การลดก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจสู่ Net Zero - Forbes Thailand

การลดก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจสู่ Net Zero

FORBES THAILAND / ADMIN
22 Jan 2023 | 12:01 PM
READ 4198

ทุกองค์กรมีส่วนช่วยโลกได้ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใดก็ตาม เพียงมีความพยายามในการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเริ่มต้นจากภายในองค์กรแม้จะเทียบเป็นปริมาณไม่มาก แต่ตั้งใจทำจากจุดที่มีความเชี่ยวชาญแล้วต่อยอดออกไปก็สามารถช่วยโลกให้เกิดความยั่งยืนได้


    สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมาจากน้ำมือมนุษย์ใช่หรือไม่ และจะแก้ปัญหาอย่างไร... 

    เพราะก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์นั้น เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากน้ำมือมนุษย์ก็ต้องแก้ด้วยตัวมนุษย์เอง ในปัจจุบันผลกระทบของภาวะโลกร้อนนั้นมีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ทั้งสภาพลมฟ้าอากาศที่เกิดความแปรปรวน ภัยธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้น น้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุที่รุนแรง ภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายในอัตราที่รวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของกระแสน้ำ การไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรอย่างฉับพลัน คลื่นรังสีความร้อนที่ทำให้อากาศร้อนผิดปกติจนมีคนเสียชีวิต รวมไปถึงโรคระบาดชนิดใหม่ๆ หรือโรคระบาดที่เคยหายไปจากโลกนี้แล้วก็กลับมาให้ได้เห็นใหม่ และพาหะนำโรคที่มีเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น 

    ในอนาคตคาดว่าผลกระทบของภาวะโลกร้อนจะรุนแรงมากขึ้นหากไม่เริ่มปรับเปลี่ยน กระแสความกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนกลายเป็นกระแสหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และหลายองค์กร ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศตื่นตัวในการรับมือกับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือ climate change ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น 

    ซึ่งหลายฝ่ายต่างออกมารณรงค์ให้มีการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวพร้อมกำหนดมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยกันลดโลกร้อน สังเกตจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ที่ผ่านมา ที่ภาครัฐและเอกชนในหลายประเทศออกแถลงเจตจำนงและมาตรการบริหารจัดการการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) และเป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero)

    การแก้ไขและควบคุมภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ได้นั้นต้องจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมและลดให้ปริมาณสุทธิเหลือศูนย์เป็นอย่างน้อย 

    ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูอุตสาหกรรมภาคการผลิตพลังงานถือเป็นอีกส่วนที่มีนัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจกโลก เนื่องจากอดีตจนถึงปัจจุบันพลังงานไฟฟ้าของโลกส่วนใหญ่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ทุกประเทศจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ โดยภาครัฐได้มีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ออกมา ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานทดแทน (หรือพลังงานหมุนเวียน)” ให้ได้ร้อยละ 37 ภายในปี 2580 โดยจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาดเหล่านี้ ช่วยลดมลพิษทางอากาศ รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

    ภายใต้ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาลและนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงาน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์จะสำเร็จได้ต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพราะแรงสนับสนุนจากทุกคนก็สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้และก็มีหลายวิธีด้วยกัน 

    ไม่ว่าจะเป็นการลดใช้พลังงาน ลดใช้ถุงพลาสติก ลดการกินอาหารแช่แข็ง ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ การเปลี่ยนมาใช้เป็นหลอดไฟ LED แทน เพราะกินไฟน้อย สว่างมาก ไม่ก่อสารคาร์บอนไดออกไซด์ และลดใช้สิ่งของที่ไม่จำเป็นเพื่อที่จะสร้างขยะให้น้อยลง รวมไปถึงการปลูกต้นไม้ ยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถทำได้เพื่อที่จะช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนนี้ แม้ว่าการที่โลกจะกลับมาสู่สภาวะสมดุลได้จะต้องใช้เวลานานก็ตาม แต่ถ้าเริ่มปรับเปลี่ยนที่ตนเองตั้งแต่วันนี้ก็จะสามารถช่วยชะลอและบรรเทาผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้มีความรุนแรงลดน้อยลงได้



- เริ่มจากวิสัยทัศน์การรักษาทรัพยากร -

    สำหรับองค์กรขนาดเล็กสามารถมีส่วนร่วมช่วยลดโลกร้อนและสภาวะเรือนกระจกได้ ดังเช่นตัวอย่างการดำเนินงานของบริษัทที่มุ่งมั่นและตั้งใจในการดำเนินธุรกิจบนรากฐานสำคัญที่ต้องการมีส่วนทำให้โลกมีทรัพยากรอยู่เพียงพออย่างยั่งยืน โดยเริ่มตั้งแต่การวางวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจ “เราจะส่งมอบคุณค่าของพลังงานหมุนเวียนสู่สังคมโลกอย่างยั่งยืน” 

    เช่น โครงการก่อสร้างและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนขนาดเล็กที่ผ่านมา อาทิ เศษวัสดุทางการเกษตรจากชุมชนรอบข้าง ขยะชุมชนต่างๆ ให้แปลงมาเป็นพลังงาน แล้วกระจายหน่วยผลิตเล็กๆ นี้ออกไป จะทำให้โรงไฟฟ้าอยู่ร่วมกับชุมชน อย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ดูแลซึ่งกันและกัน คนที่เดินเครื่องโรงไฟฟ้าก็คือสมาชิก ลูกหลานของคนท้องถิ่นเป็นหลัก

    ไม่เพียงเท่านั้นนั้นบริษัทยังมุ่งส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังจะเห็นได้จากโมเดลโรงไฟฟ้าขยะของ CV จะใช้เชื้อเพลิงที่เป็น RDF คือ มีการคัดแยกส่วนที่ให้พลังงานออกมาใช้เป็นเชื้อเพลิง เพราะจะทำให้กระบวนการผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงกว่าการเผาขยะแบบรวมๆ ที่ไม่ได้ผ่านการคัดแยกและมุ่งสร้างแนวทางการใช้เชื้อเพลิงหมุนเวียนที่หลากหลายรูปแบบเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานของลูกค้า พร้อมดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ESG คือ โดยเลือกใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกันกับชุมชนในทุกมิติ และมุ่งบริหารจัดการระบบการทำงานภายในอย่างมีธรรมาภิบาล

    นอกจากนี้ ตัวอย่างโครงการที่สามารถช่วยโลกได้แม้จะเป็นองค์กรขนาดเล็ก เช่น โรงไฟฟ้าโคลเวอร์ พิษณุโลกของบริษัท ซึ่งได้รับการรับรองเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (TVER) ด้วยเห็นเป็นการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนให้กับประเทศ คือพลังงานชีวมวลโดยตรง 

    ซึ่งในปี 2565 นี้โรงไฟฟ้าโคลเวอร์ พิษณุโลกของ CV ได้รับการรับรองปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก โครงการ TVER จากองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ช่วยลดลงได้จากการดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลกว่า 3 ปี เป็นจำนวน 68,114 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2eq) (ระยะเวลาการคิดเครดิตของโครงการทั้งสิ้น 7 ปี)

    ขณะเดียวกันบริษัทยังอยู่ระหว่างขอการรับรองโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ที่เข้าเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องตามลำดับต่อมา อาทิ ใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน Renewable Energy Certificate (REC) และล่าสุดได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network) โดยเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคท้องถิ่น/ชุมชน ในการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจกและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ 

    และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเจตนารมณ์ของประชาคมโลกที่ปรากฏในเป้าหมายของความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นต์องค์กรภาพรวมประจำปี 2565 เพื่อที่จะได้ทราบว่าในกระบวนการดำเนินธุรกิจในภาพรวมของสำนักงานใหญ่และโรงไฟฟ้าทุกโรงมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร และนำมาพิจารณาเพื่อตั้งเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ต่อไป



เศรษฐศิริ ศักดิ์สิทธิเสรีกุล

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CV)


อ่านเพิ่มเติม:

>> ศรีชัย-กาญจนา เหลารัตนา การเติบโตครั้งใหม่ของ "POLY"

>> ความผิดพลาดอย่างมหันต์ของ IMF


คลิกอ่านฉบับเต็มและบทความทางด้านธุรกิจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2565 ในรูปแบบ e-magazine