ก้าวต่อไปของโรงพยาบาลหมื่นล้านอายุมากกว่า 3 ทศวรรษ สร้างชื่อในภาพลักษณ์ใหม่ ครอบคลุมทุกมิติความต้องการ พร้อมรุกปักหมุดขยายสาขาตามเส้นทางเชื่อมโยงยังอาเซียน ชูใบเบิกทางสู่บริการทางการแพทย์ระดับพรีเมียมในต่างประเทศ
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) นายแพทย์นักบริหารสามารถเพิ่มพูนทรัพย์สินจาก 460 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว สู่จำนวน 730 ล้านเหรียญ หรือ 2.282 หมื่นล้านบาท ครองอันดับที่ 39 มหาเศรษฐีไทยในปีนี้ จากความมุ่งมั่นและเพียรพยายามของเขาซึ่งเริ่มต้นธุรกิจโรงพยาบาลจากศูนย์ตั้งแต่ยังเป็นอาคารเช่าขนาดเล็กบนถ.เพชรเกษม ที่มีเพียง 50 เตียงในปี 2527
โดยปัจจุบัน นพ.เฉลิม วางตัวทายาท 3 คนมาสืบทอดเจตนารมณ์ ได้แก่ พญ.พรลักษณ์ บุตรสาวคนโตให้ดูแลด้านการแพทย์ กันตพร บุตรชายคนรองรับผิดชอบการบริหารธุรกิจ และ พรสุดา บุตรสาวคนสุดท้ายดูแลด้านการเงินของโรงพยาบาล
โดยเฉพาะคลื่นลูกใหม่ กันตพร หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ทายาทผู้ช่วยแจ้งเกิดแบรนด์ WMC-โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล บนถ.แจ้งวัฒนะ
ปั้น WMC เสิร์ฟดีมานด์เฉพาะ
กันตพร ขุนพลนำทัพด้านการตลาดวัย 31 ปี เข้ามาเริ่มงานกับเครือบางกอก เชน ตั้งแต่ 4 ปีก่อน
“การตลาดของโรงพยาบาลไม่เหมือนกับสิ่งที่เรียนมา เพราะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ต้องขาย แต่เน้นการให้บริการเป็นหลักบนเงื่อนไขของความเจ็บป่วย ซึ่งในช่วงปีแรกผมให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจและฟังผู้บริหารของโรงพยาบาลแต่ละสาขาเป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ก่อนจะเริ่มงานจริงในปีที่ 2 โดยรับโจทย์การเพิ่มยอดขายให้ได้ทุกปี”
สำหรับผลงานสร้างชื่อที่ทำให้เวิลด์เมดิคอลเป็นที่รู้จักจากฝีไม้ลายมือของกันตพร ได้แก่ การริเริ่มโครงการ The best job in Thailand ซึ่งคัดเลือกเจ้าของคลิปความยาวไม่เกิน 1 นาทีที่สามารถอธิบายให้เห็นถึงความเหมาะสมในการรับตำแหน่งผู้สำรวจความสุขของคนไข้ โดยมอบตำแหน่งดังกล่าวพร้อมมอบเงินเดือน 1 ล้านบาทต่อเดือนเป็นเวลา 6 เดือน
“เวลานั้นเวิลด์เมดิคอลเปิดแล้ว 2-3 ปี แต่ยังเป็นที่รู้จักน้อย ส่วนหนึ่งอาจเพราะกลุ่มเป้าหมายตั้งต้นของเราเป็นต่างชาติ แต่ผมเปลี่ยนเข้ามาจับกลุ่มไฮเอนด์ในไทยด้วย ซึ่งวิธีการไม่ควรซ้ำหรืออยู่ในกรอบที่คนอื่นทำ”
กันตพรยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการต่างชาติอีกด้วย โดยทำการตลาดให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะ Key Opinion Leader (KOL) หรือ Key Influencer ที่มีส่วนต่อการตัดสินใจของผู้ใช้บริการ
“เราต้องเข้าใจก่อนว่าลูกค้ามาจากที่ไหนและเขาต้องการผลิตภัณฑ์อะไร เช่น ชาวตะวันออกกลางที่เป็นกลุ่มผู้ใช้บริการหลักของเรามีปัญหาเรื่องกายภาพ เด็กพิเศษ กระดูก เบาหวาน... รองลงมาเป็นกลุ่มจีนที่เน้นความสวยความงาม ส่วนใหญ่ได้รับคำแนะนำจากไกด์หรือบริษัททัวร์ สำหรับกลุ่มออสเตรเลียมักเดินทางเอง การตลาดก็ต่างจากที่อื่น เขาเชื่อรีวิว บล็อกเกอร์ หรือ Key Influencer สุดท้ายเมียนมาใกล้ชิดกับไทยจะเน้นการหาข้อมูลและพร้อมเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ตลอด” กันตพรกล่าวถึงความต้องการที่แตกต่างกันและการให้บริการระดับพรีเมียม ด้วยการให้พื้นที่ทั้งชั้นสำหรับผู้ใช้บริการแต่ละประเทศ
ปัจจุบัน กลุ่มโรงพยาบาลในเครือ BCH ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอลฮอสพิทอล (WMC) เปิดดำเนินการด้วยมาตรฐานโรงพยาบาลระดับนานาชาติเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ให้บริการกลุ่มลูกค้าระดับบนทั้งไทยและต่างประเทศ กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ (KR) ให้บริการกลุ่มลูกค้าระดับกลาง มีจำนวน 7 สาขา กลุ่มโรงพยาบาลการุญเวช (KVR) ยังเป็นกลุ่มที่ให้บริการลูกค้าประกันสังคมเป็นหลัก 3 สาขา
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาบริษัทยังเพิ่มกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (KIH) เพื่อรองรับกลุ่มคนไข้ทั่วไประดับกลางบน (upper mid-tier) ซึ่งเริ่มจากโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ เป็นแห่งแรก และขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV
ด้านกลุ่มผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลทั้งหมดในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มลูกค้าตามโครงการภาครัฐ เช่น โครงการสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่วนกลุ่มลูกค้าเงินสด ประกอบด้วย กลุ่มลูกค้าทั่วไป และกลุ่มคู่สัญญาลูกค้าบริษัทองค์กร และบริษัทประกัน
“เราแบ่งผลิตภัณฑ์ครอบคลุมพีระมิดของตลาดเพื่อกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ แม้เราจะมีผู้ประกันตน 800,000 - 900,000 คน เพื่อให้เป็นรายได้ที่ยั่งยืนและแน่นอน แต่ไม่ใช่รายได้หลัก โดยเราพยายามรักษาสัดส่วนคนไข้เงินสดให้มากกว่าประมาณ 63-65%” นพ.เฉลิมให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ขณะที่การดำเนินธุรกิจในรูปของกลุ่มโรงพยาบาลยังทำให้บริษัทมีความได้เปรียบทางด้านขนาดในการจัดซื้อ เนื่องจากบริษัทมีนโยบายการจัดซื้อผ่านฝ่ายจัดซื้อกลาง ดังนั้น บริษัทจึงมีอำนาจต่อรองทางด้านราคาและเงื่อนไข รวมถึงนโยบายการยืมเครื่องมือทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ โลหิตและส่วนประกอบของโลหิต ระหว่างโรงพยาบาล ซึ่งช่วยให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและลดปัญหาสินค้าหมดอายุ
คว้าโอกาสในต่างแดน
BCH ยังมุ่งเดินหน้าขยายสาขาในประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รามคำแหง ขนาด 139 เตียง ซึ่งจะเปิดดำเนินการได้ในเดือนตุลาคมปีนี้ และสาขาเชียงของ จ.เชียงราย เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง น่าจะเปิดดำเนินการในไตรมาส 4 ปี 2562 รวมถึงสาขาสระแก้ว จำนวน 116 เตียงในช่วงไตรมาสแรกปี 2563 ตลอดจนสาขาปราจีนบุรีขนาด 115 เตียง โดยน่าจะเปิดดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563
“ขณะที่ต่างประเทศยังมีโอกาสอีกมาก หากเราหาพาร์ทเนอร์ให้ดีหรือดีมานด์ที่มากพอ เรายังสามารถขยายตลาดต่างประเทศได้ต่อเนื่อง” กันตพรกล่าว
โดยบริษัทมีการรับจ้างบริหารโรงพยาบาลโดยได้เริ่มต้นลงนามในสัญญาความร่วมมือกับบริษัท COSMOS Hospital Private Limited (COSMOS) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนในประเทศปากีสถาน เพื่อให้คำปรึกษาเชิงการบริหารงานโรงพยาบาล แลกเปลี่ยนแพทย์และส่งต่อคนไข้มาที่ไทย
บริษัทยังเริ่มชิมลางการลงทุนในบริษัท บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล (ลาว) ดำเนินกิจการโรงพยาบาลเอกชนขนาด 250 เตียงในชื่อโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เวียงจันทน์ ซึ่งคาดว่าจะเปิดบริการในปี 2563
นพ.เฉลิมให้เหตุผลเกี่ยวกับการลงทุนในสปป.ลาว ว่า “ลาวเป็นประเทศแรกที่ลงทุน เพราะได้รับการส่งเสริมการลงทุน 7 ปี และมีดีมานด์ในประเทศสูงมาก ขณะที่ยังไม่มีโรงพยาบาลพรีเมียม”
สำหรับหลักในการพิจารณาเลือกประเทศลงทุน ได้แก่ ข้อกฎหมาย สิ่งอำนวยความสะดวก โอกาสและข้อจำกัด โดยส่วนใหญ่แนวทางการขยายธุรกิจยังต่างประเทศจะเน้นการรับจ้างบริหาร เช่น โรงพยาบาลที่เมือง Mandalay เมียนมา นอกจากนี้ยังพิจารณาโอกาสในกัมพูชาและเวียดนาม ซึ่งมีออฟฟิศประสานงานรับคนไข้จากเวียดนามมารักษาในไทย
“เราเชื่อว่าช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า เราจะมีมากกว่า 20 โรง” นพ.เฉลิมกล่าวปิดท้าย
ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี