ศิริพงษ์ รุ่งโรจน์กิติยศ ผู้สร้างตัวเองขึ้นจากเด็กขายของแบกะดินในตลาด มาเป็นมหาเศรษฐีติดทำเนียบ Forbes Billionaires List มองอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สร้างความมั่งคั่งให้เขาในตลอดช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมาใกล้ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ
บนเส้นทางแห่งความสำเร็จที่ขับเคี่ยวมาด้วยสองมือ ศิริพงษ์ รุ่งโรจน์กิติยศ ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) วัย 70 ปี พอใจที่จะเป็น “เศรษฐีเงินสด” ที่ปราศจากหนี้ มากกว่าการขยายขนาดความโหญ่โตของกิจการ
แรงขับเคลื่อนของโลกทุนนิยมชักจูงและผลักดันให้ ศิริพงษ์ หรือ “เฮียเซี้ย” มุมานะ ทำมาหารายได้ตั้งแต่อายุ 16 เริ่มต้นจากการขายหอม กระเทียม พริกไทย และของแบกะดินอื่นๆ ในตลาด
เมื่อถามถึงแรงผลักดันที่ทำให้ประสบความสำเร็จ ศิริพงษ์ตอบแบบตรงๆ ง่ายๆ ตามสไตล์เศรษฐีภูธร “อยากรวย”
ศิริพงษ์ รุ่งโรจน์กิติยศ ผู้ก่อตั้งและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) วัย 70 ปี
ศิริพงษ์ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำมาค้าขายในทันทีที่เขาจบ ม.6 เริ่มจากการช่วยพ่อแม่วิ่งรถเมล์ ขายยางรถบรรทุก และรับหล่อดอกยาง การขายยางรถบรรทุกทำให้เขาได้ตระเวนไปในหลายๆ จังหวัด และมีโอกาสได้รู้จักและสนิทสนมคุ้นเคยกับเจ้าของกิจการในท้องที่ต่างๆ จนสามารถจับช่องทางการทำธุรกิจเป็นนายหน้าขายรถบรรทุกมือสองได้
จากนั้นเขาจึงต่อยอดไปทำธุรกิจหารถกระบะมือสองจากญี่ปุ่นเข้ามาขาย จนทำให้มีเงินล้านแรกได้ตั้งแต่อายุไม่ถึง 20 ปี
โกอินเตอร์
แต่จุดพลิกผันสำคัญในชีวิตของศิริพงษ์คือการก้าวเข้ามาทำธุรกิจค้ารถแทรกเตอร์มือสอง ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เขาต้องการหาซื้อรถไถมาให้ลูกน้องทำไร่มันสำปะหลังเป็นอาชีพเสริม และพบว่ารถไถขาดแคลนหายากถึงขนาดว่ามีเงินก็ยังไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายๆ ศิริพงษ์มองความขาดแคลนนี้เป็นโอกาสและไม่รีรอที่จะตีตั๋วขึ้นเครื่องบินไปหาซื้อรถแทรกเตอร์ถึงประเทศอังกฤษ
และเมื่อเขาเอารถแทรกเตอร์เข้ามาถึงท่าเรือไทยได้สำเร็จ ก็พบว่ามีพ่อค้าจากสระบุรีมารอซื้อรถไถที่เขาหิ้วมาทั้ง 5 คันโดยเสนอให้ส่วนต่างกำไรถึงคันละ 1 หมื่นบาท
ฐานการผลิตของ PCSGH ที่ จ.นครราชสีมา
เมื่อเห็นช่องทางสดใส ศิริพงษ์ตัดสินใจพับแผนการไปเรียนต่อและหันไปมุ่งหน้าทำธุรกิจนำรถแทรกเตอร์มือสองจากต่างประเทศเข้ามาซ่อมแซม ปรับปรุง แล้วนำมาขายต่อในประเทศ ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยใช้ชื่อว่า บริษัท พงษ์ชัยศักดิ์ จำกัด
ความร่ำรวยที่เกิดขึ้นทำให้ศิริพงษ์ยกระดับขึ้นมาเป็นที่รู้จักและตกเป็นเป้าซุบซิบนินทาจากผู้คนในจังหวัดในบางส่วน ซึ่งมองว่าเขาจะต้องล้มละลายในที่สุด เนื่องจากจะไม่สามารถเก็บหนี้จากชาวไร่ชาวนาที่ซื้อรถไถไปจากเขาได้
ศิริพงษ์ยอมรับว่าเขามีหนี้เสียจากการค้ารถแทรกเตอร์มือสองที่ยังเก็บไม่ได้จนถึงวันนี้เป็นจำนวนถึง 20-30 ล้านบาท แต่ส่วนต่างกำไรและเงื่อนไขการมัดจำและผ่อนชำระที่เขาออกแบบไว้อย่างรัดกุม ช่วยปิดประตูขาดทุนให้เขาได้
รูปชิ้นส่วนต่างๆ
นอกจากขายรถแทรกเตอร์เก่าแล้ว พงษ์ชัยศักดิ์ยังทำกำไรจากการขายชิ้นส่วนอะไหล่ของรถแทรกเตอร์ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนตามอายุการใช้งาน อาทิ จานไถนา และ “เฟืองปั๊ม” อันเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์รถไถที่มักจะเสียอยู่บ่อยๆ
“แล้วโชคชะตาชีวิตของผมมันตลกๆ ไปอังกฤษก็ไปเจอคนข้างบ้าน เขาอยู่บริษัท Ford เป็นผู้จัดการ แล้วไปขอเยี่ยมโรงงานเขา เดินเข้าไปถึงมันทำเกียร์ตัวนี้อยู่เลย” ศิริพงษ์กล่าวถึง “เฟืองปั๊ม” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกกันทั่วไปแต่ที่จริงแล้วคือชิ้นส่วนเกียร์และเพลาของเครื่องยนต์รถไถ
ศิริพงษ์มุ่งหน้าศึกษาเรียนรู้วิธีการผลิตเฟืองปั๊มจากผู้จัดการบริษัท Ford จนมีความรู้และความเชี่ยวชาญในระดับหนึ่งซึ่งทำให้เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมที่สำคัญในกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในเวลาต่อมา
ปฐมบท “Detroit” แดนอีสาน
กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สู่การเป็น “Detroit of the East” ของประเทศไทยในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ช่วยพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจไทยพร้อมๆ กับการพัฒนาสร้างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ ด้วยชื่อเสียงและประสบการณ์ที่ศิริพงษ์ได้สั่งสมมาจากธุรกิจการซ่อมแซมและปรับปรุงรถแทรกเตอร์มือสอง ทำให้เขาได้กลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับการเชิญชวนจากภาครัฐให้เข้ามาช่วยบุกเบิกอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไทย
ระบบซอฟต์แวร์ของหุ่นยนต์ที่พัฒนาโดยทีมวิศวกรของ PCSGH
เริ่มจากการผลิตชิ้นส่วนเกียร์ป้อนให้กับผู้ผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์ในประเทศ เช่น คูโบต้า ยันม่าร์ และมิตซูบิชิ ขึ้นมาสู่การผลิตป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ ขยายไลน์ผลิตเครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ระบบบังคับรถ อะลูมิเนียมอัดฉีดขึ้นรูป ฯลฯ
4 ทศวรรษนี้เองที่ศิริพงษ์ได้ขยายอาณาจักรธุรกิจ มีการจัดตั้ง บริษัท SW & Sons จำกัด และธุรกิจอื่นๆ จำนวนมากในโคราช แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อศิริพงษ์ตัดสินจัดตั้ง บริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PCSGH ขึ้นมาเพื่อถือหุ้นในโรงงาน 3 แห่งที่โคราชของเขาและนำ PCSGH เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2557
ประสงค์ อดุลยรัตนนุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PCSGH กล่าวกับ Forbes Thailand ว่า จุดเด่นของ PCSGH คือการมีส่วนต่างกำไร (net profit margin) ในอัตราตัวเลข 2 หลัก ซึ่งสูงกว่าผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์รายอื่นๆ ทั้งไทยและญี่ปุ่น เนื่องจาก PCSGH เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ที่ปกติแล้วบริษัทผู้ผลิตรถยนต์จะทำเอง
PCSGH รายงานผลประกอบการประจำปี 2560 มีรายได้จากการขาย 3.93 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.9% จากปีก่อนหน้า และกำไรสุทธิ 641.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 67.9%
ผู้บริหารบริษัทมองแนวโน้มผลประกอบการในปีนี้มีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศและการขยายธุรกิจไปสู่ EV และสินค้า “non-auto” เช่น การผลิตชิ้นส่วนอะลูมิเนียมขึ้นรูปให้กับ Bernina ผู้ผลิตจักรเย็บผ้า บิ๊กไบค์ และอื่นๆ
The “Small Giant”
ศิริพงษ์กล่าวว่าทิศทางในอนาคตของ PCSGH จะยังคงเน้นการบริหารงานอย่าง conservative โดยไม่เน้นการเติบโตของยอดขาย แต่จะเน้นไปที่กำไร และจะยังคงนโยบายเป็นบริษัทที่ปลอดเงินกู้ แม้กระทั่งการขยายไปสู่ธุรกิจ EV ก็จะทำด้วยความระมัดระวัง
“ณ ขณะนี้ต้องระวัง เทรนด์ของธุรกิจบ้านผมมันกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยน” ศิริพงษ์กล่าว
ทิศทางของ PCSGH ในตอนนี้จึงมุ่งเน้นการแตกแขนงไปสู่ธุรกิจที่ไม่ใช่ยานยนต์หรือ non-auto ให้มากขึ้นจากที่มีอยู่ไม่ถึง 5% ของรายได้รวมในปัจจุบัน
ขณะที่ประสงค์ชี้แจงว่าการเข้าไปสู่ธุรกิจ EV ของ PCSGH จะเน้นไปที่การผลิตชิ้นส่วนที่มั่นใจได้ว่ามีอนาคตแน่ๆ โดยเลือกชิ้นส่วนที่เป็น common parts ในทุกเทคโนโลยี เช่น ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ ส่วนการเข้าไปซื้อ Kuepper ที่ประเทศเยอรมนีนั้นมีจุดประสงค์เพื่อเข้าไป acquire เทคโนโลยีเทอร์โบชาร์จเจอร์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในรถ EV
กำไรจากขาลง
ศิริพงษ์กล่าวอย่างเปิดอกกับ Forbes Thailand ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ที่พัฒนามานานกว่า 4 ทศวรรษก็น่าจะผ่านยุครุ่งโรจน์ไปแล้วเช่นกัน
“ตอนนี้ถ้าถามผมว่าผมคิดอย่างไร ธุรกิจของผมกำลังจะจบครับ นี่มัน 40 ปีแล้ว” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม ศิริพงษ์รีบอธิบายว่ากลุ่มของเขาจะยังคงสามารถยืนหยัดในตลาดยานยนต์ได้อีกนับสิบปีก่อนที่จะสิ้นยุคของเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine)
ในทางตรงข้ามกลุ่มบริษัทของเขายังมีโอกาสที่จะได้รับอานิสงส์จากวงจรขาลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพราะคาดว่าจะมีการโยกย้ายฐานการผลิตจากประเทศอื่นมายังเอเชีย เมื่อตลาดยานยนต์หดตัวเล็กลงจนไม่คุ้มต้นทุนการผลิตในประเทศเหล่านั้น
“รถกระบะจะเป็นรายการสุดท้ายที่จะหายไปจากประเทศไทย และก่อนที่มันจะหายไปมันเป็นโอกาสของเรา” ศิริพงษ์กล่าวสรุป
ภาพ: ชัยสิทธิ์ จุนเจือดี
คลิกอ่านฉบับเต็มของ "ศิริพงษ์ รุ่งโรจน์กิติยศ Self-made Billionaire สูตรรวยยุค "Disrupt" ได้ที่ Forbes Thailand Magazine ฉบับ พฤษภาคม 2561 ในรูปแบบ e-Magazine