ความเฟื่องฟูในภาวะอันตราย - Forbes Thailand

ความเฟื่องฟูในภาวะอันตราย

ทุกวันนี้การค้าต่างประเทศถูกพูดถึงในทางลบทั้งในสหรัฐฯ และในต่างประเทศ โดยผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันกล่าววิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นนี้อย่างดุเดือด ในขณะที่ฝั่งพรรคเดโมแครตก็เอนเอียงไปในแนวเพิ่มความคุ้มครองทางการค้าแบบที่ฝ่ายสหภาพแรงงานอยากเห็น


    ก่อนหน้านี้อดีตประธานาธิบดี Donald Trump เสนอให้เก็บภาษี 10% จากสินค้าทุกอย่างที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ และให้เก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นไปกว่านั้นอีกกับสินค้าที่ผลิตในประเทศที่ถูกกล่าวหาว่ามีการปั่นค่าเงิน หรือมีการปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม

    อันที่จริงถ้าจะพูดกันอย่างง่ายๆ ตรงไปตรงมา ภาษีนำเข้ามันก็คือ ภาษีจากการขายสินค้านั่นเอง เมื่อไรก็ตามที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าก็หมายความว่า รัฐกำลังเก็บภาษีจากการขายสินค้า ซึ่งการเก็บภาษีนำเข้า 10% จะสร้างภาระให้กับชาวอเมริกันสูงถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว

    คุณจะไม่มีวันได้ยินสิ่งนี้จากปากนักการเมืองหรอก แต่ความจริงก็คือ การค้าต่างประเทศทำให้สหรัฐฯ แข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่อ่อนแอลง แต่โชคไม่ดีที่ท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นของจีนทำให้กลุ่มที่นิยมแนวทางคุ้มครองทางการค้าเกิดความกลัวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้กำหนดนโยบายของสหรัฐฯ และนักการเมืองพากันหลีกเลี่ยงที่จะทำข้อตกลงเพื่อลดกำแพงการค้ากับประเทศและภูมิภาคอื่นๆ

    ในกรณีของสหรัฐฯ และอังกฤษ ทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์มหาศาลจากการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน แต่หลังจากที่มีกระแสคัดค้านดังขึ้นมา ประธานาธิบดี Biden ก็ถอยกรูดทันทีทันควัน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังไม่ได้พยายามเดินหน้าทำข้อตกลงกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะเป็นการลดทอนอำนาจทางเศรษฐกิจที่เติบใหญ่ขึ้นทุกทีของจีนลงไปได้อีกทางหนึ่ง

    ทุกวันนี้มีคนเพียงไม่กี่คนที่จะออกมาปกป้องแนวคิดการค้าเสรี เมื่อเทียบกับคนที่จะออกมาปกป้องเสรีภาพในการพูด ซึ่งหากเราตั้งสติให้ดีจะพบว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงในเรื่องนี้ก็คือ แนวคิดปกป้องทางการค้าที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมโดยไม่ตั้งใจได้ในลักษณะเดียวกับที่เคยเกิดมาแล้วสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

    ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ก็คือ การที่สหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมาย Smoot-Hawley Tariff Act ซึ่งเปิดทางให้มีการขึ้นภาษีสินค้าต่างๆ มากมายจนนำไปสู่สงครามการค้าทั่วโลก และหลังจากนั้นยังดำเนินนโยบายปัญญาอ่อนซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ทรุดหนักยิ่งขึ้นไปอีกด้วยการขึ้นภาษีอย่างหนัก

    ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้พรรคนาซีผงาดขึ้นมาครองอำนาจนำในประเทศเยอรมนี ซึ่งต่อมาก็ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมาในที่สุด ด้วยความหวาดกลัวว่าสถานการณ์เลวร้ายแบบนั้นจะกลับมาเกิดขึ้นอีก หลังจากที่สงครามโลกจบลงแล้ว บรรดาผู้กำหนดนโยบายของฝ่ายสัมพันธมิตรต่างนำพาโลกเสรีเดินไปในแนวทางของการลดภาษีการค้า

    หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ต้องพูดกันให้ชัดเจนก็คือ การค้าระหว่างประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างมหาศาลนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณภาพชีวิตคนทั้งโลกดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งหากไม่มีการค้าระหว่างประเทศ เราทุกคนจะยากจนยิ่งกว่านี้มาก

    ยกตัวอย่างเช่น สิ่งที่ทำให้โทรศัพท์มือถือในยุคแรกพัฒนามาเป็นซูเปอร์คอมพิวเตอร์ขนาดพกพาแบบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ได้ก็คือ สายโซ่อุปทานที่ละเอียดยิบกระจายอยู่ตามประเทศต่างๆ ซึ่งเติบโตขึ้นมาจากการที่อุปสรรคทางการค้าลดลง ดังนั้น จะเห็นได้ว่าข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการค้านั้นไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย

    ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าการขาดดุลการค้าของประเทศไม่เหมือนกับการขาดทุนของบริษัท มันเป็นมาตรวัดที่ไร้ความหมายในการใช้วัดความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจประเทศ และในกรณีของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้สะท้อนถึงกระแสเงินทุนที่ไหลเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งหากมองย้อนไปในหน้าประวัติศาสตร์จะพบว่า แม้แต่ในช่วงที่ประเทศอเมริกาผงาดขึ้นมาเป็นชาติที่ทรงอำนาจที่สุดในโลกก็ยังคงขาดดุลการค้าอยู่เป็นนิจศีล

    สิ่งที่ทำร้ายภาคการผลิตของประเทศหนักที่สุดก็คือ กฎเกณฑ์หยุมหยิมที่ไม่จำเป็นของทางการ ซึ่งในแง่นี้รัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดี Trump ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ประเภทนี้ลงไป และช่วยให้ภาคการผลิตของประเทศดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

    การค้าขายกับประเทศจีนคิดเป็น 11% ของการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งนักการเมืองสหรัฐฯ อาจจะพิจารณาแยกนโยบายการค้ากับจีนออกจากนโยบายการค้ากับประเทศอื่นๆ ในโลกก็ได้ ทั้งนี้การเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศในเอเชียอย่างเกาหลีใต้จะทำให้ประเทศเหล่านั้นยิ่งหันไปพึ่งพิงจีนมากยิ่งขึ้น


ไม่ต้องร้องไห้ให้อาร์เจนตินา

    เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวดีเกี่ยวกับเสรีภาพทางเศรษฐกิจมาจากประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นประเทศที่ชื่อเสียงฉาวโฉ่ในแง่ของนโยบายเศรษฐกิจที่ฟอนเฟะ ทั้งอัตราภาษีที่สูงและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดอย่างหนัก แต่ที่เลวร้ายที่สุดคือ ภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง เมื่อร้อยปีก่อนอาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งมาถึงปัจจุบันได้หล่นไปอยู่อันดับที่ 70 ของประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

    ทั้งนี้การที่ค่าเงินเปโซอ่อนลงในช่วงที่เงินเฟ้อประทุขึ้นมารอบล่าสุดทำให้ชาวอาร์เจนติเนียนตกอยู่ในภาวะยากจนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราอาจจะได้เห็นการพลิกฟื้นในอีกไม่ช้า เพราะจากการเลือกตั้งขั้นต้นสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนสิงหาคม Javier Milei สร้างความประหลาดใจด้วยการได้คะแนนนำคู่แข่งจากพรรคใหญ่อีก 2 ราย ซึ่งจะมีการออกเสียงนัดตัดสินในเดือนตุลาคม

Javier Milei



    แนวทางของ Milei ถือว่าน่าตื่นตาตื่นใจ เขาอยากยุบธนาคารกลางของประเทศอาร์เจนตินา แล้วเปลี่ยนจากการใช้เงินเปโซมาเป็นเหรียญสหรัฐฯ แทน นอกจากนี้ เขายังเสนอให้ปรับลดอัตราภาษีที่สูงเกินเหตุในปัจจุบันลงอย่างมาก และเสนอให้หั่นงบประมาณรัฐบาล พร้อมทั้งเฉือนระบบราชการที่อุ้ยอ้ายของประเทศให้กระชับขึ้น

    ทั้งนี้การผ่าตัดใหญ่ดังกล่าวถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับประเทศที่ล้าหลังในวิถีสู่ความรุ่งเรืองของตลาดเสรีที่มั่นคง ประเทศอาร์เจนตินามีข้อได้เปรียบจากความร่ำรวยของทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่การเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ และประชากรที่มีการศึกษา ดังนั้น จึงแทบไม่มีเหตุผลเลยที่จะทำให้ประเทศนี้ไม่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างโดดเด่น ซึ่งหากอาร์เจนตินาทำได้สำเร็จจะถือเป็นต้นแบบสำหรับทวีปที่ประเทศส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้แนวคิดทางการเมืองแบบซ้ายสุดขอบและรัฐบาลเผด็จการ

    หลังจากทศวรรษที่ 1920 เป็นต้นมาอาร์เจนตินาก็ตกอยู่ภายใต้กระแสของลัทธิชาตินิยมและสังคมนิยมแบบฟาสซิสต์ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ โดยสถาบันต่างๆ ในค่ายเสรีนิยมที่เคยมีก่อนหน้านี้ล้วนถูกทำลายไปหมดแล้ว

    ก่อนหน้านี้ Milei ในวัยหนุ่มก็เคยมีมุมมองแบบนั้นมาก่อน แต่เมื่อเขาพบด้วยตัวเองแล้วว่าผลลัพธ์ของแนวทางนั้นมันเลวร้ายอย่างไร เขาก็เริ่มมองหาทางเลือกอื่นๆ เราอ่านงานเกี่ยวกับตลาดเสรีของนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่างเช่น Ludwig von Mises และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจากประวัติศาสตร์มนุษยชาติว่าทุนนิยมเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการทำลายล้างความยากจน Milei ถึงกับเอาชื่อของนักเศรษฐศาสตร์ในตลาดเสรีอย่าง Milton Friedman ไปตั้งชื่อหมาของเขา

    ถึงแม้จะเป็นคนนอกของแวดวงการเมืองซึ่งเพิ่งได้เป็นสมาชิกสมัยแรกของ Chamber of Deputies ประเทศอาร์เจนตินา แต่ Milei ตัดสินใจที่จะเสนอแนวทางตลาดเสรีแบบก้าวหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเสนอตัวเป็นตัวแทนในนามพรรคเสรีนิยม ซึ่งผู้ออกเสียงเลือกตั้งก็ตอบรับในเชิงบวก

    แน่นอนว่ากลุ่มอำนาจเก่าทางการเมืองย่อมตกใจ เช่นเดียวกับสื่อต่างประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งฉายภาพ Milei เป็นนักปลุกปั่นประเภทขวาสุดขอบ แต่จะว่าไปแล้วผู้ปลุกปั่นตัวจริงคือ พวกผู้นำประเทศอาร์เจนตินาในอดีตที่นำพาประเทศมาจนถึงขอบเหวแบบทุกวันนี้ โดยเฉพาะนายพล Juan Peron ซึ่งเข้ามายึดอำนาจในทศวรรษที่ 1940

    โดย Peron ชื่นชม Benito Mussolini ผู้นำเผด็จการฟาสซิสต์ของอิตาลีอย่างออกหน้าออกตา และเปิดประเทศอาร์เจนตินาเป็นที่รองรับบรรดาพวกนาซีที่ถูกหมายหัวเป็นอาชญากรสงครามหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

    ถ้าหาก Milei ชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ เขาจะได้เปรียบเมื่อต้องเผชิญหน้ากับศัตรูที่น่ากลัวอย่างบรรดาสหภาพที่ทรงพลังในอาร์เจนตินาซึ่งมุ่งมั่นเกาะแน่นอยู่กับวิถีที่ปรักหักพังในอดีต ซึ่งเขาน่าจะชนะเลือกตั้งได้ด้วยกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจน


Photo by Freepik


​​เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : มองโลกแบบ Biden : ทั้งหดหู่และผิดเพี้ยน

คลิกอ่านบทความฉบับเต็มและเรื่องราวธุรกิจอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นิตยสาร Forbes Thailand ฉบับเดือนธันวาคม 2566 ในรูปแบบ e-magazine