลเมตร ในทะเลภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งปีหน้าจะจ่ายไฟได้” wind energy ในเวียดนามโครงการนี้เป็นสัมปทาน 20 ปี 171 เมกะวัตต์ในทะเลจะได้ค่าไฟอยู่ที่ 9.8 เซ็นต่อหน่วย “เรากำลังสร้างอีก 250 เมกะวัตต์ ลมเหมือนกันแต่อยู่บนบก จะได้ค่าไฟ 8.5 เซ็นต่อหน่วย” เขายอมรับว่าผลตอบแทนค่าไฟฟ้าในบ้านเรามาก่อน การลงทุนสูงกว่าแต่ค่าไฟก็สูงกว่าเช่นเดียวกัน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเนื่องจากปัจจุบันต้นทุนต่างๆ ปรับตัวลดลง โอกาสในการขยายการผลิตของเขาจึงเพิ่มขึ้น “วันนี้ cost มันลงมาเยอะ การไปลงทุนในเวียดนามขายไฟได้ 9.35 เซ็น ประมาณ 2 บาทกว่า แต่ต้นทุนเราลงมาเยอะมาก เทียบ return เท่าๆ กันอยู่ที่ 13-15% แต่ลมจะสูงกว่า ทำยากกว่า ต้องรอวัดลมอีก 2 ปี” จอมทรัพย์อธิบายก่อนจะเปรียบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ว่าเหมือนการสร้างบ้านเดี่ยว คือสร้าง 4-6 เดือนเสร็จเริ่มมีรายได้ แต่กับโรงไฟฟ้าพลังลมต้องเสียเวลาวัดลมอีก 2 ปี หากคำนวณแล้วลมบอดก็สร้างไม่ได้ “พลังงานลม return ดีกว่าคือราว 20% แต่ก็ยากกว่าและใช้เวลานาน แถมยังเสี่ยงด้วยว่าจะทำได้หรือไม่ได้” เมื่อถามถึงนโยบายของบริษัทในด้านการขยายธุรกิจ เขาเผยว่า บอร์ดบริษัทมองว่าการเติบโตต้องโตไปด้วยกัน วันนี้ซุปเปอร์ฯ เกือบ 1,000 เมกะวัตต์ จ่ายไฟปลายปีนี้ขึ้นไป 1,500 เมกะวัตต์ ปี 2564 เพิ่มขึ้นอีก 421 เมกะวัตต์ จะขึ้นไป 2,000 เมกะวัตต์ “ถ้าเรายังเติบโตอย่างนี้เราอาจผ่องถ่ายออกไป 100 เมกะวัตต์เพื่อระดมทุนเพิ่มขึ้นมา จะได้ไม่ต้องไปเพิ่มทุนเพราะเราไม่มีนโยบายเพิ่มทุน” อย่างไรก็ตาม จอมทรัพย์ย้ำว่า การดำเนินธุรกิจส่วนหนึ่งต้องใช้สินเชื่อ แต่สัดส่วนผู้ถือหุ้นจะขยายไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องเพิ่มทุน “เราเน้นการขายเอากำไรพิเศษมาลงทุนแทน ตัวนี้เป็นกลไกสำคัญสำหรับซุปเปอร์ฯ “ถ้าเราจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมเราไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนเราแค่แบ่งเอาออกไปส่วนเล็กๆ เรื่องนี้ผู้ถือหุ้นสบายใจได้” ก่อนจบการสัมภาษณ์ จอมทรัพย์ยังฝากแง่คิดจากประสบการณ์พลิกธุรกิจของเขาสำหรับใครที่อาจกำลังเผชิญภาวะขาดทุนหรือมองไม่เห็นโอกาสว่า “ทุกอย่างมันมีโอกาส เราแค่ต้องมองให้เห็น ถ้าล้มไม่ต้องกลัว ตอนผมเจ๊งอิฐมวลเบา 8 ปีคิดไม่ออกเลย ทำสมาธิก็ยังไม่มา แต่โชคดีมีวิกฤตน้ำท่วมจึงมีโอกาส วันนี้วิกฤตโควิดทำให้มีเศรษฐีแสนล้านใหม่ทำถุงมือยาง ฉะนั้นทุกคนมีโอกาส แค่ต้องมองและหามันให้เจออย่าท้อ” ภาพ: กิตติเดช เจริญพร 
คลิกอ่านฉบับเต็ม “จอมทรัพย์ โลจายะ คว้าโอกาสหมื่นล้าน “พลังงานทดแทน”” และบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ในรูปแบบ e-magazine