ประเด็นความขัดแย้งเชิงเศรษฐกิจระหว่างรัฐบาลใหม่ที่บริหารโดย Trump สมัยที่ 2 ดูเหมือนพร้อมจะขัดแย้งกับธนาคารสหรัฐฯ หรือ Fed ได้ตลอดเวลา หลังจากที่ยึดหลักแนวคิด Phillips Curve เป็นสรณะ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น และกราฟที่ว่านี้ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ถึง 2 จุด
รัฐบาล Trump สมัยที่ 2 พร้อมชนกับ Fed หรือธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งสื่อแทบทุกแขนงต้องเข้าข้าง Jerome Powell ประธาน Fed อย่างไม่ต้องสงสัย และสื่อต่างๆ จะประโคมข่าวว่าการที่รัฐบาลขัดแย้งกับ Fed จะเป็นอันตรายอย่างแสนสาหัสต่อความเป็นอิสระของธนาคารกลาง และจะเป็นเหตุให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในอนาคต
เราอย่าหลงเชื่อเรื่องเหลวไหลพรรค์นี้
ประเด็นความขัดแย้งข้อใหญ่มันไม่ใช่เรื่องความเป็นอิสระของ Fed แต่มันเป็นเรื่องการดำเนินงานของธนาคารกลางต่างหาก ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ มันเป็นเรื่องของแบบจำลองที่ Fed ใช้เป็นฐานในการตัดสินนโยบายการเงินต่างหาก ซึ่งแนวคิดหลักของแบบจำลองที่ Fed ใช้ก็คือ ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจทำให้เกิดเงินเฟ้อ ซึ่งแนวคิดนี้มาจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ชื่อ A.W. Phillips ซึ่งตั้งสมมติฐานว่าระบบเศรษฐกิจจะต้องยอมแลกระหว่างเงินเฟ้อกับการว่างงาน กล่าวคือ ถ้าอยากให้การว่างงานลดลงก็ต้องยอมให้เงินเฟ้อสูงขึ้น และถ้าอยากให้เงินเฟ้อลดลงก็ต้องยอมให้การว่างงานเพิ่มขึ้น
ทั้ง Fed และธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างพากันยึดสิ่งที่เรียกว่า Phillips Curve เป็นสรณะ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น กราฟนี้ผิดและมีจุดอ่อนที่สำคัญมาก 2 ข้อด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงหลายปีมานี้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าค่าครองชีพจะพุ่งขึ้นมาสูงที่สุดในรอบกว่า 40 ปีก็ตาม
ถึงแม้ Fed จะสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ยอมทบทวนความเชื่อหลักของตัวเอง การยอมรับว่าตัวเองใช้ทฤษฎีผิดเป็นสิ่งที่สถาบันไหนๆ ก็ยอมรับได้ยาก ดังนั้น ธนาคารกลางจึงยังทู่ซี้อยู่กับคำสอนแบบผิดๆ ที่ใช้สืบต่อกันมาตลอดต่อไป
โดยจุดอ่อนที่สำคัญข้อแรกคือ Fed ไม่ยอมแยกเงินเฟ้อ 2 ประเภทออกจากกัน เงินเฟ้อที่ไม่ได้มาจากภาคการเงินเกิดจากการที่ภาคการผลิตสะดุดอย่างรุนแรง ภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว ทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับการต้องย้ายถิ่นฐานเพราะสงคราม หรือการกักตัวเพราะโควิด นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ทางการและภาษียังมีส่วนทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่ง Fed ไม่สามารถจัดการกับเงินเฟ้อที่ไม่ได้มาจากภาคการเงินได้ การขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ทำให้ปัญหาคอขวดที่ท่าเรือหมดไป
ทั้งนี้ เงินเฟ้อจากภาคการเงินเกิดจากการที่มูลค่าของเงินลดลงซึ่งมักจะเกิดจากการที่มีปริมาณเงินมากเกินไป พูดอีกอย่างก็คือ เงินเฟ้อจากภาคการเงินไม่อาจแก้ได้ด้วยการกดดัน หรือชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ แต่ต้องแก้ด้วยการสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงิน เพราะถึงที่สุดแล้วเงินก็ถูกใช้วัดมูลค่าแบบเดียวกับที่นาฬิกาใช้จับเวลาและไม้บรรทัดใช้วัดความยาว แต่ทั้ง Fed และธนาคารกลางอื่นต่างก็ไม่เคยพูดถึงเสถียรภาพของค่าเงินเลย
และสิ่งนี้ก็ทำให้เกิดจุดอ่อนข้อที่ 2 นั่นก็คือความเชื่อที่ผิดมหันต์ว่าเศรษฐกิจที่กำลังเฟื่องฟูต้องถูกฉุดให้ชะลอตัวลง บวกกับแนวคิดผิดๆ ว่า ธนาคารกลางสามารถชี้นำกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยการปั่นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหากคุณลองคิดถึงประเด็นนี้มันก็เหมือนกับการคุมค่าเช่านั่นแหละ สิ่งที่ต่างกันก็คือ สิ่งที่ถูกเช่าในกรณีนี้ไม่ใช่อะพาร์ตเมนต์แต่เป็นเงินแทน
ถึงตอนนี้เรามาถึงจุดที่รัฐบาล Trump ต้องชนกับ Fed แล้ว โดยทั้ง Powell และเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางคนอื่นๆ จะพากันออกมาเตือนว่า แผนของ Trump จะทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก
Powell พูดถึง “ความยั่งยืนทางการคลัง” ทั้งๆ ที่ตอนรอให้ Biden แต่งตั้งเขารอบ 2 กลับไม่ส่งเสียงค้านใดๆ เมื่อทำเนียบขาวและสภาคองเกรสผ่านร่างงบประมาณที่ทำให้สหรัฐฯ เกิดภาวะขาดดุลแบบทะลุโลก อย่างแรกที่ทีมงานของ Trump ควรทำก็คือ ทำให้คนเข้าใจว่าแบบจำลองของ Fed ผิดตรงไหน และทำไมเราถึงต้องเลิกใช้ Phillips Curve
เรียบเรียง : พิษณุ พรหมจรรยา
เรื่องราวอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วาระสุดท้ายของลัทธิมอนโร 2 ศตวรรษแห่งความมั่นคงของอเมริกา
